สหรัฐฯซุ่มเงียบ แอบทดสอบขีปนาวุธเหนือเสียง-เลี่ยงปะทะรัสเซีย
สหรัฐฯซุ่มเงียบ – วันที่ 5 เม.ย. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า กองทัพสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการทดสอบปล่อยขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือจรวดไฮเปอร์โซนิก เมื่อกลางเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่เก็บเป็นความลับเพื่อเลี่ยงการตอกย้ำความตึงเครียดกับทางการรัสเซีย
แหล่งข่าวระดับสูงทางด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า การทดสอบดังกล่าวเสร็จสิ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จะเดินไปเยือนชาติยุโรป เพื่อแสดงเอกภาพร่วมกับชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ รวมถึงยูเครน
อาวุธไฮเปอร์โซนิกดังกล่าวของสหรัฐฯ ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน มีชื่อเป็นทางการว่า The Hypersonic Air-breathing Weapon Concept (HAWC) ถูกปล่อยจากเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นบี-52 สตราโตฟอร์เทรส บริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศ
จรวดข้างต้นใช้เครื่องยนต์หนึ่งเพื่อเร่งความเร็วของจรวดไปจนถึงระดับที่เครื่องยนต์ที่สองจะทำงานเพื่อเร่งความเร็วถึงระดับเหนือเสียงมากกว่า 5 เท่าขึ้นไป หรือ 5 มัก
แหล่งข่าวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดทางเทคนิคอื่นใดเกี่ยวกับอาวุธชนิดนี้ แต่ระบุเพียงว่า จรวดมีระดับการบินที่ราว 65,000 ฟุต (ราว 20 กิโลเมตร) และเคลื่อนที่ไปได้ไกลถึง 300 ไมล์ (ราว 480 กม.) ภายในเวลา 5 นาที นับเป็นครั้งแรกที่อาวุธชนิดนี้จากล็อกฮีด มาร์ติน ประสบความสำเร็จ
การทดสอบของทางการสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังทางการรัสเซียอ้างว่าใช้ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงโจมตีเป้าหมายที่เป็นคลังแสงทางภาคตะวันตกของประเทศยูเครน
พลเอกลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน กล่าวแสดงความมึนงงถึงการตัดสินใจที่รัสเซียนำจรวดไฮเปอร์โซนิกรุ่นคินซัลมาใช้ เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆ ทางยุทธวิธี พร้อมระบุว่า ไม่ใช่อาวุธที่จะพลิกโฉมสงครามยูเครนได้ในมุมมองของตน
เช่นเดียวกันกับ นายจอห์น เคอร์บี โฆษกเพนตากอน กล่าวย้ำในไม่กี่วันถัดมาว่า เพนตากอนไม่พบความจำเป็นเชิงยุทธวิธีใดๆ ที่รัสเซียต้องนำจรวดไฮเปอร์โซนิกออกมาใช้จริง โดยเฉพาะการโจมตีเป้าหมายอย่างที่รัสเซียอ้าง (ถือว่าโอเวอร์คิล)
รายงานระบุว่า จรวดไฮเปอร์โซนิก คินซัล ของกองทัพรัสเซียนั้นแท้จริงแล้วเป็นการนำขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยสั้นรุ่น อิสคันเดอร์ มาปรับปรุง จึงมีเทคโนโลยีที่เก่ากว่าอาวุธไฮเปอร์โซนิกปัจจุบัน
HAWC ที่สหรัฐฯ ทดสอบนั้นมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่า เพราะใช้เครื่องยนต์สแครมเจ็ตที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ จรวดไฮเปอร์โซนิกของสหรัฐฯ รุ่นนี้ ไม่ติดตั้งหัวรบใดๆ แต่จะอาศัยโมเมนตัมจากการกระแทกเพื่อทำลายเป้าหมายเท่านั้น เรียกว่า หัวรบพลังงานจลน์ หรือหัวรบกระแทก (Kinetic warhead)
ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐฯ มีท่าทีระมัดระวังอย่างสูงที่จะไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือใช้ถ้อยแถลงที่ส่งผลให้ความตึงเครียดกับรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด เพนตากอน ยังสั่งระงับการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป หรือไอซีบีเอ็มรุ่น มินิทแมน ทรี เพื่อเลี่ยงการเข้าใจผิดจากรัสเซีย
ยังไม่เพียงเท่านั้น ทางการสหรัฐฯ ยังพยายามหลีกเลี่ยงการประโคมข่าวความช่วยเหลือทางด้านอาวุธด้วยการไม่ลงลึกในรายละเอียด มีเพียงความช่วยเหลือครั้งล่าสุดมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 หมื่นล้านบาท ที่เพนตากอนแจกแจงรายละเอียดของอาวุธที่ส่งมอบให้ยูเครน
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะเป็นชาติตัวแทนส่งมอบเครื่องบินขับไล่ให้กับกองทัพยูเครน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกทางการรัสเซียนำไปใช้เป็นข้ออ้าง ว่าสหรัฐฯ และชาตินาโต้เข้าแทรกแซงสงครามยูเครน ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่สาม ตามที่ผู้นำสหรัฐฯ ระบุไว้
ทั้งนี้ สหรัฐฯ หันมาเร่งทดสอบและพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิกหลังมีรายงานข่าวว่ารัสเซียและจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาวุธชนิดดังกล่าวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจตกเป็นรองในเรื่องของแสนยานุภาพทางทหารในอนาคต