‘อว.’ ชู ‘มทร.อีสาน’ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางรางสู่อาเซียน-จีน

Home » ‘อว.’ ชู ‘มทร.อีสาน’ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางรางสู่อาเซียน-จีน


‘อว.’ ชู ‘มทร.อีสาน’ขับเคลื่อนโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางรางสู่อาเซียน-จีน

“เอนก” ลั่นภาคอีสานศูนย์กลางโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางราง ชู มทร.อีสาน เป็นสถาบันขับเคลื่อนเชื่อมโยงไทยสู่ประเทศกลุ่มอาเซียน-จีน

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) จ.นครราชสีมา ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานด้านระบบรางและอากาศยาน พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการระบบรางและอุตสาหกรรมการบิน

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า ภาคอีสานกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนและประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาและยกระดับด้านการคมนาคมของรัฐบาล ซึ่ง อว. มีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างนวัตกรรมและพัฒนากำลังทางด้านนี้

โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสานเป็นสถาบันขับเคลื่อนหลักในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันการดำเนินงานมีความรุดหน้าไปมาก เช่น ขณะนี้เราสามารถสร้างต้นแบบรถไฟฟ้ารางเบาฝีมือคนไทยได้ จัดตั้งสถาบันสหสรรพศาสตร์เพื่อพัฒนากำลังคนทางด้านระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมการบิน พร้อมผลิตหลักสูตรที่ผ่านการรับรองปริญญาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของสภาวิศวกร (กว.)

อาทิ หลักสูตรซ่อมระบบอาณัติสัญญาณ การออกแบบสถานี การจัดการสถานี วิศวกรรมโลจิกส์ เป็นต้น พัฒนาโครงการ “ร้อยแก่นสารสินธุ์ เมืองนวัตกรรมระบบราง” ที่จะเชื่อมโยงระบบรางของ 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ เข้าด้วยกัน จัดตั้งสถาบันเครือข่ายโลจิสติกส์และการขนส่งร่วมกับทางจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากมายเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางและอากาศยาน

รมว.อว.กล่าวต่อว่า มทร.อีสาน มีความพิเศษตรงที่สามารถทำงานได้ทั้งภาคอีสาน ด้วยมีวิทยาเขตถึง 4 แห่งใน 4 จังหวัดทั้งขอนแก่น ร้อยเอ็ด สกลนคร และสุรินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพระดับชาติ และระดับความรู้ก็เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติได้จริง ไม่ได้เน้นพัฒนาในงานวิจัยระดับสูง แต่ช่ำชองในการนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอแบบไทยๆ ตนตั้งใจผลักดันให้ มทร.อีสาน เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาของพื้นที่ ซึ่ง มทร.อีสานก็ต้องทำตัวเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนให้เข้ามาทำงานร่วมกับเรา ทั้งทางจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น และภาคเอกชน ทำให้ทุกคนไว้วางใจอยากร่วมงานกับเราให้ได้

“ที่สำคัญ มทร.อีสาน ต้องตอบแทนภาคอีสาน ภูมิภาคที่เราเกิด เติบโต แผ่นดินที่เป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่เรารัก ถึงเวลาแล้วที่เราจะทำให้อีสานเจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมของภูมิภาคอาเซียน มทร.อีสานต้องเป็นผู้บุกเบิกและเป็นนักรบแห่งภาคอีสาน พลิกแผ่นดินอีสานครั้งใหญ่ให้กลายเป็นอีสานใหม่ ถ้าอีสานเปลี่ยนเป็นอีสานใหม่ได้ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนเป็นประเทศไทยใหม่ได้เช่นกัน” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ