หมอเลี้ยบ กางแผน รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย ทำได้จริง ขอแค่ปลดกุญแจดอกเดียว

Home » หมอเลี้ยบ กางแผน รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย ทำได้จริง ขอแค่ปลดกุญแจดอกเดียว


หมอเลี้ยบ กางแผน รถไฟฟ้า 20 บ.ตลอดสาย ทำได้จริง ขอแค่ปลดกุญแจดอกเดียว

‘หมอเลี้ยบ’ ลั่น ค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สามารถทำได้ เพียง ‘ลดค่าแรกเข้า’ ให้คนกล้าใช้บริการ ชี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชน เพิ่มรายได้ ส่งผลสามารถรัฐบาลเก็บภาษีได้มากขึ้น

วานนี้ (21 ม.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวในรายการ Talking Thailand ถึงกรณีที่ นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตหลักสี่-จตุจักร ของพรรคเพื่อไทย ออกมาเปิดเผยว่าพรรคเพื่อไทย เคยนำเสนอนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และ มีหนทางที่สามารถเป็นไปได้จริง โดยระบุว่า

เรื่องนี้พรรคไทยรักไทย และ พรรคพลังประชาชน เคยเสนอนโยบายค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย ซึ่งต่อมาพรรคเพื่อไทย ก็ได้นำเสนอค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในปี 2554 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยเปิดเผยผลการศึกษาเอาไว้ว่า ค่าเดินทางเฉลี่ยของประชาชนในประเทศไทยอยู่ที่ 28 บาทต่อเที่ยว ซึ่งแพงกว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง และไทยอาจเป็นประเทศที่ค่าเดินทางเฉลี่ยแพงที่สุดในโลก

 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกแบบวิธีคิดมีปัญหา เมื่อไปดูจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ จะเห็นว่ามีลูกค้าใช้บริการน้อยมาก ซึ่งเมื่อตั้งค่าบริการสูงเกินไปคนก็จะเข้าไม่ถึงและไม่ใช้บริการ ซึ่งไม่ว่าคนใช้บริการมากหรือน้อย ค่าวิ่งแต่ละเที่ยวก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นหากสามารถทำให้ค่าบริการถูกลงจนคนอยากมาใช้บริการก็จะทำให้เก็บเงินได้มากกว่า

อีกทั้งในโครงข่ายต่างๆ ยังมีการเก็บค่าแรกเข้า เมื่อเราสลับเข้าใช้บริการแต่ละโครงข่ายก็ต้องเสียค่าแรกเข้าให้แต่ละโครงข่าย ซึ่งเป็นตัวหลักที่ทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น เหมือนกับการเสียค่าส่วนกลางให้แต่ละโครงข่ายทุกวันและทุกเที่ยว ดังนั้นหากสามารถทำให้ทุกโครงข่ายกลายเป็นโครงข่ายเดียวแล้วเฉลี่ยค่าแรกเข้ากันก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้บางส่วน ค่ารถไฟฟ้าทุกวันนี้ที่เก็บจากตั๋วโดยสารไม่ได้สะท้อนต้นทุน แต่สะท้อนสัญญาที่กำหนดไว้

เมื่อกำหนดค่าบริการสูง ทุกแห่งจึงเจอปัญหาตรงกันคือผู้ใช้บริการน้อย ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นว่า ราคาเท่าไรประชาชนถึงจะเข้าถึงและใช้บริการได้ บทบาทของรัฐจึงควรเรียกเอกชนแต่ละเจ้ามาคุยกันเพื่อหาทางให้สามารถป้อนคนเข้าสู่ระบบได้จำนวนมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะคุยแน่นอน เพราะทุกวันนี้เห็นอนาคตแล้วว่าผู้ใช้บริการจะน้อยลงและอาจต้องเจ๊ง

หากคำนวณกับค่าแรงต่อวัน เอาว่าได้ 500 บาท วันนี้ค่ารถไฟฟ้าไปแล้ว 60 บาท ก็เท่ากับ 12% ของค่าแรงแล้ว หากเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในต่างประเทศ ค่ารถไฟฟ้าจะอยู่ที่ 2-5% แต่ของไทยกลับอยู่ที่ 5-18% ซึ่งก็อาจจะแพงที่สุดในโลก เพราะในโลกจะอยู่ที่ 2-5 % แต่ของไทยขณะนี้อยู่ที่ 5-8% คือแพงที่สุดในโลก

“ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้นสามารถทำได้ หากทำให้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นและเมื่อมีผู้ใช้บริการเยอะ ก็จะทำให้รถไฟฟ้าจะมีรายได้จากการโฆษณาซึ่งเป็นส่วนสำคัญ รวมไปถึงร้านค้าบริเวณสถานีรถไฟ ซึ่งแต่ละสถานีจะเป็นคอมมูนิตี้มอล แล้วถ้าโครงข่ายขยายตัวไปเท่าไร คนจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องอยู่ใจกลางเมืองก็สามารถเดินทางได้ ดังนั้นราคาที่ดินสำหรับทำที่อยู่อาศัยก็จะถูกลง แล้วผลตามมาคือรัฐจะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น เพียงแค่เปลี่ยนกุญแจดอกเดียวเท่านั้น” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

นพ.สุรพงษ์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งหมดนี้จะต้องกลับมาดูเรื่องการต่อเชื่อมโครงข่ายระหว่างโครงการให้สะดวกกับประชาชน ต้องพิจารณาค่าแรกเข้า และการกำหนดเพดานสูงสุด 20 บาทตลอดสาย รวมทั้งนำสัญญามาพิจารณาร่วมกันเพื่อให้เอกชนได้ประโยชน์ด้วยสามารถเก็บรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ให้ทุกฝ่าย วิน-วิน ทั้งหมด เพื่อร่วมกันแก้ไขระบบที่เป็นปัญหา ซึ่งเกิดจากติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก ดังนั้นจึงต้องรื้อทั้งระบบเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

นพ.สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องรถไฟฟ้านั้นจะมีหน่วยงานกลางรับผิดชอบอยู่คือ กรมราง (กรมการขนส่งทางราง) กระทรวงคมนาคม หากย้อนไปดูในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เคยมีการจัดสัมมนาร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอว่าค่ารถไฟฟ้า ควรจะ 20 บาทตลอดสาย กรมรางเองก็ยอมรับว่าสามารถทำได้ หากมีการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะค่าแรกเข้าที่มาใช้เฉลี่ยร่วมกัน การตั้งเพดานสูงสุดและกองทุน ซึ่งอาจจะมีรายได้จากการโฆษณาและอื่นๆ ซึ่งโดยระบบจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องดึงภาษีจากประชาชน

ในส่วนของแนวคิดเรื่องตั๋วใยแมงมุมที่พูดกันมานานนั้นอาจจะยากกว่าเรื่องค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แต่ถ้าสามารถทำในเรื่องค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้ก่อนก็อาจจะทำในส่วนนี้ได้ แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขอย่างจริงจังจึงทำได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย ดังนั้นหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะต้องไม่ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามและติดตามงานให้ต่อเนื่องเรื่องนี้ก็อาจจะสามารถทำได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ