เจาะลึกเส้นทางดุษฎีนิพนธ์ 'ดร.ณัฎฐ์-ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม' ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มธ.

Home » เจาะลึกเส้นทางดุษฎีนิพนธ์ 'ดร.ณัฎฐ์-ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม' ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มธ.


เจาะลึกเส้นทางดุษฎีนิพนธ์ 'ดร.ณัฎฐ์-ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม' ปริญญาเอกกฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มธ.

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 รายงานข่าวระบุว่า จากกรณีมีข่าวบางกระแสอ้างถึงเส้นทางการศึกษากฎหมายของ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” นักกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ว่า จบปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไร ใช้เวลากี่ปีนั้น ล่าสุด ตรวจสอบพบว่า ดร.ณัฎฐ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทางวิชาการกฎหมายที่มีชื่อเสียงและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และสำเร็จการศึกษาเป็น “เนติบัณฑิตไทย” สมัย 57 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการเมือง(Ph.D.Politics) รุ่น 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ Doctor of Laws(Public Laws) รุ่น 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปทุมธานี และในสายกฎหมายมหาชน จบการศึกษาระดับปริญญาโททางด้านกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมา ศึกษาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนให้แตกฉาน จึงได้เข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกเพิ่มเติมด้วยทุนส่วนตัว ณ สำนักท่าพระจันทร์ ปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม (DJA.) รุ่น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก 1 ใบ โดยทำงานด้วยและเรียนในช่วงวันหยุดราชการ

จากการสืบค้นพบว่า ดร.ณัฎฐ์เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก (ดุษฎีนิพนธ์) เรื่อง “The Role of the Election Commission in the Administration of Justice, the Election Process for Members of the House of Representative” ชื่อดุษฎีนิพนธ์ภาษาไทย ว่า “บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้งในการอำนวยความยุติธรรมกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร”

ทั้งนี้ เล่มดุษฎีนิพนธ์ทางกฎหมายดังกล่าวเป็นการศึกษาเนื้อหาตามรัฐธรรมนูญขององค์กรจัดการเลือกตั้งในประเทศไทย เป็นการค้นคิดนวัตกรรมใหม่เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติ เป็นการคิดค้นสร้างสรรค์งานวิจัยชิ้นใหม่ทางด้านกฎหมายมหาชน โดยหน้าอนุมัติเล่มดุษฎีนิพนธ์ คณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ พบว่า คณาจารย์ระดับศาสตราจารย์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนชั้นแนวหน้าของไทย จำนวน 4 ท่าน และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญอีก 1 ท่าน ดังนี้ (1)ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ (2)ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก (3)ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วม (4)ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ กรรมการ (5)ดร.เชาวนะ ไตรมาศ กรรมการ ซึ่งสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2564

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ดร.ณัฎฐ์มีประสบการณ์ผ่านการสัมมนาวิชาการระดับชาติ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ “นิติพัฒน์-ธรรมศาสตร์” ครั้งที่ 5 ในวันที่ 9 เมษายน 2563 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยได้รับการตีพิมพ์บทความเผยแพร่ทางวิชาการ วารสารด้านนิติศาสตร์(นิด้า) และผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย 3 ท่านและได้รับอนุมัติตีพิมพ์บทความระดับชาติ วารสารวิชาการ(TCI) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว (ระบบ Thaijo)

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในระหว่างศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมาย ดร.ณัฎฐ์ได้ไปศึกษาดูงานในต่างประเทศในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งศึกษาดูงานในรัฐสภาเยอรมัน ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี ,รัฐสภาอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ, รัฐสภาสกอตแลนด์ ณ นครเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร และรัฐสภายุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยลงภาคสนามศึกษาระบบกฎหมายเลือกตั้ง องค์การจัดการเลือกตั้งต่างประเทศกับปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ในประเทศภาคพื้นยุโรป ได้แก่ ประเทศสหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี อังกฤษ สกอตแลนด์ (สหราชอาณาจักร) เนเธอแลนด์ และประเทศเบลเยี่ยม เพื่อจัดเก็บข้อมูลต่างประเทศในความรู้ใหม่ รวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาเขียนวิจัยดุษฎีนิพนธ์ทางกฎหมายมหาชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สำหรับการศึกษาปริญญาเอกทางด้านกฎหมายมหาชน ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขึ้นชื่อติดอันดับกฎหมายระดับต้นๆ ของประเทศ จะแยกระหว่างหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกับปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นการศึกษาเนื้อหากฎหมายแท้เหมือนกัน วิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาเอกเขียนดุษฎีนิพนธ์ในกระบวนการยุติธรรมต่างๆ กฎหมายมหาชนถือเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ในการเขียนวิจัยปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน ร่ำลือกันว่า มีความ “ยาก หิน โหด” ผู้เขียนวิจัย ต้องมีความอดทน ความเพียรพยายามสูง โดยมีสถิติมีผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนในสัดส่วนน้อย โดยมีตัวแปรสำคัญ ต้องใช้ระยะเวลาในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ทางกฎหมายเพราะปรมาจารย์ทางด้านนี้ หาน้อยมากในเมืองไทยและเนื้อหาเข้มข้นทางวิชาการ ซึ่งคณาจารย์แห่งนี้ ขึ้นชื่อว่า มีความโดดเด่น เข้มข้นทางด้านเนื้อหาวิชาการ โดยเฉพาะอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญ ถือเป็นปรมาจารย์ชั้นเซียนระดับแนวหน้าของประเทศ ในอดีตมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นการผสมผสานระหว่างกฎหมายกับการเมือง ยังมีความสำคัญต่อบ้านเมือง สร้างบัณฑิตทางกฎหมายและการเมืองเพื่อไปรับใช้สังคม ประเทศชาติและแผ่นดิน ตามสโลแกนที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

อีกประการหนึ่ง สำหรับปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนที่มีความโดดเด่นและเป็นที่ปรึกษาดุษฎีนิพนธ์ของ ดร.ณัฎฐ์ ได้แก่

1. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต อาจารย์ที่ปรึกษา(หลัก) ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและโฆษก กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นักกฎหมายมหาชนสายฝรั่งเศส เป็นที่ยอมรับของสังคม

2. ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ที่ปรึกษา(ร่วม) นักกฎหมายมหาชนสายเยอรมัน แห่งคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า คร่ำหวอดในวงการกฎหมายมหาชนของประเทศ

3. ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ ศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกฎหมายมหาชนสายฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง

4. ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีชื่อเสียงทางด้านกฎหมายมหาชนและกฎหมายอาญา

5. อาจารย์ ดร.เชาวนะ ไตรมาศ กรรมการ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด ดร.ณัฎฐ์ให้สัมภาษณ์สื่อเพิ่มเติมว่า ตามกระแสข่าวที่มีผู้สอบถามว่าตนว่าเรียนจบปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จริงหรือไม่ อย่างไร โดยใช้ระยะเวลาศึกษากี่ปีนั้น ขอตอบว่าปริญญาเอกใบนี้เป็นการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านกฎหมายโดยใช้ทุนส่วนตัว ในการศึกษาการอำนวยความยุติธรรมกระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายมหาชน เข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นับตั้งแต่ปี 2559 โดยเรียนคอร์สเวิร์คบรรยายโดยคณาจารย์ในกระบวนการยุติธรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศ และเขียนวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอ ก(ดุษฎีนิพนธ์) ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 6 ปีการศึกษา จบการศึกษาในภาค 2/2564 ปีการศึกษา 2564 ใช้เวลาประมาณเกือบ 7 ปี จึงสำเร็จการศึกษา คุณภาพคับแก้วแน่นอน

ดร.ณัฎฐ์ ระบุว่า ตนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียน ค้นคว้าและแก้ไขดุษฎีนิพนธ์ เนื่องจากสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ (ปิดเล่ม)ในปี 2563 แต่สอบป้องกันไม่ผ่าน โดนสับเละ แทบทุกบท ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ยกเล่ม มานั่งทบทวนว่า เราพลาดตรงไหน ต้องใช้ระยะเวลาแก้ไขอีกประมาณหนึ่งปี และสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ใหม่ในปี 2564 ถึงจะสอบผ่านโดยการแก้ไข แต่เป็นการแก้ไขมากใช้ระยะเวลาหนึ่งเกือบหนึ่งปี แก้ดุษฎีนิพนธ์กว่าจะผ่านอาจารย์ที่ปรึกษา ค่อนข้างยากเพราะเนื้อหาเยอะเกือบท้อ เพราะเขียนวิจัยกฎหมายมหาชนมีความแตกต่างตรงกันข้ามกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือทางแพ่ง และอาจารย์ที่ปรึกษาหลักกับอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม มีตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งคู่ ท่านหนึ่งสายฝรั่งเศส อีกท่านหนึ่งสายเยอรมัน แถมประธานกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ ระดับศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ และกรรมการสอบระดับศาสตราจารย์และอีกท่านหนึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายโดยตรง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการทดสอบความรู้ ความสามารถด่านสำคัญ ส่วนตัวในช่วงนั้นคิดว่า เรียนไม่จบแน่ เพราะแก้ไขมาก หมายถึงแก้ไขทั้งเล่ม ทุกบท แต่ใช้วิธีเป็นเด็กดีเชื่อฟังครูบาอาจารย์ โดยคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษา สั่งให้แก้ไขเนื้อหาและเพิ่มเติมตรงไหน จุดใด แก้ไขทุกหน้า ทำใบสรุปปะหน้าเล่มดุษฎีนิพนธ์โดยระบุให้ชัดเจนว่า สั่งแก้ประเด็นใด หน้าที่เท่าไหร่ แก้ไขแล้วหน้าที่เท่าไหร่ วรรคไหน บรรทัดใด ถึงผ่านด่านอรหันต์มาได้

ดร.ณัฎฐ์ เผยว่า มาตรฐานสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่อนข้างสูงมาก แม้จะยากตรงเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก แต่เป็นความท้าทาย สำหรับคนที่มีความเพียรพยายาม หากไม่ลดความพยายาม ปรับเปลี่ยนวิธีการ ถึงเป้าหมายแน่นอน เพราะเชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” แต่พอเรียนจบ เราเป็นศิษย์มีครู ทำให้นึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ที่ช่วยชี้แนะให้งานวิจัยครบถ้วนสมบูรณ์ประกอบกับเนื้อหาหลักจะเน้นเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือใช้อำนาจทางปกครอง มีทฤษฎีกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ จะต้องนำวิเคราะห์ โดยเขียนดุษฎีนิพนธ์ จำนวน 6 บท เนื้อหาเข้มข้นมีความหนาแน่นพอควร อาทิ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และระเบียบ กกต.ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยได้นำองค์กรจัดการเลือกตั้งในต่างประเทศตามกฎหมายต่างประเทศมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ ได้แก่ สหพันธรัฐสาธารณรัฐเยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อินเดียและประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ นำไปสู่การอภิปรายและข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ได้ลงนามหน้าปกอนุมัติดุษฎีนิพนธ์ จึงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนที่จะเสนอสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่ออนุมัติปริญญาเอกต่อไป ดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ ทรงคุณค่าทางวิชาการ สำหรับดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ ดุษฎีนิพนธ์ผ่านระบบ TU e-Thesis(Thammasat University) รหัสอ้างอิง Ref.code 25645901305044BUR คลังข้อมูลดิทัลระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และเล่มตีปกแข็งในห้องสมุดปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นคลังสมองสำหรับค้นคว้าในเชิงวิชาการต่อไป

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ปริญญาเอก Doctor of Philosophy in Justice Administration(DJA.)ได้รับการรับรองในการสอบอัยการผู้ช่วยสนามจิ๋ว จากคณะกรรมการอัยการ (กอ.) แล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ