“หมอชลน่าน” รับ สภาล่มมีนัยยะทางการเมือง ยัน “เพื่อไทย” ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500

Home » “หมอชลน่าน” รับ สภาล่มมีนัยยะทางการเมือง ยัน “เพื่อไทย” ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500


“หมอชลน่าน” รับ สภาล่มมีนัยยะทางการเมือง ยัน “เพื่อไทย” ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500

“หมอชลน่าน” รับ สภาล่มมีนัยยะทางการเมือง ยัน “เพื่อไทย” ไม่ร่วมสังฆกรรมสูตรหาร 500 ชี้ การไม่อยู่เป็นองค์ประชุม เป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง

เมื่อเวลา 12.20 น. วันที่ 4 ส.ค.65 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาล่มเมื่อวานนี้ (3 ส.ค.) มีนัยยะทางการเมืองที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… หรือไม่ ว่า ยอมรับตรงๆ ว่ามีนัยยะทางการเมือง ซึ่งการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมายต้องพิจารณาตัวกฎหมายเป็นหลัก

ถ้าเห็นว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่มีปัญหาไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ จึงใช้กลไกมาตรา 132 ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นทางออกทางหนึ่งและเป็นกลไกระงับยับยั้งกฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบ หรือออกไปใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาก็เปิดช่องไว้ และกฎหมายลูกกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องพิจารณาภายใน 180 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้นำกฎหมายที่เสนอในวาระแรกนำมาบังคับใช้เลย

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า พรรค พท.มีเจตนารมณ์เมื่อแพ้โหวตมาตรา 23 แล้วตามที่กฎหมายเสนอโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ว่ามีการสั่งการให้พลิกกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตร 2 หารด้วย 500 สิ่งที่เราคิดในการทำหน้าที่มาโดยตลอดเพื่อให้กฎหมายที่ถูกเสนอมาโดยชอบกลับมาบังคับใช้ให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.ปล่อยให้มีการพิจารณาลงมติในวาระ 3 หาร 500 แล้วไปรอคำทักท้วงของ กกต.​ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกา 2.คว่ำในวาระ 3 และ 3.ใช้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132

โดย 3 ทางเลือกพรรคพท. คิดมาแต่แรกว่าทางเลือกที่ 1 จะดีกว่าทางเลือกอื่น เพราะแนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 สุ่มเสี่ยงที่เขาจะอ้างในการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญขัดกันกับกฎหมายลูกไม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรใบเดียว หาร 500 ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น

ดังนั้น แนวทางที่ 1 เราเองก็ไม่แน่ใจว่ากกต.กับศาลจะทักท้วงหรือไม่ แม้ว่าพรรค พท.จะชอบแนวทางที่ 3 เพราะเราได้ประโยชน์สูงสุด แต่กระบวนการตรากฎหมายมันไม่ชอบ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะมาร่วมกับเรา เราไม่ได้เป็นผู้โน้มนาวชักจูง เพราะเรายืนอยู่มาจุดนี้ตลอดทั้งหมดจึงไม่ใช่เกมแต่เป็นกลไกรัฐสภาในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

“มันเป็นร่างที่ครม.เสนอมา ครม.ควรจะต้องอับอาย แม้แต่ร่างตัวเองที่ไปปรับแก้ไขในวาระ 2 ไปหักร่างตัวเอง กกต.เสนอมา คุณก็ไปหักในวาระที่ 2 นี่เป็นเจนารมณ์เราตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นเกมเมื่อวาน แต่ถ้าตีว่าเป็นเกมเราก็ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเมื่อวาน แต่เป็นทางเดินของเรา ส่วนใครจะมาร่วมกับเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า พรรค พท.จะยื้อให้ครบเวลา 180 วันหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรายืนยันเจตนารมณ์นี้มาแต่แรก เพียงแต่เราไม่ได้ประกาศเท่านั้น ซึ่งในกมธ.เราก็สู้มาโดยตลออดว่าเราไม่เห็นด้วย ยิ่งปรับแก้ยิ่งมีปัญหา เราก็สงวนความเห็นและมาสู้ในสภาต่อ ฉะนั้น เกม พท.ที่วางไว้เรายืดประโยชน์สูงสุดด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับในการตรากฎหมายขึ้นมา เราไม่ได้ยึดติดว่าจะหารอะไร แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขมาให้ใช้สูตรหาร 100 แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น

เมื่อถามว่า ในสัปดาห์หน้าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราก็สู้แบบนี้ต่อ ส่วนใครจะมาร่วมกับเราไม่ใช่ประเด็นที่เราเป็นผู้ไปกำหนด เพราะเราเป็นเสียงข้างน้อย ถ้าสังเกตว่าเมื่อวานถ้าสมาชิกไม่ร่วมกับพรรค พท. มันก็ไม่เกิดเหตุการณ์ใช้กลไกสภาระงับยับยั้งกฎหมายที่ไม่ชอบได้ ตนจึงมีความมั่นใจว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเห็นแล้วว่ามันไม่ชอบจึงใช้แนวทางนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์และเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะลงมติหรือไม่ลงมติ

“การทำหน้าที่ในสภา การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ดีไม่ดีขอให้ดูที่ผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลที่เกิดขึ้นดีกับประเทศชาติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดี ไม่ใช่ว่านั่งประชุมแล้วนั่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาแล้วทำงานได้ดี ทำงานแล้วมันไม่ดีกับประเทศชาติแล้วไปยกย่องว่าทำงานได้ดี ผมไม่เห็นด้วย” นพ.ชลน่าน กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ