หมอหมู เตือนคนนอนดึก เข้านอนหลังเที่ยงคืน ภัยเงียบเสี่ยงโรคร้าย เฉลยนอนเวลาไหนดีสุด?

Home » หมอหมู เตือนคนนอนดึก เข้านอนหลังเที่ยงคืน ภัยเงียบเสี่ยงโรคร้าย เฉลยนอนเวลาไหนดีสุด?
หมอหมู เตือนคนนอนดึก เข้านอนหลังเที่ยงคืน ภัยเงียบเสี่ยงโรคร้าย เฉลยนอนเวลาไหนดีสุด?

หมอหมู วีระศักดิ์ เปิดผลวิจัยเตือนคนนอนดึก เข้านอนหลังเที่ยงคืน ภัยเงียบเสี่ยงโรคร้าย เฉลยนอนเวลาไหนดีสุด? 

เพจ “หมอหมู วีระศักดิ์” หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้โพสต์เตือนคนที่ชอบนอนดึก ระบุว่า… 

“เข้านอนหลังเที่ยงคืน เสี่ยง! โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มขึ้น 25% 

ไม่ใช่ความลับ! การนอนหลับที่มีคุณภาพเป็นส่วนสำคัญของความเป็นอยู่โดยรวมของเรา แต่ยิ่งเรารู้เกี่ยวกับการนอนหลับมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเข้าใจว่าการนอนหลับมีส่วนสำคัญต่อร่างกายเราอย่างไร และตามการศึกษาที่ตีพิมพ์ใน European Heart Journal–Digital Health หัวใจก็ไม่มีข้อยกเว้น นี่คือสิ่งที่นักวิจัยค้นพบเมื่อศึกษาว่า เวลาเข้านอนส่งผลต่อสุขภาพหัวใจอย่างไร 

สำหรับการศึกษานี้ เป็นการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างเวลาที่เข้านอนกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease – CVD) โดยใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์วัดความเคลื่อนไหว (accelerometer) ที่สวมใส่บนข้อมือของผู้เข้าร่วมการศึกษา 103,712 คน เป็นเวลา 7 วัน เพื่อบันทึกเวลาที่เข้านอนและเวลาตื่นนอน และติดตามผู้เข้าร่วมวิจัยต่อเนื่องเฉลี่ย 5.7 ปี เพื่อบันทึกการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 

ผลการศึกษา  

1. การเข้านอนระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 22.59 น. มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิด CVD ต่ำที่สุด 

2. การเข้านอนก่อน 22.00 น. มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 24% 

3. การเข้านอนระหว่าง 23.00 น. ถึง 23.59 น. มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 12% 

4. การเข้านอนหลังเที่ยงคืน มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 25% 

5. ความสัมพันธ์นี้ชัดเจนมากขึ้นในผู้หญิง โดยในผู้ชายพบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเฉพาะการเข้านอนก่อน 22.00 น. เท่านั้น 

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เข้านอนอาจมีผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้หญิง การเข้านอนระหว่าง 22.00 น. ถึง 22.59 น. อาจเป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการลดความเสี่ยงนี้ นะครับ 

อ้างอิงข้อมูลจาก: Shahram Nikbakhtian, Angus B Reed, Bernard Dillon Obika, Davide Morelli, Adam C Cunningham, Mert Aral, David Plans, Accelerometer-derived sleep onset timing and cardiovascular disease incidence: a UK Biobank cohort study, European Heart Journal – Digital Health, Volume 2, Issue 4, December 2021, Pages 658–666, https://doi.org/10.1093/ehjdh/ztab088 

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์ 

ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้น จึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ” 

สุขภาพดีไม่มีขาย อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ