สิงคโปร์แอร์ไลน์ “เลิกบีบ” แอร์ฯ ท้องลาออก อนุญาตให้ย้ายตำแหน่ง-หวนบินหลังคลอด

Home » สิงคโปร์แอร์ไลน์ “เลิกบีบ” แอร์ฯ ท้องลาออก อนุญาตให้ย้ายตำแหน่ง-หวนบินหลังคลอด


สิงคโปร์แอร์ไลน์ “เลิกบีบ” แอร์ฯ ท้องลาออก อนุญาตให้ย้ายตำแหน่ง-หวนบินหลังคลอด

สิงคโปร์แอร์ไลน์ “เลิกบีบ” แอร์ฯ ท้องลาออก อนุญาตให้ย้ายตำแหน่ง-หวนบินหลังคลอด

บีบีซี รายงานว่า สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ประกาศยกเลิกนโยบายเลิกจ้างงานพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (แอร์โฮสเตส) ที่ตั้งครรภ์ ภายหลังคัดค้านมาหลายสิบปีจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าลิดรอนสิทธิมนุษยชน และเลือกปฏิบัติ ซึ่งหลังจากยกเลิกแล้วสายการบินอนุญาตให้พนักงานยื่นเรื่องขอย้ายไปทำตำแหน่งอื่นระหว่างตั้งครรภ์ได้ และสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่บนเครื่องบินได้อีกครั้งหลังคลอดบุตร

นายคลาเรนซ์ ดิง นักกฏหมายจากสำนักงานกฎหมายซิมมอนส์แอนด์ซิมมอนส์ กล่าวว่า “นโยบายการเลิกจ้างงานลูกเรือขณะตั้งครรภ์ของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ถูกยกเลิกเมื่อเดือนก.ค. เนื่องจากทางกระทรวงแรงงาน (เอ็มโอเอ็ม) ระบุว่า นายจ้างควรปฏิบัติตามแนวทางการจ้างงานที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

cr. Reuters

 

แม้ว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ได้ชี้ชัดถึงเหตุผลในการยกเลิก แต่คาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องจากกรณีที่สายการบินต่างๆ ทั่วโลกประสบปัญหาขาดแคลนพนักงาน หลังจากการเลิกจ้างจำนวนมากในช่วงที่เกิดวิกฤตโรคโควิด-19

ขณะที่สมาคมสตรีเพื่อการดำเนินการและการวิจัยของสิงคโปร์ (อแวร์) ซึ่งแสดงจุดยืนคัดค้านนโยบายนี้มาโดยตลอด เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากพนักงานของสิงคโปร์แอร์ไลน์ว่าถูกบังคับจากสายการบินให้ต้องลาออก นางคลอรินนา ลิม ผู้อำนวยการบริหารของอแวร์ กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่งสำหรับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ที่กำหนดให้พนักงานลาออกขณะตั้งครรภ์ แม้ว่าจะถูกกฎหมายก็ตาม แต่นโยบายดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองการคลอดบุตรในสิงคโปร์อย่างชัดเจนที่ว่ามารดาสามารถประกอบอาชีพและหาเลี้ยงชีพได้”

ด้านนางแอชลีย์ ฮง อดีตแอร์โฮสเตสของสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เปิดเผยว่า ถูกบังคับให้ลาออกตอนตั้งท้องหลังจากเข้าทำงานไม่ถึง 2 ปี เมื่อปี 2554 ตนเชื่อว่าลูกเรือที่ตั้งครรภ์ควรหยุดบินเพื่อความปลอดภัย ตอนสมัครงานนี้ทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าเป็นอาชีพที่มีอายุงานจำกัด แต่ส่วนตัวยังหวังว่าจะได้กลับมาทำงานบนเครื่องบินอีกครั้ง

Ashley Hong is now a mother of five //cr. ASHLEY HONG

ก่อนหน้านี้ในปี 2553 สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ แถลงว่า “สายการบินมีนโยบายให้ลูกเรือที่ตั้งครรภ์ลาออกเพราะความสามารถในการทำงานอาจไม่เต็มที่ ซึ่งลูกเรือในสายการบินจะมีสัญญาจ้างชั่วคราว 5 ปี และด้วยเหตุผลที่ระบุไว้ข้างต้นการจ้างงานพนักงานหญิงต้อนรับบนเครื่องบินจะสิ้นสุดลงหลังจากไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

เมื่อเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ พบว่าไม่มีข้อบังคับให้ลูกเรือลาออกขณะตั้งครรภ์ สายการบินบริติชแอร์เวย์ กาตาร์แอร์เวย์ และสายการบินแควนตัสของออสเตรเลียจะเสนองานบนภาคพื้นให้พนักงานที่ตั้งครรภ์แทน

ส่วนสายการบินคาเธย์แปซิฟิค สายการบินแห่งชาติของฮ่องกง ให้ลูกเรือตัดสินใจเลือกระหว่างทำงานบนภาคพื้นหรือลางานระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่ได้รับเงินเดือน “ลูกเรือสามารถกลับมาบินได้อีกครั้ง หลังจากผ่านหลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินตามกฎหมายกำหนด” คาเธย์แปซิฟิคระบุ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ