"อรวรรณ พาระนัง" : จากไม่มีเงินซื้อไม้ตีปิงปองสู่นักเทเบิลเทนนิสโอลิมปิก

Home » "อรวรรณ พาระนัง" : จากไม่มีเงินซื้อไม้ตีปิงปองสู่นักเทเบิลเทนนิสโอลิมปิก
"อรวรรณ พาระนัง" : จากไม่มีเงินซื้อไม้ตีปิงปองสู่นักเทเบิลเทนนิสโอลิมปิก

ความยากลำบาก คือ แรงผลักดันให้คนธรรมดาสามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เกินตัวได้ ต่อให้เป็นเพียงแค่หญิงสาวร่างเล็กที่ครอบครัวไม่ได้มีทุนทรัพย์แม้แต่จะซื้อไม้ตีปิงปองให้เธอได้ใช้ แต่เธอก็ฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างในชีวิต ไล่ล่าคว้าทุกโอกาสด้วย “มือ” ของเธอ

จากเด็กสาวที่ไม่มีอุปกรณ์สำหรับเทเบิลเทนนิสเป็นของตัวเอง วันนี้ “ทิพย์-อรวรรณ พาระนัง” นักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติไทย กำลังจะได้ไปวาดลวดลายการตบในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก “โตเกียว เกมส์” 

สิบโท อรวรรณ พาระนัง เกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 1997 เป็นชาวอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ฐานะความเป็นอยู่ในวัยเด็กของ อรวรรณ ค่อนข้างยากจน ครอบครัวมีรายได้อันน้อยนิดจากการทำนา และงานนักการภารโรงที่คุณพ่อทำ

อรวรรณ รับรู้ความลำบากของพ่อแม่ เธอจึงมีเป้าหมายตั้งแต่เด็ก สักวันหนึ่งเธอจะแบ่งเบาภาระครอบครัวให้ได้ ด้วยทางใดทางหนึ่ง  

อาจเป็นเพราะโชคชะตาหรือความบังเอิญ เพราะตอนอายุ 7 ขวบเธอได้รู้จักกับกีฬาลูกกลม ๆ เล็กที่เรียกว่า “เทเบิลเทนนิส” เพราะครูใหญ่ประจำโรงเรียนนามว่า “อ.นิวาส สมคะเน” มีความชื่นชอบกีฬาชนิดนี้อยู่แล้ว จึงเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนที่สนใจ มาสมัครเรียนปิงปองได้ 

ด้วยความที่เด็กส่วนใหญ่ มาจากครอบครัวฐานะยากจน เช่นเดียวกับ อรวรรณ ทำให้ ครูนิวาส จึงต้องลงทุนซื้อไม้ตีปิงปองให้ เด็ก ๆ ได้สลับกันใช้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ อรวรรณ เธอมีความขยัน ตั้งใจ และก็เริ่มฉายแววความเก่งออกมาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา 

เธอได้รับการอุปการะจากผู้ใหญ่ใจดีให้ทุนไปเรียนต่อ นครราชสีมา และได้โควต้าเข้ามา ศึกษาระดับมัธยมฯ ที่โรงเรียนกีฬากรุงเทพ ในเวลาต่อมา  

1

แน่นอนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งที่ต้องออกจากบ้านเกิด มาใช้ชีวิตตัวคนเดียวในเมืองใหญ่  ห่างไกลจากอ้อมกอดของพ่อแม่ ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ แต่ความยากลำบากทั้งหลายทั้งปวงก็หล่อหลอมให้ อรวรรณ เข้มแข็ง 

ต่อมา อรวรรณ พาระนัง ได้รับการเทรนโดย “โค้ชบอล” อิสระ เมืองสุข ตระเวนแข่งขันระดับเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และด้วยผลงานที่ยอดเยี่ยมจากการกวาดแชมป์หลายรายการ เธอจึงสามารถส่งเงินรางวัลกลับไปช่วยเหลือครอบครัว ได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี 

ความสำเร็จเหล่านั้นยังเป็นใบเบิกทางสู่แคมป์ทีมชาติไทยในปี 2013 เพียงแค่ปีเดียว เธอก็สามารถเหรียญทองแดงประเภทคู่ผสม ศึกเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย 

ปีต่อมา อรวรรณ ในวัย 18 ปี ถูกเลือกติดชุดใหญ่ ลงทำแข่งขัน ซีเกมส์ 2015 ประเภททีมหญิง เนื่องจากมีรุ่นพี่ได้รับบาดเจ็บ แม้สุดท้าย ไทย จะได้เหรียญเงินพ่ายแพ้ต่อ สิงคโปร์ ชาติเจ้าภาพที่เป็นเต้ยในกีฬาเทเบิลเทนนิสย่านอาเซียน 

แต่ในคู่ที่ อรวรรณ ลงแข่งประเภทเดี่ยวมือ 3 เธอสามารถเอาชนะนักตบเจ้าถิ่นไปได้ (ผลรวม ไทย แพ้ 3-4 คู่)

สองปีต่อมา อรวรรณเดินทางกลับสู่มหกรรมกีฬาซีเกมส์อีกครั้ง ในฐานะมือสามของทัพนักตบลูกเด้งไทย และคว้าเหรียญเงินจากประเทศทีมกลับมาครอง 

แต่ความสำเร็จที่โด่งดังที่สุดของอรวรรณ ในปี 2017 คือ การคว้าแชมป์ประเภทหญิงเดี่ยว และทีมหญิง ในรายการเทเบิลเทนนิส โกลเดน แร็กเกต 2017 ที่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 31 ปี ที่นักกีฬาทีมชาติไทยสามารถคว้าแชมป์จากทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว

2

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อรวรรณเข้าแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2019 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในฐานะมือสองของทีมชาติไทย จับคู่กับสุธาสินี เสวตรบุตร เอาชนะ นันทนา คำวงศ์ และจิณห์นิภา เสวตรบุตร สองนักเทเบิลเทนนิสร่วมชาติ ด้วยสกอร์รวม 3-0 เกม คว้าเหรียญทองประเภทหญิงคู่มาครองได้สำเร็จ

ชัยชนะครั้งดังกล่าว นับเป็นเหรียญทองแรกของอรวรรณในมหกรรมกีฬานานาชาติ และได้มีโอกาสไปสัมผัสประสบการณ์ลงแข่งขันในลีกอาชีพที่ประเทศสเปน

เป้าหมายต่อไปของ อรวรรณ พาระนัง จึงมองไปถึง โอลิมปิก เกมส์ 2020 เธอลงแข่งขันเทเบิลเทนนิสรอบคัดเลือก โซนเอเชีย ภายใต้กติกาสุดโหด ต้องเอาชนะคู่แข่ง 3 รายรวด เพื่อเป็นนักกีฬาที่มีผลงานดีที่สุดในโซนตะวันออกเฉียงใต้

3

แต่ด้วยผลงานอันยอดเยี่ยม เธอเอาชนะ สิติ อมินาห์ จากอินโดนีเซีย 4-0 เกม จานนาห์ โรเมโร จากฟิลิปปินส์ 4-0 เกม และเอาชนะโรส ฟาดอล จากฟิลิปปินส์ 4-1 เกม สุดท้ายก็ทำให้ อรวรรณ พาระนัง คว้าตั๋วไป โตเกียว เกมส์ ได้สำเร็จ 

น่าสนใจมากว่า นักตบลูกเด้งหน้าใหม่ในโอลิมปิก เกมส์ อย่าง อรวรรณ จะทำผลงานได้ดีมากแค่ไหนในโอกาสครั้งแรกของเธอ ? เพราะดูจากเส้นทางที่ผ่านมา เหมือนว่าเธอจะเป็นนักเทเบิลเทนนิสม้ามืดที่ประมาทไม่ได้เสียแล้ว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ