ตรัง เกษตรกร ตำบลแหลมสอม อำเภอปะเหลียน ใช้พื้นที่ว่างสวนปาล์มน้ำมัน ทำบ่อเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง หรือหอยโข่งเหลือง คิดริเริ่มตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9
บ้านเลขที่ 92/3 หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสอม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง บ้าน นายภักดี คงวัน อายุ 52 ปี เกษตรกรที่ทำอาชีพสวนปาล์มน้ำมันและเกษตรผสมผสาน ทั้งนี้นายภักดี คงวัน เกษตรกรได้มีความสนใจในการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทองหรือหอยโข่งเหลือง เพื่อเป็นอาชีพเลริมและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19
นายภักดี เผยว่า ตนดูรายการทางโทรทัศน์ เห็นการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง หรือหอยโข่งเหลือง จึงต้องการเลี้ยง เนื่องจากการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก ใช้พื้นที่ไม่มาก จึงไปซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยเชอรี่สีทอง อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งมีเกษตรกรเลี้ยงอยู่เพียงรายเดียว โดยใช้งบลงทุนซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หอยเชอรี่สีทอง 300 คู่ และบ่อสำเร็จรูป 10 บ่อ รวมเป็นเงิน 2 หมื่นบาท
โดยเริ่มเลี้ยงตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เลี้ยงประมาณ 2 เดือนครึ่ง สามารถจับขายได้ ซึ่งราคาขายกิโลกรัมละ 150-180 บาท ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ขายคู่ละ 20-300 บาท มีชาวบ้านให้ความสนใจมาซื้อหอยเชอรี่สีทองกันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับขั้นตอนการเลี้ยง จะเลี้ยงในบ่อสำเร็จรูป เปลี่ยนถ่ายน้ำ 3 วันต่อ 1 ครั้ง ส่วนอาหารหอยใช้ใบชะพูล ใบหมอน ใบตำลึง ส่วนแรงบันดาลใจในการเลี้ยงหอยโข่งเหลือง เกิดจากความคิดริเริ่มที่จะใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ในหลวงรัชกาลที่ 9 และมีความคิดในการแปรรูปหอยเชอรี่สีทอง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
หากเกษตรมีความสนใจ หรือประชาชนต้องการซื้อหอยเชอรี่สีทอง หรือหอยโข่งเหลือง สามารรถเดินทางมาศึกษาดูงานได้ที่บ้านเลขที่ 92/3 หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสอม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
นายสุภัทธ คงด้วง เกษตรอำเภอปะเหลียน มอบหมาย นางสาวปราณี แข็งแรง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการและนางบุหลัน ทักษิณาวานิช นักวิชาการส่งเสรมการเกษตรปฏิบัติการ มาให้ความรู้กับเกษตรกร สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียน
พร้อมกล่าวว่า นายภักดี คงวัน (สมาชิกวิสาหกิจชุมชน) พาชมกิจกรรมการเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง หรือหอยโข่งเหลือง เป็นเกษตรหัวก้าวหน้า มีความคิดริเริ่มในการทำการเกษตร ใช้พื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมัน 200 ตารางเมตร สร้างโรงเรือนมุงด้วยผ้าใบพลาสติก สูง 3-4 เมตร ทำบ่อพลาสติก 10 บ่อ
สำหรับหอยเชอรี่สีทอง นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่เลี้ยงง่าย อัตราการตายน้อย กินพืชผัก เช่น ผักบุ้ง ใบตำลึง ใบหม่อน ชะพลู โตเร็ว เนื้อ กรุบๆ นุ่ม หวานมัน ไม่เหนียว ไม่มีกลิ่นคาว รสชาติคล้ายหมึก และได้ชื่อว่าเป็นหอยเป่าฮื้อน้ำจืด สามารถนำไปทำเมนู ยำ ต้ม ผัด แกง ทอดหรือลวกจิ้มได้
นอกจากนี้วิสาหกิจชุมชนนาโปหนับ มีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ กิจกรรมด้านปศุสัตว์ เลี้ยงแพะ เลี้ยงโค เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ กิจกรรมด้านประมง เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยเชอรี่ เลี้ยงกบ กิจกรรมด้านการเกษตร ปลูกข้าว ปลูกผัก