ทางการออสเตรเลียกำลังสืบสวนสอบสวนอุบัติเหตุที่เกิดจากลมกระโชกแรงจนเป็นเหตุให้บ้านลมซึ่งติดตั้งในงานเลี้ยงฉลองปิดเทอมที่โรงเรียนชั้นประถมศึกษาแห่งหนึ่งในเมืองเดวอนพอร์ต รัฐแทสมาเนีย พัดลอยขึ้นไปในอากาศ ทำให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา 5 คน เสียชีวิต และอีก 3 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส โดยเด็กบางคนถูกพัดลอยจากพื้นขึ้นไปสูงถึง 10 เมตร ก่อนจะตกลงมายังระดับพื้นดิน
นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับเครื่องเล่นเด็กประเภทนี้ เมื่อปี 2019 มีเด็กสองคนในมณฑลเหอหนาน ของจีน เสียชีวิต และคนอื่น ๆ อีก 20 คน ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในทำนองเดียวกัน และเมื่อปี 2018 เด็กผู้หญิงคนหนึ่งในสหราชอาณาจักร เสียชีวิตเพราะบ้านลมที่เธอเข้าไปเล่นที่หาดนอร์ฟอล์ก เกิดแตกระเบิด พัดร่างหนูน้อยให้ลอยขึ้นไปในอากาศก่อนจะตกลงมา ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมีนาคม 2016 เด็กหญิงอายุ 7 ขวบอีกคนหนึ่งจากมณฑลเอสเซกซ์ เสียชีวิตหลังจากบ้านลมที่เธอเล่นอยู่ถูกพัดลอยไป 300 เมตร จากจุดที่ติดตั้งไว้
- เด็ก 7 คน ฟื้นจากความตายในอุบัติเหตุเรือล่มในเดนมาร์กได้อย่างไร
- ปะการัง : นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์พยายามฟื้นฟูแนวปะการังด้วยตัวต่อเลโก้
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดคำถามว่าเครื่องเล่นเด็กอย่างบ้านลมมีความปลอดภัยแค่ไหน แล้วพ่อแม่ควรจะจับตาดูอย่างไรเพื่อให้ลูกได้เล่นสนุกอย่างปลอดภัย
มีตัวเลขประเมินเมื่อปี 2018 ซึ่งเป็นปีที่เกิดอุบัติเหตุบ้านลมระเบิดที่หาดนอร์ฟอล์ก พบว่าในสหราชอาณาจักรมีการติดตั้งบ้านลมเพื่อให้เด็กเล่นประมาณ 23 ล้านหลัง และหลังจากเกิดอุบัติเหตุครั้งนั้น
นายมาร์ค เจอร์แรม ผู้ก่อตั้งสหพันธ์ผู้ให้เช่าเครื่องเล่นเป่าลมของอังกฤษ อธิบายว่าเครื่องเล่นที่เกิดระเบิดเมื่อปี 2018 นั้นเป็นผ้าใบเป่าลม (inflatable trampoline) ที่มีลักษณะไม่ต่างจากที่นอนเป่าลมซึ่งแทบจะไม่ค่อยได้พบบ่อยนัก ขณะที่บ้านลมมาตรฐานทั่วไป จะใช้พัดลมเป็นเครื่องช่วยเป่าอากาศจากภายนอกเข้ามาภายในโครงสร้างรอยต่อของบ้านลม ในลักษณะที่อากาศมีการถ่ายเทตลอดเวลา
ในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุในมณฑลนอร์ฟอล์กนั้นเป็นฤดูร้อน ทำให้เกิดคำถามว่าสภาพอากาศร้อนมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ แต่นายเจอร์แรมให้ความเห็นว่ามีการใช้เครื่องเล่นเป่าลมอย่างปลอดภัยในประเทศอื่น ๆ ที่มีสภาพอากาศร้อนมากกว่าสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยและสาธารณสุข ของสหราชอาณาจักร เคยเผยแพร่ข้อความเตือนทางเว็บไซต์ว่าสภาพการณ์ที่พบได้จากอุบัติเหตุที่เกิดกับเครื่องเล่นเป่าลมคือทำให้ผู้เล่นแขน ขา และคอหักได้ ขณะที่คุณภาพของการติดตั้ง ดูแลรักษา และการให้บริการนั้นอาจแตกต่างกันได้อย่างสิ้นเชิง
ขณะที่นายเดวิด วอล์คเกอร์ ผู้จัดการด้านสันทนาการความปลอดภัยของราชสมาคมเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ บอกว่า ทางราชสมาคมฯ ซึ่งเป็นมูลนิธิ ทราบว่าปัญหาที่เคยเกิดกับบ้านลม มีตั้งแต่การที่ลมแฟบเร็วเกินไป โครงสร้างบ้านลมไม่แข็งแรงทำให้ล้ม หรือถูกพัดปลิว ไปจนถึงเด็ก ๆ หกล้ม หรือปีนป่ายไปบนขอบบ้านลมจนตกลงบนพื้น เป็นต้น นอกจากนี้บ้านลมที่ไม่ได้ปักหมุดกับพื้นอย่างถูกวิธี หรือติดตั้งบ้านลมในวันที่มีลมกระโชกแรง ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ทั้งสิ้น
ที่เมืองไทย มีบทสนทนาทางออนไลน์ของผู้ปกครองที่เคยพาบุตรหลานไปเล่นบ้านลม ระบุว่าเคยพบเห็นเหตุการณ์ที่มีเด็กติดอยู่ในช่องที่เป็นรอยต่อของบ้านลมจนผู้ใหญ่ต้องช่วยดึงตัวออกมา นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองที่เป็นห่วงเรื่องอุบัติเหตุจากการล้มชนกันหรือการกลั่นแกล้งกันของเด็ก ๆ เรื่องความสะอาดของเครื่องเล่น และอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ปกครองเห็นว่าเครื่องเล่นประเภทนี้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการ ฝึกการเข้าสังคมและความสัมพันธ์ของเด็ก
พ่อแม่ควรตรวจสอบอย่างไร
มีพนักงานที่เป็นผู้ใหญ่ดูแลเครื่องเล่นหรือไม่
มีการใช้หมุดยึดบ้านลมครบทุกจุดหากติดตั้งบ้านลมไว้บนพื้นแข็ง และผูกเชือกโยงเข้ากับจุดยึดที่แข็งแรง
กำหนดให้เด็กผู้เล่นต้องถอดรองเท้าและสิ่งของแหลมคม เช่น หัวเข็มขัด
หากบ้านลมไม่ได้ติดตั้งบนพื้นนุ่ม จะต้องมีแผ่นรองติดตั้งไว้บริเวณทางเข้า
ห้ามไม่ให้เด็ก ๆ ปีนป่ายหรือกระโดดจากกำแพงบ้านลม
บ้านลมจะต้องสะอาด ปราศจากอาหาร เครื่องดื่ม และของเหลวใด ๆ จากร่างกาย
หากพบว่าเด็ก ๆ ชนกันบ่อยครั้ง อาจหมายถึงว่ามีเด็กเล่นมากเกินไปในเวลาเดียวกัน
ที่มา : ราชสมาคมเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุ
…………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว