เข้าใจผู้ป่วย "แอสเพอร์เกอร์" ผ่านซีรีส์ซึ้งๆ Move to Heaven

Home » เข้าใจผู้ป่วย "แอสเพอร์เกอร์" ผ่านซีรีส์ซึ้งๆ Move to Heaven
เข้าใจผู้ป่วย "แอสเพอร์เกอร์" ผ่านซีรีส์ซึ้งๆ Move to Heaven

ทำความเข้าใจผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ผ่านมุมมองของจิตแพทย์ จากเฟซบุ๊กเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา โดย “หมอมินบานเย็น” พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่จะทำให้เราเข้าใจอาการของผู้ป่วย ผ่าน Move to Heaven ซีรีส์เกาหลีสุดซึ้งจาก Netflix

  • Move to Heaven พนักงานเก็บกวาดที่เกิดเหตุหลังความตาย ซีรีส์ปาดน้ำตาล่าสุดบน Netflix

Move to Heaven เป็นชื่อของกิจการเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคุณพ่อที่ทำงานร่วมกันกับลูกชายเพียง 2 คน งานที่ทำนั้นก็เป็นงานที่มีความเฉพาะอย่างยิ่ง คือการ “เก็บและจัดการกับของในห้องหรือบ้านของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว” ซึ่งบางครั้งผู้ที่ตายไปอาจไม่ได้มีญาติพี่น้องหรือใครที่สะดวกทำเรื่องนี้

ดูเผินๆ คล้ายกับงานทำความสะอาด แต่จริงๆ มันมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น 

สิ่งที่พ่อลูกทำ ไม่ใช่เพียงการเก็บของคนตาย แต่เป็นการ “จัดการสิ่งสำคัญในชีวิตของผู้ตาย” บางเรื่องที่ไม่มีคนใส่ใจจะทำ พวกเขาจะช่วยทำให้สำเร็จราบรื่นเป็นครั้งสุดท้าย คนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตอาจไม่ได้เตรียมตัวหรือรู้ล่วงหน้าก่อนในวันที่จากไป พ่อลูกได้ทำงานนี้ด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง

movetoheaven_05 

บทความวันนี้ขอพูดเกี่ยวกับเรื่องของตัวละคร “ฮันกือรู” ลูกชายวัย 20 ซึ่งมีภาวะของ Autism Spectrum Disorder (หรือถ้าเป็นเกณฑ์การวินิฉัยในอดีต จะเรียกว่า Asperger’s disorder

ตัวละคร กือรู แสดงให้เห็นอาการของโรคที่ชัดเจน นักแสดงที่สวมบทบาทแสดงได้ดีมาก

“ผมเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ครับ ผมมีปัญหาในการทำความเข้าใจอารมณ์ของคน และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมครับ” กือรูพูดในตอนหนึ่งเกี่ยวกับตัวเขา

อาจมีคนถามว่า Autism spectrum disorder (ซึ่ง Asperger’s disorder ก็เป็นสเป็คตรัมหนึ่งโรคนี้) คืออะไรกันแน่ บางคนเข้าใจว่าเป็นภาวะเดียวกับปัญญาอ่อนหรือโรคสมาธิสั้น แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นคนละโรคกัน 

เด็กที่เป็นออทิซึมสเป็คตรัมไม่จำเป็นต้องเป็นปัญญาอ่อนหรือต้องสมาธิสั้นทุกราย แม้ส่วนหนึ่งอาจจะมีหลายๆ ภาวะร่วมกันได้

ขอเล่าในส่วนความรู้ทางการแพทย์แบบเข้าใจง่ายๆ เกี่ยวกับโรคนี้ โดยอ้างถึงตัวละคร กือรู ไปด้วย

โรคออทิซึมสเป็คตรัม-ASD เป็นความบกพร่องของพัฒนาการที่มีความผิดปกติหลักๆ 2 ด้าน คือ 

1) พัฒนาการทางสังคมและการสื่อสารที่ผิดปกติ

2) มีความผิดปกติด้านพฤติกรรมแบบซ้ำๆ หรือยึดติด 

โดยอาจจะมีความผิดปกติเรื่องพัฒนาการทางภาษาล่าช้าร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยความผิดปกติจะเห็นตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ

movetoheaven_07

อย่างกือรู เราจะเห็นอาการแสดงต่างๆ ต่อไปนี้

  1. ความผิดปกติในเรื่องการสื่อสาร

ในเด็กเล็กๆ ที่เป็นออทิสติกมักมาพบแพทย์เพราะพูดช้า สำหรับแพทย์ หากเด็กไม่พูดเป็นคำที่มีความหมายเมื่ออายุ 2 ปี ถือว่าผิดปกติ และหากพูดได้แล้ว ก็จะมีลักษณะการพูดที่แตกต่างออกไป

เราจะเห็นว่าเวลากือรูพูดบางครั้งเป็นการพูดโดยไม่มีจุดหมายโต้ตอบกับคนอื่น อยากพูดอะไรก็พูด พูดในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ไม่สนใจว่าคนอื่นจะอยากฟังหรือไม่ หรือคนอื่นจะคิดอย่างไร  เช่น กือรูชอบปลามาก รู้จักปลาทุกสายพันธ์ บางทีจะพูดเกี่ยวกับปลา ไม่ได้สนใจว่าคนที่พูดด้วยจะรู้สึกอย่างไร 

มีอาการพูดบางคำหรือบางประโยคซ้ำๆ พูดทวนตามคนอื่น พูดทวนคำถามแทนตอบคำถาม พูดภาษาแปลกๆของตนเองที่คนอื่นฟังไม่เข้าใจ อย่างกือรูจะพูดซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องปลา โดยเฉพาะเวลาที่เขามีความกังวลสูง

  1. มีปัญหาการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

มักมีประวัติว่า ตอนเด็กเล็กๆ ไม่ค่อยมองตามสิ่งของ ไม่ค่อยยิ้มเมื่อเห็นหน้าคนที่ใกล้ชิด ไม่ค่อยสบตา บางทีถ้าเป็นมาก เรียกชื่อก็ไม่สนใจ เหมือนที่เราเห็นกือรูในรูปถ่าย เขาจะไม่มองกล้อง เวลาคุยกับคนอื่น ก็ไม่มองหน้าสบตา

ไม่ค่อยสนเวลาคนชี้ชวนให้ดูสิ่งต่างๆ นอกจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ และไม่ค่อยมีสีหน้าแสดงอารมณ์ตนเอง หรือแสดงอย่างไม่สมเหตุผล มากหรือน้อยผิดปกติ เหมือนที่กือรูเป็น คนดูจะเห็นว่าเขาแสดงสีหน้าอย่างเดียวแทบจะตลอด ไม่ค่อยเห็นเขามีรอยยิ้ม หัวเราะ 

นอกจากนั้นจะไม่สามารถคิดในมุมมองคนอื่นได้ ตรงนี้ไม่ได้เป็นความตั้งใจ แต่เขาไม่เข้าใจจริงๆ คล้ายๆว่า จะเดาอารมณ์คนอื่นไม่ได้ เช่น คนทำหน้าร้องไห้คือ กำลังเสียใจ เขาอาจจะไม่เข้าใจน้ำเสียง สีหน้าท่าทาง ว่ามันหมายความว่าอะไร 

ทำให้คนอื่นจะมองว่าเขาไม่เข้าใจความรู้สึกคนอื่น แต่จริงๆ มันเกิดเพราะธรรมชาติของคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่เพราะนิสัยไม่ดีหรืออะไร

  1. เวลาทำอะไรต้องเหมือนๆ เดิม

ปรับเปลี่ยนยาก ผูกพันยึดติดกับบางสิ่งบางเรื่องมากเป็นพิเศษ  รู้สึกไวกับสัมผัสบางอย่างแบบแปลกๆ เช่น เสียง แสง บางทีที่ควรจะรู้สึกก็ดูเหมือนไม่รู้สึก

กือรูจะมีความยึดติดกับของเดิมๆ กิจวัตรเดิมๆ ปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น เขาจะต้องกินน้ำจากแก้วอันนี้เท่านั้น นอนห้องนอนนี้ เวลากินไข่ดาวถ้าไข่แดงแตก ไม่เหมือนที่เคยกิน จะรู้สึกไม่สบายใจ

เด็กที่เป็นออทิซึมบางคนก็จะมีความสนใจที่เฉพาะ เช่น สนใจเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์บางอย่าง ซึ่งดูเป็นการหมกมุ่นอย่างมาก เช่น เด็กบางคนจะสนใจเรื่องเครื่องบินมากกว่าปกติ(อย่างหมกมุ่น) เช่น จำยี่ห้อเครื่องบินได้ หรือรู้จักทุกรายละเอียดของเครื่องบิน เราจะเห็นว่ากือรูมีความสนใจที่เฉพาะมาก เกี่ยวกับพันธุ์ปลาต่างๆ และรู้รายละเอียดในเชิงลึกอย่างมาก

movetoheaven_09

อาการอื่นๆ ที่พบได้คือ เด็กบางคนชอบเรียงวัตถุเป็นแถวตรงๆ อาจชอบหรือหมกมุ่นของบางอย่างที่ดูแปลก เช่น จ้องวัตถุหมุนได้ เช่น จ้องพัดลม 

เล่นของเล่นไม่เหมือนคนอื่นเล่นกัน เช่น บางคนเล่นรถ แต่จะเอาแต่หมุนล้อรถของเล่น สนใจแต่ล้อรถ (แทนที่จะเอารถมาไถๆที่พื้นเหมือนเด็กอื่นๆ)

เด็กบางคนมีอาการไวต่อประสาทสัมผัสบางอย่างน้อยไปหรือมากไป เช่น กลัวเสียงบางอย่าง กลัวอะไรที่เป็นขนๆ กลัวทราย หรือไม่ค่อยกลัวความเจ็บปวด

บางคนมีลักษณะเคลื่อนไหวผิดปกติซ้ำๆ เช่น เดินเขย่งปลายเท่า สะบัดมือ เล่นมือตัวเอง 

สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่มีภาวะนี้ส่วนหนึ่ง เช่น คิมกือรู (Autism Spectrum Disorder แบบ High functioning/ Asperger’s disorder) สามารถเรียนหนังสือ ทำงานได้ แต่เมื่อเติบโตขึ้น ก็อาจมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต เข้ากับคนรอบข้างได้ยาก ด้วยความที่มีปัญหาด้านสังคมในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การใช้ชีวิตต่อไปจะต้องอาศัยความเข้าใจ ช่วยเหลือ พัฒนา ฝึกฝน และแน่นอนว่าความเข้าใจของคนรอบข้างเป็นสิ่งที่สำคัญ จะนำมาซึ่งความเข้าใจในตัวเองที่มากขึ้นได้

คนในสังคมมักมองคนที่เป็นออทิซึมว่าเขาแปลกแยกแตกต่าง แต่จริงๆแล้ว ทุกคนในโลก แม้แต่เราเองก็มีความแตกต่างกันไปเหมือนๆ กันนั่นแหละ และจริงๆ ในความแตกต่างนั้นก็อาจมีส่วนดีๆ ที่งดงามอยู่ หากคนรอบข้างพร้อมจะให้โอกาส ก็น่าจะมองเห็นและสัมผัสได้

เช่น กือรู ถึงจากไม่ความไม่ปกติบางเรื่อง แต่เขาเป็นเด็กดี ตั้งใจ ขยันทำงานช่วยพ่อ และแม้จะไม่เข้าใจคนอื่นๆ นัก เขาก็มีความใส่ใจรายละเอียด มีน้ำใจและชอบช่วยเหลือ

แม้จะแตกต่างจากเด็กๆ ทั่วไป มีภาวะที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกคนอื่นๆ ได้ยาก แต่กือรูก็มีความใส่ใจคนรอบข้าง เพราะคิมกือรูมีพ่อที่เข้าใจ เลี้ยงดูเขามาอย่างดี และมีคนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือดูแล

สำหรับเด็กคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเด็กคนไหนๆ ก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ถ้าพ่อแม่อยากให้เขาเติบโตมาเป็นคนที่เห็นใจ เอาใจใส่คนอื่นได้ พ่อแม่จะต้องทำให้เขาสัมผัสสิ่งนั้นก่อน กล่าวคือ พ่อแม่ต้องยอมรับและเข้าใจในตัวตนของลูก มีความเมตตา เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ 

ตรงนั้นจะทำให้เด็กมองเห็นและรับรู้ถึงความใส่ใจ รู้สึกว่ามีคนที่รักและเห็นคุณค่าในตัวเขา 

เขาก็จะมีแนวโน้มเติบโตมาเป็นเป็นคนที่รักและเห็นคุณค่าในตัวเอง พร้อมที่จะใส่ใจ เห็นอกเห็นใจทั้งตัวเองและคนอื่นๆ 

แม้ว่าจะเป็นเด็กที่เป็นออทิซึม อาจจะไม่ง่ายนัก มีความผิดปกติทางพัฒนาการบางอย่าง แต่หากมีความพยายาม อย่างที่เราเรียนรู้จากตัวละครกือรู ที่แม้จะไม่เข้าใจนัก แต่เขาพยายามที่จะใส่ใจ

เรื่องของความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่กันและกัน ถ้าคนในสังคมมีคุณสมบัตินี้มันคงทำให้สังคมของเราเกิดปัญหาต่างๆ น้อยลงมาก และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเราคิดถึงคนอื่นมากขึ้น ใส่ใจคนรอบข้างนั้น เกิดจากการเลี้ยงดูเป็นสำคัญ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ