สิงคโปร์ ประหารชีวิตนักโทษคนที่ห้า ในรอบ 5 เดือน
วันที่ 22 ก.ค. เอเอฟพี รายงานว่า ทางการ สิงคโปร์ ดำเนินการประหารชีวิตด้วยการแขวนคอนายนาเซรี บิน ลาจิม อายุ 64 ปี นักโทษในคดีลักลอบค้ายาเสพติด ในเรือนจำชางงีตามกำหนดการเมื่อช่วงเช้าตามเวลาท้องถิ่น หลังศาลสูงสุดยกคำร้องอุทธรณ์นาทีสุดท้ายของนายลาจิมเพื่อขอพบทนายความ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 ก.ค. นับเป็นการประหารชีวิตนักโทษรายที่ห้าติดต่อกันของสิงคโปร์ตั้งแต่เดือนมี.ค.
These are photos from Nazeri’s photoshoot before his execution. When his family members visited him, he insisted that they should be happy, rather than spend their precious time together sad and depressed. @gunsnroses’ Sweet Child O’ Mine was his favourite song. #deathpenalty pic.twitter.com/Jc3X4KLXr5
— Kirsten Han 韩俐颖 (@kixes) July 22, 2022
ผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพถ่ายสุดท้ายของนายนาเซรี บิน ลาจิม ก่อนได้รับโทษประหารชีวิต
ทั้งนี้ นายลาจิมถูกจับกุมเมื่อปี 2555 หลังถูกพบเฮโรอีน 33.39 กรัม เกินกว่า 15 กรัมที่สิงคโปร์ถือเป็นผู้ลักลอบค้าและต้องได้รับโทษประหารชีวิต สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสิงคโปร์ระบุว่า ปริมาณเฮโรอีนดังกล่าวเพียงพอที่จะให้ผู้เสพติด 400 คนใช้เป็นเวลา 1 สัปดาห์
ขณะที่แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลระบุในแถลงการณ์เรียกร้องให้สิงคโปร์ต้องยุติการแขวนคอทันที แต่สิงคโปร์โต้แย้งว่าโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นในการยับยั้งอาชญากรรมและการลักลอบค้ายาเสพติด
เชียรา ซันกอร์กีโอ ผู้เชี่ยวชาญโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า การประหารชีวิตเป็นเพียงการเพิกเฉยต่อทางการสิงคโปร์ที่มีต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการมีชีวิต แทนที่จะมีผลยับยั้งการก่ออาชญากรรมเฉพาะตัว
ก่อนหน้านี้ สิงคโปร์เผชิญเสียงวิจารณ์ทั่วโลกหลังดำเนินการประหารชีวิตนายนากาเอนธรัน ธรรมลิงกัม พลเมืองมาเลเซีย อายุ 34 ปี ผู้ลักลอบค้ายาเสพติด เป็นผู้พิการทางสติปัญญา เมื่อเดือนเม.ย. แม้ว่าครอบครัว ผู้เชี่ยวชาญจากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป และรัฐบาลมาเลเซีย จะร้องขอความเมตตาจากสิงคโปร์
ในเวลานั้น รัฐมนตรีกิจการภายในและกฎหมาย นายเค. ชานมูกัม ให้สัมภาษณ์บีบีซี ปกป้องจุดยืนการประหารชีวิตนายธรรมลิงกัม โดยกล่าวว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นมาตรกการยับยั้งรุนแรงต่อผู้ลักลอบค้ายาเสพติด
อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติระบุว่า โทษประหารชีวิตทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้สามารถยับยั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งอนุญาตดำเนินโทษประหารชีวิตกับผู้ก่อคดีอาญาร้ายแรงที่สุดเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เอเอฟพี