จากกรณีที่เพจเฟซบุ๊กทนายชื่อดังอย่าง รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ออกมาโพสต์ปริศนาของผู้ปกครองรายหนึ่งที่เข้ามาปรึกษา หลังจากที่ลูกวัยอนุบาล 2 โรงเรียนเอกชนราคาแพง ล้มที่โรงเรียน กลับบ้านมาป่วยหนัก ก่อนจะเสียชีวิตแบบงง ๆ ที่โรงพยาบาล
โดยทนายดังระบุว่า มีผู้ปกครองน้องอนุบาล 2 โรงเรียนเอกชนราคาแพงเล่าให้ฟังว่าลูกล้มในห้องเรียนกลับมาบ้านเสียชีวิตแบบงง ๆ กล้องในห้องก็มีแต่บังเอิญเสียวันนั้น ไปถามโรงเรียน ๆ ให้ค่าทำศพมา 20,000
ทั้งนี้จากผลชันสูตรพบว่าเด็กคนดังกล่าว ได้รับบาดเจ็บบริเวณศรีษะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมอง โดยเรื่องนี้ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าความจริงเป็นอย่างไร
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ หรือ หมอหมู วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว. ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวของผม ในกรณีที่เด็กหกล้มศีรษะกระแทกพื้นแล้วเกิดภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก พบได้บ่อยพอสมควร และบางรายก็เสียชีวิต จึงอยากฝากถึงผู้ที่ต้องดูแลเด็กต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากพบเห็นกรณีดังกล่าว ควรรีบส่งตรวจรักษาที่ รพ. ไม่ควรรอจนกว่าจะเกิดอาการรุนแรง ซึ่งอาจไม่ทันเวลานะครับ
Epidural hematoma (ภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก) เป็นการบาดเจ็บของสมองชนิดหนึ่ง โดยเกิดจากการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำบริเวณเยื่อหุ้มสมอง หรือหลอดเลือดระหว่างกะโหลกศีรษะและเยื่อหุ้มสมองชั้นดูรา ส่งผลให้เนื้อสมองมีการถูกกดเบียด จึงทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ พูดไม่ชัด หมดสติ และในรายที่รุนแรงจะถึงขั้นเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
ในประเทศไทย มีรายงานวิจัยพบภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกได้ประมาณร้อยละ 2-3 ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงที่ศีรษะ ภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ โดยพบว่าในเด็ก (อายุมากกว่า 2 ปี) มีโอกาสเกิดได้มากกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากเยื่อดูราแยกออกจากผิวด้านในของกะโหลกได้ง่ายกว่า
การเกิดหลอดเลือดฉีกขาดจนทำให้เกิดก้อนเลือดมีสาเหตุจากการผิดรูปของกะโหลกศีรษะในขณะที่มีแรงมากระทบ (สาเหตุหลักจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ทั้งอุบัติเหตุจราจร ตกจากที่สูง เด็กหกล้ม จากการเล่นกีฬา หรือถูกทำร้ายร่างกายที่บริเวณศีรษะ) ทำให้หลอดเลือดที่แตกแขนงไปเลี้ยงกะโหลกศีรษะถูกดึงรั้งจนฉีกขาด
การที่เลือดออกจากหลอดเลือดจะทำให้มีก้อนเลือดขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยแรงดันในหลอดเลือดแดงและก้อนเลือดจะเซาะหลอดเลือดออกจากกะโหลกศีรษะ จึงทำให้มีการฉีกขาดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกะโหลกศีรษะเพิ่มเกิดจุดเลือดออกมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลาต่อมา
ตำแหน่งที่เกิดบ่อยคือ Temporal bone (ขมับ) ซึ่งมีความบอบบางเป็นเหตุให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ อัตราการตายของผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกเหนือเยื่อหุ้มสมองชั้นนอก พบประมาณร้อยละ 8 รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY