หลักฐานชัด คนไทยสมัยอยุธยากินหมูไหม? ข้อถกเถียงจากฉากกินหมูกระทะ ในละครพรหมลิขิต
เป็นประเด็นตั้งแต่ละครบุพเพสันนิวาส ออกอากาศเมื่อปี 2561 จนมาถึงปี 2566 กับฉากกินหมูกระทะในละครพรหมลิขิต ที่มีการถกเถียงกันว่า “คนไทยสมัยอยุธยาไม่กินหมู เพราะทำระบบปศุสัตว์ไม่เป็น จับปลาจับกุ้งในแม่น้ำกินง่ายกว่า เงินก็ไม่ค่อยมี จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหมูจากคนจีน จะเลี้ยงหมูไว้กินเองก็ไม่คุ้ม ครอบครัวเดียวกินหมูทั้งตัวไม่หมด จะกินสัตว์บกใหญ่ ๆ แต่ละครั้งต้องรองานบุญถึงจะล้มมากินกับคนจำนวนมาก คนที่กินหมูมีแต่คนจีน ต้องลองคิดง่าย ๆ ว่า อาหารไทยสมัยก่อนมีอะไรบ้างที่ทำจากเนื้อหมู”
ซึ่งเมื่อปี 2561 “รอมแพง” ผู้ประพันธ์นิยายบุพเพสันนิวาส ก็ได้โพสต์ภาพแนบเอกสารอ้างอิงว่าเนื้อหมูมีในอโยธยา และมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์จริงๆ ใน จดหมายเหตุของคณะพ่อค้าฝรั่งเศส
“เกรงว่าต่อไปจะมีการพูดถึงเนื้อหมูในอยุธยาว่าไม่มี เลยจะออกมาบอกไว้ก่อนนะคะว่า ในกรุงศรีอยุธยามีเนื้อหมูขายที่ ย่านในไก่ ตลาดน้อยเป็นย่านของคนจีนที่นิยมฆ่าและกินเนื้อหมู ซึ่งที่นั่นจะมีขายทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด นะคะ มีบันทึกไว้ในพงศาวดารในเรื่องของภูมิสถานในสมัยกรุงศรีอยุธยา เลยแต่งให้นางเอกไปซื้อหมูที่ตลาดนี้
คนจีนเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยไหนไม่แน่ชัดแต่สมัยสุโขทัยก็ได้มีการนำเข้าช่างจีนมาทำเครื่องปั้นดินเผาแล้วทำให้เกิดเตาทุเรียงในสมัยนั้น สมัยพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าสมัยพระนารายณ์ราว 200 กว่าปีก็มีกรมท่าซ้าย ที่มีพระยาโชฎึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นคนจีนคุมทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับจีนที่เข้ามา เมื่อมีชุมชนชาวจีนหมูพันธุ์ที่จีนนิยมกินจึงน่าจะถูกนำเข้ามาด้วย ดังนั้นจึงสันนิฐานได้ว่าเนื้อหมูมีมานานแล้วค่ะ
ในส่วนของข้อเท็จจริงเรื่องอาหารที่ชาวไทยสมัยกรุงศรีอยุธยานิยมกินนั้นมีบันทึกของบาทหลวงเล่าไว้ว่าจะนิยมกินปลาเพราะหาง่าย เนื้อหมูนี่ถือว่าหายากค่ะ และเป็นสัตว์ใหญ่คนไทยไม่นิยมฆ่ากินเพราะกลัวบาป”
ขณะเดียวกัน บทบัญญัติ พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด) ในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นเป็นบทบัญญัติที่ครอบคลุมเรื่องต่างๆ หลายด้าน เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบ และการชดใช้ค่าเสียหาย อันเกิดจากทำไร่ ทำนา ทำสวนรุกล้ำกินแดนกัน หรือเกิดจากการกระทำของสัตว์พาหนะ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย
นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการยืม การฝากทรัพย์ การซื้อขาย การเช่า การเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการจราจรทั้งทางบก เช่น เกวียนโดนกัน และทางน้ำ เช่น เรือโดนกัน การเล่นการพนัน แม้กระทั่งการเกิดอันตรายจากการทำไสยศาสตร์ การกระทำคุณไสย การวางยาพิษ และการทำให้แท้งลูก เนื่องจากมีบทบัญญัติหลากหลายมาก จึงเรียกชื่อว่า พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด)
พระอัยการเบ็ดเสร็จ (เบ็ดเตล็ด) มีการกล่าวถึง การเลี้ยงสุกร ในสมัยอยุธยา ระบุว่า ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูจะต้องทำเล้าไว้ จึงได้รับความคุ้มครอง จากกฎหมาย แต่ถ้าไม่ใส่เล้าก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง
หมูเป็นสัตว์ที่เลี้ยงกันตามบ้านทั่วไป ในสมัยที่ลาลูแบร์มาเมืองไทย ซึ่งเป็นสภาพสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้น เขาเห็นว่าหมูมีขนาดเล็ก และมีไขมันมากจนไม่นำรับประทาน แต่ก็เป็นเนื้อที่สะอาด หมูเป็นอาหารของพวกชาวจีนส่วนมากและมีขายที่ตลาด ได้แก่ ที่ย่านในไก่ เชิงสะพานประตูนไปเชิงสะพานประตูในไก่ ซึ่งเป็นย่านจีน
อ้างอิงจาก คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ว่าด้วยที่ค้าขายนอกกรุง ระบุว่า บ้านปากข้าวสาร บ้านในคลองสวนพลู ใต้ศาลเจ้านางหินลอย มีพวกจีนตั้งโรงต้มสุราและเลี้ยงสุกรขาย