ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทำให้วงการโบราณคดีทั่วโลกในปี 2021 อยู่ในภาวะเงียบเหงาซบเซาต่อเป็นปีที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางการศึกษาโบราณคดีหลายแห่งในอังกฤษ ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนงบประมาณและผู้สมัครเข้าเรียน จนจำต้องยุบเลิกคณะหรือสาขาวิชาในด้านนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของอียิปต์ ได้ทำให้ปีนี้กลายเป็นปีทองของการค้นพบมัมมี่ที่น่าสนใจหลายร่าง รวมทั้งมีการเฉลิมฉลองมัมมี่ฟาโรห์และราชินีในอดีตอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการจัด “ขบวนเสด็จทองคำ” อันตระการตา เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาอีกด้วย
มัมมี่สุดแปลกกับการค้นพบใหม่จากทั่วโลก
นอกจากมัมมี่นักบวชและขุนนางอียิปต์จำนวนมากที่ขุดพบในสุสานซักคารา (Saqqara) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหุบเขากษัตริย์อันโด่งดังแล้ว ในปีนี้ยังมีผลการศึกษาใหม่ ๆ ของมัมมี่คนดังเจ้าเก่าจากทั่วโลก ทำให้เรารู้ถึงความเป็นมาและรายละเอียดของยุคสมัยที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ได้กระจ่างและลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เริ่มจากการขุดพบมัมมี่อายุ 2,000 ปี จากสมัยราชวงศ์ทอเลมี ซึ่งมีความพิเศษไม่เหมือนใครเพราะมีเครื่องรางเป็นแผ่นทองคำใส่เอาไว้ในปาก คาดว่าเครื่องรางนี้เป็นสิ่งแทนอวัยวะจริงซึ่งก็คือลิ้นนั่นเอง ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นมัมมี่ “ลิ้นทอง” ซึ่งมีการค้นพบเป็นครั้งแรกในวงการอียิปต์วิทยาเลยทีเดียว
นักโบราณคดียังไม่ทราบแน่ชัดว่า การประดิษฐ์เครื่องรางลิ้นทองคำให้กับมัมมี่นั้น ชาวอียิปต์โบราณทำไปด้วยสาเหตุใดกันแน่ แต่สันนิษฐานว่าผู้ตายอาจมีความพิการหรือความผิดปกติด้านการพูด จึงจำเป็นต้องมีลิ้นใหม่เพื่อใช้เจรจากับเทพโอไซริส ผู้พิพากษาตัดสินวิญญาณของคนตายในปรโลก
- ขุดพบมัมมี่ “ลิ้นทอง” ในวิหารต้องสงสัยเป็นสุสานคลีโอพัตรา
มัมมี่อียิปต์ที่น่าสนใจอีกร่างหนึ่งในปีนี้ เคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นนักบวชชายที่เสียชีวิตลงเมื่อ 2,100 ปีที่แล้ว แต่เมื่อนักโบราณคดีนำมาตรวจสอบใหม่อีกครั้งด้วยเครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) กลับพบว่าร่างที่อยู่ในห่อผ้านั้นเป็นหญิง ทั้งกำลังมีครรภ์แก่ได้ราว 7 เดือนแล้วอีกด้วย สร้างความตื่นเต้นให้กับบรรดานักวิจัยอย่างมาก เพราะเป็นการค้นพบมัมมี่ที่มีทารกในครรภ์ครั้งแรกของโลก
ยังคงเป็นปริศนาอยู่ว่า เหตุใดผู้ทำมัมมี่ไม่นำทารกออกจากมดลูก เพื่ออาบน้ำยาและห่อเช่นเดียวกับอวัยวะอื่น ๆ ของผู้ตายตามกระบวนการทำมัมมี่ตามปกติ ซึ่งอาจเป็นได้ว่าการผ่าตัดเอาเด็กออกทำได้ยากเกินไป หรืออาจเป็นความเชื่อทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าแม่และลูกในท้องนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่อาจแยกจากกัน
- พบมัมมี่หญิงท้องแก่มีซากทารกค้างในมดลูก ครั้งแรกของโลก
เทคโนโลยีล้ำสมัยยังทำให้เราได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของ “นักรบผู้กล้า” ฟาโรห์เซเคเนนเร ทาว ที่สอง (Seqenenre Taa II) ซึ่งสิ้นพระชนม์ระหว่างทำสงครามต่อต้านผู้รุกรานเมื่อ 3,600 ปีก่อน โดยผลสแกนล่าสุดเผยว่า บาดแผลร้ายแรงหลายแห่งบนพระวรกาย ซึ่งผู้ทำมัมมี่ได้พยายามปกปิดซุกซ่อนไว้นั้น แสดงถึงการสำเร็จโทษในพิธีประหารชีวิตกลางสนามรบ
ร่องรอยบาดแผลจากอาวุธหลายชนิดที่โจมตีเข้ามาจากด้านบนเหนือศีรษะผู้ตาย รวมทั้งการงอตัวของแขนและขามัมมี่ที่ผิดปกติ บ่งชี้ว่าฟาโรห์นักรบผู้นี้อยู่ในท่านั่งคุกเข่าและถูกมัดมือไพล่หลังก่อนตาย ซึ่งเป็นไปได้อย่างมากว่า ศัตรูได้ประหารพระองค์หลังจากพ่ายแพ้และถูกจับเป็นเชลย
- ผลสแกนมัมมี่ฟาโรห์ “นักรบผู้กล้า” พบสิ้นชีพในพิธีประหารหลังพ่ายแพ้ศัตรู
มาดูมัมมี่ของภูมิภาคยุโรปตะวันตกกันบ้าง หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามีการค้นพบศพคนโบราณใน “พรุ” หรือที่ลุ่มดินโคลนชุ่มน้ำเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น “ทอลลุนด์แมน” (Tollund Man) ชายวัยกลางคนจากยุคเหล็ก ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อกว่า 2,400 ปีก่อนในประเทศเดนมาร์ก มัมมี่ร่างนี้มีชื่อเสียงมานานเพราะอยู่ในสภาพสมบูรณ์อย่างเหลือเชื่อ
ล่าสุดผลการผ่าชันสูตรอวัยวะภายในยังพบว่า เศษอาหารในลำไส้ที่ทอลลุนด์แมนกินเข้าไปราว 12 – 24 ชั่วโมงก่อนตาย มีพืชและวัสดุต่าง ๆ ที่กินไม่ได้ปะปนอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งคนยุคเหล็กเชื่อว่าของเหล่านี้เป็นสิ่งมงคลและมีความเชื่อมโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลักฐานที่ค้นพบใหม่ดังกล่าวจึงแสดงถึงการเตรียมประกอบพิธีบูชายัญมนุษย์ เพื่อเซ่นสรวงแด่เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์
- อาหารมื้อสุดท้ายชี้มัมมี่ “ทอลลุนด์แมน” เป็นเหยื่อพิธีบูชายัญ
ส่วนปริศนาของมัมมี่ชาวคอเคเซียนจากยุคสัมฤทธิ์ ที่ไม่มีใครรู้ว่าพลัดหลงเข้าไปอยู่ในทะเลทรายทากลามากันทางตะวันตกของจีนได้อย่างไรนั้น ล่าสุดนักโบราณคดีได้รับความกระจ่างในเรื่องนี้ไปบางส่วนแล้ว โดยเทคนิคการวิเคราะห์ดีเอ็นเอช่วยชี้ว่า “ฝรั่ง” เหล่านี้ไม่ใช่ผู้อพยพที่เพิ่งเดินทางมาถึงเอเชียเมื่อ 4,000 ปีก่อน แต่เป็นลูกหลานสายตรงของชาวยูเรเชียตอนเหนือยุคโบราณ (Ancient North Eurasian – ANE) ที่ปักหลักอยู่อาศัยในโอเอซิสบริเวณแอ่งทาริม (Tarim Basin) อันแห้งแล้งของจีน มาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อกว่าหมื่นปีก่อน
- มัมมี่ “ฝรั่ง” อายุ 4,000 ปี ในทะเลทรายจีน ไม่ใช่ผู้อพยพยุคโบราณ
ปิดท้ายขบวนมัมมี่ที่น่าสนใจของปีนี้ ด้วยการค้นพบล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ประเทศเปรู นักโบราณคดีพบร่างที่น่าจะเป็นชายหนุ่มวัย 25-30 ปี ในสุสานโบราณใต้ดินตรงด้านล่างของจัตุรัสใจกลางเมืองแห่งหนึ่งใกล้กรุงลิมา
คาดว่ามัมมี่ที่เอามือปิดหน้าและถูกมัดไว้ด้วยเชือกตามประเพณีโบราณของภาคใต้นี้ มีอายุเก่าแก่ราว 800-1,200 ปี ซึ่งเป็นยุคพรีโคลัมเบียนหรือช่วงก่อนการมาถึงทวีปอเมริกาของชาวยุโรป
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามัมมี่ร่างนี้น่าจะเป็นบุคคลสถานะสูงที่ได้รับการเคารพนับถือจากชาวเมือง เพราะถูกฝังในสถานที่สำคัญและมีเครื่องบูชาจากหลายยุคหลายสมัยถูกทิ้งเอาไว้โดยรอบด้วย
สิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำไนล์
การค้นพบทางโบราณคดีครั้งยิ่งใหญ่ของอียิปต์อีกเรื่องในปีนี้ ได้แก่การขุดเจอซากปรักหักพังของเมือง “อาเตน” (Aten) หรือที่ในจารึกโบราณเรียกว่า “นครทองคำ” อายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ที่เมืองลักซอร์
เมืองโบราณที่มีชื่อเหมือนกับสุริยเทพแห่งนี้ ถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมาในอียิปต์ คาดว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองและการค้า ในยุคของฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ซึ่งปกครองอียิปต์เมื่อราว 1,400 ปีก่อนคริสตกาล
ก่อนหน้านี้ทีมนักโบราณคดีจากต่างชาติหลายคณะ พยายามค้นหานครทองคำมาหลายปีแต่ก็ไม่พบ จนกระทั่งทีมนักโบราณคดีของอียิปต์ได้ลงมือขุดค้นตรงบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ซึ่งการค้นพบนี้จะช่วยให้เราได้มีโอกาสเห็นวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณ ในยุคที่อาณาจักรกำลังรุ่งเรืองมั่งคั่งถึงขีดสุด
- อียิปต์ค้นพบ “นครทองคำที่สาบสูญ” เก่าแก่กว่า 3,000 ปี
ย้อนไปในยุคที่อียิปต์เพิ่งเริ่มก่อตั้งอาณาจักร หลายคนอาจจะต้องประหลาดใจเมื่อได้ทราบว่า สมัยนั้นก็มีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว โดยในปีนี้มีการค้นพบซากของโรงเบียร์เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุราว 5,000 ปี ที่เมืองโบราณอาบีดอส (Abydos) บริเวณต้นสายของแม่น้ำไนล์
นักโบราณคดีค้นพบสถานที่ซึ่งมีห้องผลิตเบียร์ที่กว้างขวางจำนวน 8 ห้อง ในแต่ละห้องมีเตาและหม้อดินเผาสำหรับต้มเบียร์ขนาดใหญ่อยู่ 40 ใบ ซึ่งชาวอียิปต์โบราณใช้ต้มธัญพืชกับน้ำก่อนจะหมักให้เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีพระศพของกษัตริย์ราชวงศ์แรก คาดว่าโรงเบียร์นี้ผลิตได้ถึงครั้งละกว่า 22,400 ลิตรเลยทีเดียว
มรดกล้ำค่าอารยธรรมจีน
การค้นพบทางโบราณคดีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปีนี้ไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน โดยจีนพบซากของโรงกษาปณ์อายุ 2,600 ปี ในมณฑลเหอหนาน ซึ่งคาดว่าเป็นโรงงานผลิตเงินตราเก่าแก่ที่สุดในโลก เท่าที่เคยมีการค้นพบมา
สิ่งใช้แทนเงินที่โรงกษาปณ์แห่งนี้ผลิตขึ้นเรียกว่า “เงินจอบ” (spade money) ซึ่งใช้โลหะสัมฤทธิ์หล่อขึ้นเป็นรูปจอบขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร คาดว่ามีการนำเงินจอบนี้มาใช้แทนหอยเบี้ยในยุคชุนชิว ซึ่งเป็นช่วงที่ราชวงศ์โจวเสื่อมอำนาจลงและมีรัฐเกิดใหม่ที่เข้มแข็งกว่าปรากฏขึ้นจำนวนมาก
ส่วนที่มณฑลเสฉวน มีการค้นพบกรุสมบัติใหม่อีกแห่งหนึ่งจากสมัยปลายราชวงศ์ซาง ที่สุสานในเมืองโบราณซานซิงตุย (Sanxingdui) หลังจากที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีการค้นพบสมบัติล้ำค่าที่นั่นมาแล้วหลายพันชิ้น ในหลุมที่คนโบราณใช้เผาและฝังเครื่องสังเวย
วัตถุโบราณชิ้นโดดเด่นที่มีการค้นพบล่าสุด เป็นหน้ากากทองคำอายุ 3,000 ปี ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมยุคสัมฤทธิ์ที่เป็นรากฐานให้กับการก่อตั้งรัฐฉู่ หนึ่งในรัฐโบราณทรงอิทธิพลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นหลายร้อยปี
รุ่งอรุณทางปัญญาของมนุษยชาติ
การเล่าเรื่องด้วยภาพและการใช้สัญลักษณ์สื่อความหมาย นับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีนี้มีการค้นพบภาพสัตว์บนผนังถ้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย โดยนักโบราณคดีใช้ไอโซโทปของยูเรเนียม ตรวจวัดอายุแร่แคลไซต์ที่เกาะตัวสะสมอยู่บนภาพสัตว์ดูแล้ว พบว่ามีอายุถึง 45,500 ปี
ภาพสัตว์ที่ว่าเป็นรูปหมูป่า ซึ่งคนโบราณใช้แปรงจุ่มสีที่ทำจากดินแดงวาดขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาพพิมพ์มือ ภาพกลุ่มคนออกล่าสัตว์มีเขา ซึ่งแสดงถึงจินตนาการอันล้ำลึกและซับซ้อน ทั้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า การพัฒนาทางสติปัญญาของมนุษย์มีขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันทั่วโลก โดยไม่ได้เริ่มต้นที่ภูมิภาคยุโรปเป็นแห่งแรก ตามที่เคยเชื่อกันมา
- สำรวจถ้ำในอินโดนีเซีย ชมภาพวาดสัตว์เก่าแก่ที่สุดในโลก
ปิดท้ายกันที่เรื่องของแผนที่แสดงอาณาเขตในรูปแบบสามมิติอายุ 4,000 ปี ซึ่งนักโบราณคดีเพิ่งยืนยันได้ว่าเป็นแผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศที่เก่าแก่ที่สุดของยุโรป
แผนที่สามมิตินี้คือ “แผ่นหินซองต์-เบเหล็ก” (Saint-Bélec Slab) ซึ่งพบที่ชั้นใต้ดินของปราสาทแห่งหนึ่งในฝรั่งเศสเมื่อราว 120 ปีก่อน โดยแผ่นหินความกว้าง 2 เมตร ถูกสลักพื้นผิวเป็นรูปทรงเนินเขาและแม่น้ำลำธารหลายสาย ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นการจำลองภูมิประเทศในแถบหุบเขาแม่น้ำโอเดต์ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของแคว้นบริตตานีในปัจจุบัน
แผ่นหินดังกล่าวแสดงรายละเอียดได้เหมือนสถานที่จริงถึง 80% แสดงถึงความรู้ความสามารถทางภูมิศาสตร์ของคนยุคสัมฤทธิ์ ซึ่งสูงกว่าที่นักโบราณคดีเคยคาดกันไว้มาก
++++++
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว