เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้ร้อง ซึ่งสงวนชื่อและนามสกุล ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่ง ยุบพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับที่ กกต.ยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา
ซึ่ง สำนักข่าวอิศรา เปิดเผยรายละเอียดในหนังสือร้องเรียนดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้ เรื่อง ร้องเรียนการกระทำโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค
เรียน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
ข้าพเจ้า (สงวนชื่อ-นามสกุล) ผู้ร้อง ในฐานะปวงชนชาวไทยที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย มีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีสิทธิเสนอเรื่องราวต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยเร็วตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ขอร้องเรียนเต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มีหลักฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันควรเชื่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งรองรับการดำรงอยู่ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของผู้ร้อง โดยเป็นการกระทำของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองดังกล่าวและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) โดยยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรค มีรายละเอียด ดังนี้
ผู้ร้องได้รับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 17/2567 ระหว่าง ประธานวุฒิสภา ผู้ร้อง กับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ซึ่งตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า “ ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ “บุคคล” ดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบ “บุคคล” ดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง รวมทั้งรู้เห็นยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือ “ผู้อื่น” ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ…..”
- หนุ่มโพสต์เตือนสติ หลัง ภรรยาเสียชีวิต รพ.แจ้ง ปอดติดเชื้อรุนแรง
- นาทีชีวิต! ชายหนุ่มเกือบไม่รอด เป็นลมล้มกลางสวน หลังวิ่งออกำลังกาย
- เด็กเอนสาว ร้อง! ถูกลูกค้าเมาชกเบ้าตา กระทืบซ้ำ อ้างรู้จักคนใหญ่คนโต
ข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังเป็นยุติดังกล่าว เป็นฐานแห่งข้อเท็จจริงที่สำคัญทำให้เห็นถึงการยินยอมของนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเพื่อกระทำการโดยมิชอบ และทำให้เห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร มีเจตนาชี้นำผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังพรรคเพื่อไทย เนื่องจากการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอำนาจดำเนินการได้โดยลำพัง แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจะต้องรับรู้หรือเห็นชอบในการเสนอบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การที่นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำนายเศรษฐา ทวีสิน จึงเป็นการชี้นำเพื่อผ่านนายเศรษฐา ทวีสิน ไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่านายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นการที่นายเศรษฐา ทวีสิน ยินยอมดำเนินการตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ หรือยินยอมตามการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อนำเอาความต้องการของนายทักษิณ ชินวัตร ไปดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยให้บรรลุผลตามที่นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการ และคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยควรรู้ว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีคนดังกล่าวมาจากการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร เนื่องจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นบุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระในการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ปรากฏจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างแพร่หลายว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย (ในขณะนั้น) ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อรดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า สถานที่พักอาศัยของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นนายเศรษฐา ทวีสิน ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี วันที่ 27 เมษายน 2567 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกลางระหว่างช่วงเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร กับช่วงเวลาก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยในเรื่องการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูล แม้ว่านายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเสนอชื่อหรือเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่เป็นโควต้าของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จะต้องดำเนินการตามข้อบังคับพรรคเพื่อไทย พ.ศ. 2561 ส่วนที่ 3 การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อ 112 ที่กำหนดว่า “ การคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองอื่น ให้พิจารณาจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณธรรม จริยธรรม โดยให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการบริหารกําหนด ”
ดังนั้น การเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย การที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบบุคคลซึ่งหมายถึงนายทักษิณ ชินวัตร ที่นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณ ชินวัตร และหลังจาก นายเศรษฐา ทวีสินเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร แล้ว นายเศรษฐา ทวีสิน นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชี้นำให้เสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี แต่เมื่อข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยกำหนดให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน จึงไม่อาจดำเนินการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีได้โดยลำพัง แต่จะต้องนำเอาการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และเมื่อประกอบกับคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค จึงทำให้การชี้นำพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ไม่มีข้อติดขัด ดังนั้นคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจึงย่อมจะต้องรับรู้และยินยอมต่อการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค
อีกทั้ง นายเศรษฐา ทวีสิน หรือคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ยังเคยได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ต้องการเสนอแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี จากที่ศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงว่า ทั้งที่เคยถอนชื่อ หรือขอให้นายพิชิต ชื่นบาน ถอนชื่อจากบัญชีเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยินยอมรับการชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยไม่เห็นด้วยมาก่อน โดยในครั้งก่อนเป็นช่วงเวลาที่นายทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ จึงทำให้การชี้นำไม่สำเร็จ แต่ในครั้งนี้นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการปล่อยตัวและนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าพบที่บ้านพัก จึงทำให้การชี้นำประสบความสำเร็จ การชี้นำของนายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้จึงทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม ปรากฏตามภาพข่าวนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ในสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ทั่วไป
ขอบคุณ : สำนักข่าวอิศรา