‘อุโมงค์ขุนตาน’ สิ่งก่อสร้างที่มาจากความทุ่มเทและความสามารถด้านวิศวกรรมอันน่าทึ่งของมนุษย์ในอดีต นำโดยนายช่างชาวเยอรมันนามว่า มร.เอมิล ไฮเซน โฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งผลงานชิ้นโบแดงนับเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ของภาคเหนือ ด้วยการฟันฝ่าอุปสรรคของภูมิประเทศที่ทุรกันดาร และเต็มไปด้วยโรคภัยในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นไข้มาลาเรีย ไปจนถึงอันตรายจาก “เสือ” !
หลังจากใช้เวลาสร้างนานถึง 11 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2450 – 2461 โดยมีระยะทางประมาณ 1.3 กิโลเมตร อุโมงค์ขุนตานจึงครองตำแหน่งอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดของประเทศมาได้ยาวนานนับร้อยปี จวบจนปัจจุบัน (ในปี 2564)
แต่ทว่าสถิติที่ยาวนานมานับศตวรรษ กำลังจะถูกทำลายลงในปี 2565 เมื่อโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ กำลังจะคว้าแชมป์อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยความยาวถึง 5.85 กม. และยังมีอุโมงค์ระหว่างสถานีคลองไผ่ กับสถานีคลองขนานจิตร ที่มีความยาว 1.4 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของประวัติศาสตร์การสร้างอันน่าจดจำ รวมทั้งการเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว ‘อุโมงค์ขุนตาน’ ก็ยังครองความโดดเด่น ด้วยเป็นพื้นที่เชื่อมโยงไปสู่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ซึ่งช่วยส่งเสริมกันและกันให้มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่ซ้ำใคร เพราะเป็นอุทยานทางธรรมชาติที่สามารถเดินทางมาได้โดยรถไฟ จากต้นทางกรุงเทพฯ ผ่านจังหวัดลำปาง ลอดเข้าสู่อุโมงค์ใต้ภูเขาระยะทางยาวกว่า 1.3 กิโลเมตร ไปยังจุดหมายปลายทางที่สถานีขุนตาน จังหวัดลำพูน ซึ่งนับเป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
อุโมงค์ขุนตาน
ระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน