อ.จุฬาฯ แนะวิธีจัดการ "แคดเมียม" ธาตุที่กำจัดไม่ได้

Home » อ.จุฬาฯ แนะวิธีจัดการ "แคดเมียม" ธาตุที่กำจัดไม่ได้
อ.จุฬาฯ แนะวิธีจัดการ "แคดเมียม" ธาตุที่กำจัดไม่ได้

จากกรณีที่พบโรงงานซุกซ่อนกากแคดเมียมและกากสังกะสีนับพันถุง จำนวนกว่าหมื่นตัน ในจังหวัดสมุทรสาคร อาจารย์ ดร. ธีระยุทธ เพ็งสะอาด รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า แคดเมียม (Cadmium) เป็นธาตุโลหะหนักที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีสูตรทางเคมีคือ Cd โดยปัจจุบันมนุษย์นำมาใช้ประโยชน์หลัก ๆ ได้แก่ การใช้เป็นโลหะผสมรวมถึงเคลือบผิวโลหะชนิดอื่น เพื่อเพิ่มคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและทางเคมี และการใช้ผลิตขั้วแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้ เป็นต้น

ซึ่งแคดเมียมที่พบอยู่ในโรงงานของจังหวัดสมุทรสาครนั้น ดร. ธีระยุทธ ระบุว่า น่าจะมาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งคาดว่าเป็นเหมืองแร่สังกะสีในจังหวัดตากที่มีการนำเอาแร่สังกะสีขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ แต่การนำแร่สังกะสีขึ้นมานั้นมีแคดเมียมติดมาด้วย แต่เนื่องจากว่าการทำอุตสาหกรรมเมืองแร่สังกะสีในเวลานั้น อาจไม่มีความต้องการใช้แคดเมียม จึงทำให้เหลือหางแร่แคดเมียมทิ้งเป็นของเสียจำนวนมาก นำมาสู่การส่งต่อของเสียเหล่านี้ให้กับอุตสาหกรรมอื่น เช่นเดียวกันกับโรงงานที่ตรวจพบในจังหวัดสมุทรสาคร แม้ว่าแคดเมียมจะเป็นธาตุที่สามารถพบเจอได้ทั่วไปในธรรมชาติ แต่ตามปกติจะมีค่าที่ต่ำ อันตรายของแคดเมียม จะรุนแรงมากเมื่อมีความเข้มข้นหรือปริมาณที่สูง เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้เกิดโทษอย่างรุนแรงต่อร่างกาย เช่น มีพิษต่อตับและไต ทำให้กระดูกคดงอและมีอาการปวดที่กระดูก และหากสูดดม จะมีผลโดยตรงต่อปอดและระบบทางเดินหายใจ

ส่วนวิธีการจัดการกับแคดเมียมที่ตรวจพบอยู่ในโรงงานขณะนี้ อาจารย์ ดร. ธีระยุทธ เพ็งสะอาด แนะนำว่า ต้องลดการกระจายของแคดเมียม อยู่ในที่ที่ไม่มีน้ำ และอากาศนิ่ง คือไม่มีลมแรงที่จะทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย หากจะทำการขนย้าย ต้องทำการขนย้ายให้มิดชิดไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจาย และด้วยความที่แคดเมียมเป็นธาตุที่ไม่สามารถกำจัดได้ จึงมีแนวทางในการจัดการอยู่สองแบบคือ

แบบที่ 1 ขนย้ายอย่างมิดชิดกลับไปเก็บในบ่อทิ้งแร่ที่เหมืองแร่ที่เป็นที่มา ทำการฝังกลบ ที่ถูกควบคุมมาตรฐานการกระจายทั้งทางน้ำและทางอากาศ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียทางด้านสุขภาพต่อประชาชน รวมถึงสิ่งแวดล้อม

แบบที่ 2 นำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตเป็นโลหะอย่างถูกวิธี เนื่องจากของเสียเหล่านี้ ประกอบด้วยธาตุโลหะหลายชนิด เช่น สังกะสี ตะกั่ว ทองแดง รวมถึงแคดเมียม ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หากมีการควบคุมในการขนย้ายและจัดการ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม โดยการจัดการเหล่านี้ควรดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และถูกต้องตามกฏหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ