นครราชสีมา พ่อเฒ่าชาวบ้านโนนทอง ยึดอาชีพขุด เรืออีโปง ช่วงเข้าหน้าฝน ยอดสั่งจองพุ่ง สร้างรายให้ ชาวบ้าน อ.โนนสูง ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท ระบุ หนึ่งอาชีพนี้นับวันยิ่งใกล้สาบสูญ
หนึ่งในอาชีพ ที่นับวันจะมีคนทำน้อยลงทุกที นั่นคือ อาชีพทำเรืออีโปง หรือ เรือโปงตาล ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกกันติดปาก ที่บ้านโนนทอง ม.2 ต.ลำมูล อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา
นายสันติ นิลพิมาย อายุ 60 ปี ชาวบ้านโนนทอง เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนพื้นที่ ต.ลำมูล อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดลำน้ำมูล มีชาวบ้านประกอบอาชีพทำเรืออีโปงขายเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนใช้เรือพลาสติกมากขึ้น ประกอบกับต้นตาลที่เป็นวัสดุหลักในการทำเรืออีโปงในพื้นที่มีน้อยลง
ทำให้ชาวบ้านหันไปทำอาชีพอื่นแทน ในหมู่บ้านเหลือตนเพียงคนเดียวที่ยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่ ควบคู่ไปกับการทำการเกษตร ปลูกพริก ปลูกข้าว และตั้งใจจะอนุรักษ์อาชีพนี้ไว้สืบทอดต่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และทำต่อ
นายสันติ เล่าให้ฟังอีกว่า การทำเรืออีโปงนั้น เป็นงานอดิเรก แต่รายได้ดีมาก ตนเองยึดอาชีพนี้มานานกว่า 20 ปี สืบต่อจากพ่อ หากสามารถหาต้นตาลมาทำเรืออีโปงได้ต่อเนื่อง จะสามารถสร้างรายได้ ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เลยทีเดียว
โดยเฉพาะช่วงนี้ ก่อนเข้าช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนพฤษภาคม สามารถส่งเรืออีโปงตามออเดอร์ลูกค้า ได้แล้ว 10 ลำ ยังคงค้างออเดอร์ลูกค้า อีก 5 ลำ ที่ยังไม่สามารถหาต้นตาลมาทำให้ลูกค้าได้ โดยจะจำหน่ายในราคาลำละ 3,000- 4,500 บาท แล้วแต่ขนาดของเรือ
การทำจะใช้เวลาในการ ขุดต้นตาล 1 วัน และ ทำเรือ 3 วัน รวม 4 วัน โดยต้นตาล 1 ต้น ชาวบ้านเจ้าของที่จะขายให้กับช่างทำเรือ ในราคาต้นละ 500-1,000 บาท ซึ่ง 1 ต้น จะสามารถทำเรือได้ 2 ลำ
สำหรับขั้นตอนในการทำนั้น หลังจากขุดหรือโค่นต้นตาลมาได้แล้ว จะทำการผ่าฉีกต้นตาลออกเป็น 2 ซีก หลังจากนั้นจะทำการใช้เสียม หรือมีด ขุด หรือ จก เนื้อตาลออก เพื่อทำเป็นเรือ ก่อนจะทำไปเผาไฟ กำจัดเปลือกและเสี้ยน จากนั้นจะใช้เครื่องเจียรมือไฟฟ้า ขัดพื้นผิวเรือให้เรียบอีกครั้ง
ซึ่งขั้นตอนแต่ละขั้นถือว่าจะต้องมีความชำนาญในการทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการคัดเลือกต้นตาลมาทำเรืออีโปง ไม่ใช่ว่าทุกต้นจะสามารถนำมาทำเรือได้ ต้องเลือกต้นตาลที่ ใหญ่ ยาว ลำต้นตรง ไม่คด ไม่งอ ถึงจะเป็นเรืออีโปงที่ใช้งานได้ดี
ทั้งนี้ในช่วงหน้าฝนมีชาวบ้านในพื้นที่สั่งจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนหาต้นตาลทำไม่ทัน ชาวบ้านในพื้นที่จะนิยมใช้เรืออีโปง มากกว่าเรือพลาสติก เนื่องจาก พายง่ายกว่า ชาวบ้านจะนำไปใช้จับปลา เก็บเกี่ยวผลผลิต รวมทั้งใช้สัญจรไปมาได้ง่าย หากพื้นที่ถูกน้ำท่วม นายสันติ กล่าว