ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ป่วยอัมพาตที่กระดูกสันหลังหักสะบั้นขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง สามารถกลับมาเดินได้อีกครั้งเป็นรายแรกของโลก หลังรับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์เพิ่มความแรงของสัญญาณประสาทไว้ภายในร่างกาย
รายงานวิจัยว่าด้วยกรณีดังกล่าว ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Medicine ฉบับล่าสุด โดยระบุว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธรัฐสวิส (EPFL) ได้ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าแบบฝังติดกับกระดูกสันหลัง รักษานายมิเชล ร็อกคาติ ชาวอิตาลี ซึ่งประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เมื่อ 5 ปีก่อน โดยเหตุการณ์นี้ทำให้กระดูกสันหลังของเขาหักสะบั้นและขาทั้งสองข้างไร้ความรู้สึก
ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีผู้ป่วยอัมพาตที่กระดูกสันหลังเสียหายอย่างหนักในระดับดังกล่าว สามารถกลับมาเดินเหินได้อีกครั้งแม้แต่คนเดียว ทำให้นายมิเชลบอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า เทคโนโลยีใหม่นี้เป็นเสมือนของขวัญสำหรับตัวเขาโดยเฉพาะ
“ผมลุกขึ้นยืน เดินไปได้ทุกแห่งตามใจต้องการ จะเดินขึ้นลงบันไดก็ได้ ใช้ชีวิตได้แบบเกือบจะเป็นปกติแล้ว” มิเชลกล่าว
ตามปกติแล้วสมองจะส่งสัญญาณประสาทซึ่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปที่กล้ามเนื้อขาหากต้องการก้าวเดิน แต่ผู้ป่วยอัมพาตซึ่งเส้นประสาทในกระดูกสันหลังเสียหาย จะมีสัญญาณประสาทอ่อนลงและเดินทางไปไม่ถึงกล้ามเนื้อขา จนทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ที่ฝังติดกับกระดูกสันหลังจะช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณประสาท ทำให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้
นอกจากความช่วยเหลือของเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว มิเชลยังมีความมุ่งมั่นที่จะฟื้นตัวเป็นปกติให้ได้ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล “ผมเคยวิ่ง ชกมวย และเข้ายิมฝึกฝนร่างกายมาโดยตลอด แม้หลังประสบอุบัติเหตุผมจะไม่ได้ทำในสิ่งที่รักอีกต่อไป แต่ผมก็ไม่ปล่อยให้ตัวเองหดหู่ซึมเศร้า ผมไม่เคยหยุดการรักษาฟื้นฟูเลย เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้”
การฟื้นตัวอย่างเหลือเชื่อของมิเชล สร้างความประหลาดใจให้กับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในวงการศัลยกรรมประสาทเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่เคยมีกรณีการฝังขั้วไฟฟ้าเข้าในเส้นใยประสาทของกระดูกสันหลัง ที่จะประสบความสำเร็จในระดับนี้มาก่อน
ดร.นพ. ราม หริหรัณ ผู้แทนสมาคมแพทย์และผู้ป่วยที่กระดูกสันหลังเสียหายของอังกฤษ แสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยว่า “สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่เคยมีการฝังอุปกรณ์ที่ทำให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้ขนาดนี้ แถมยังช่วยปรับปรุงการทรงตัวจนยืนและเดินได้ด้วย”
อย่างไรก็ตามทีมผู้วิจัยกล่าวเตือนว่า แม้เครื่องเพิ่มความแรงของสัญญาณประสาทจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัมพาตบางคนดีขึ้น แต่อุปกรณ์ดังกล่าวยังคงมีการทำงานที่ซับซ้อนเกินไป จนยังไม่สามารถจะนำไปรักษาผู้ป่วยอัมพาตทั่วไป หรือสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ในขณะนี้ ด้านดร.นพ.หริหรัณ ก็กล่าวเน้นย้ำว่า จะต้องมีการทดสอบกับผู้ป่วยในวงกว้างเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจริงในระยะยาว
ขณะนี้มีผู้ป่วยอัมพาตจำนวน 9 คนจากทั่วโลก ที่ได้รับการผ่าตัดฝังอุปกรณ์เพิ่มความแรงสัญญาณประสาทของ EPFL แต่ในจำนวนนี้ยังไม่มีผู้ใดใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อก้าวเดินในชีวิตประจำวันจริง ๆ แต่มีการใช้ฝึกเคลื่อนไหวกับนักกายภาพบำบัดเป็นครั้งคราวเพื่อบริหารและฟื้นฟูกล้ามเนื้อ จนผู้ป่วยบางคนสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เล็กน้อยเป็นบางส่วน แต่ผู้ป่วยชายบางคนก็ถึงกับสามารถให้กำเนิดบุตรได้
ในอนาคตทีมผู้วิจัยหวังว่า พวกเขาจะสามารถรักษาผู้ป่วยอัมพาตที่กระดูกสันหลังเสียหายหนักได้จริง หากใช้อุปกรณ์ฝังในร่างกายร่วมกับการเพาะเนื้อเยื่อกระดูกสันหลังขึ้นมาใหม่โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีแบบหลังนี้ยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
…………………………………………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว