เคลียร์ให้ชัด! "ชัชชาติ" สางปัญหาส่งตัวผู้ป่วย "บัตรทอง" ใบเดิมยังใช้ได้จนหมดอายุ

Home » เคลียร์ให้ชัด! "ชัชชาติ" สางปัญหาส่งตัวผู้ป่วย "บัตรทอง" ใบเดิมยังใช้ได้จนหมดอายุ
เคลียร์ให้ชัด! "ชัชชาติ" สางปัญหาส่งตัวผู้ป่วย "บัตรทอง" ใบเดิมยังใช้ได้จนหมดอายุ

กทม.สางปัญหาส่งตัวผู้ป่วยบัตรทอง ให้ใช้ใบส่งตัวเดิมจนหมดอายุ จ่ายไม่เกิน 800 บาท/ครั้ง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงประเด็นการจัดการระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 67 หลังปรับการจ่ายเงินทำให้มีผลต่อการรับบริการ กรณีที่การรักษาของผู้ป่วยเกินศักยภาพคลินิก คลินิกจะออกใบส่งต่อให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลตามสิทธิ หากผู้ป่วยมีใบนัดรักษาต่อเนื่อง สามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลรับส่งต่อ โดยอนุโลมให้ใช้ OP Anywhere ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ประชาชน คลินิก และหน่วยบริการยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการหารือร่วมกันระหว่าง กทม. กับ สปสช. โดยภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดการระบบบริการสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา อาจจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเรื่องใบส่งตัวจากหน่วยปฐมภูมิไปยังโรงพยาบาลต่างๆ และมีประเด็นสงสัย เช่น โรงพยาบาลอาจต้องการให้ทำใบส่งตัวใหม่ หรือประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ จึงมาขอทำใบส่งตัวใหม่จากทางศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของกทม. ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยทางสปสช. ให้แนวทางดำเนินการว่า ใบส่งตัวที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว ถือว่าให้ใช้ได้ตามปกติจนกระทั่งหมดอายุ ซึ่งกทม.ก็พร้อมที่จะดำเนินการตามแนวทาง ส่วนคลินิก หรือโรงพยาบาลเองก็คงต้องเป็นแนวทางปฏิบัติที่ สปสช. จะไปเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยในอนาคต เรื่องระบบส่งตัวจะมีจากคลินิกส่งตัวให้ ศบส. หรือ ศบส. ส่งตัวให้โรงพยาบาล ก็จะเป็นระบบที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ สปสช.กำหนด

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามแนวทางดังกล่าว หมายความว่าจากนี้เป็นต้นไปต้องเริ่มจากหน่วยปฐมภูมิ คือ คลินิก หรือศบส.ที่ตนเองลงทะเบียนอยู่ จากนั้นการส่งต่อก็จะเป็นไปตามขั้นตอน หากคลินิกเห็นว่ารับมือไม่ไหว ก็ส่งไปยัง ศบส. หรือหน่วยระดับสอง หากไม่ไหวก็ส่งต่อไปหน่วยระดับสาม คือโรงพยาบาล เป็นขั้นตอนที่มีการคัดกรองเพื่อลดภาระที่จะไปสู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องไปโรงพยาบาลหมด ทำให้โรงพยาบาลคิวยาว และแออัด

“ถ้าเราสามารถทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่น เข้มแข็ง ศบส. เข้มแข็ง จะมีด่านที่ปะทะเป็นด่านๆ ไป เป็นขั้นตอนตามหลักสากล แต่สุดท้ายแล้ว ทุกหน่วยก็ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเข้มแข็ง หน้าที่ของ ศบส.เอง ต้องพยายามช่วยดูแลคลินิกให้เข้มแข็งด้วย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่เรามีปัญหาเรื่องใบส่งตัวเดิมที่เคยส่งตัวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว อาจจะเกิดความสับสนเข้าใจไม่ตรงกัน ต้องมีการเรียกกลับมารับใบส่งตัว ในส่วนของสังกัดกรุงเทพมหานครทั้งหมดผู้ว่าฯ กทม. ได้มีการสั่งการว่าให้ดำเนินการจนกว่าใบส่งตัวจะหมดอายุ เชื่อว่าตรงนี้จะแก้ปัญหาไปได้เยอะ

ส่วนสปสช. เองก็รับปากผู้ว่าฯ กทม. ว่า จะซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยบริการที่รับส่งต่อ ซึ่งบางครั้งประชาชนอาจจะกังวลว่าถ้าไม่มีใบส่งต่อแล้วใครจะมาดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ทางเราจะรับนโยบายผู้ว่าฯ กทม. ไปซักซ้อมตรงนี้กับหน่วยอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกทม. รวมถึงนโยบายในอนาคตที่ใบส่งตัวควรใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ทั้งนี้ สำหรับกติกาการเงิน เรามีความชัดเจนแล้วว่าเงินส่วนแรกที่จะจ่าย จะเปลี่ยนเป็นจ่ายในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวประชากรที่ขึ้นทะเบียนในเครือข่าย เพราะฉะนั้นเครือข่ายจะมีทั้งศบส. และคลินิก และมีการส่งต่อไปก็จะตามจ่ายในส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด กำหนดครั้งละไม่เกิน 800 บาท

ส่วนกรณีถ้าประชาชนไม่ได้มีใบส่งตัวไป ในส่วนของโรงพยาบาลที่รับส่งต่อจะมีกองทุนอีกกองหนึ่งตามไปจ่าย ซึ่งได้มีการซักซ้อมกับหน่วยบริการให้ความมั่นใจว่าในแง่กลไกการเงินมีการดูในทุกระดับ แต่ต้องเรียนว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเดินทางไปรับบริการยังโรงพยาบาลใหญ่โดยที่ไม่มีระบบอะไร ยังคงย้ำตรงนี้ เพราะเป็นไปตามกฎหมายพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ