สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ ระบายน้ำมันจากคลังสำรอง หวังราคาโลกลดลง

Home » สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ ระบายน้ำมันจากคลังสำรอง หวังราคาโลกลดลง


สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ ระบายน้ำมันจากคลังสำรอง หวังราคาโลกลดลง

สหรัฐอเมริกา-อังกฤษ – วันที่ 24 พ.ย. บีบีซี รายงานว่า สหรัฐอเมริการะบุว่า กำลังระบายน้ำมัน 50 ล้านบาร์เรล จากคลังสำรองของสหรัฐ เพื่อพยายามลดราคาพลังงานและน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น

ทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า “ผู้บริโภคอเมริกันกำลังรู้สึกผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นที่สถานีบริการเชื้อเพลิง และในใบเสร็จค่าทำความร้อนในบ้าน และธุรกิจอเมริกันด้วย เนื่องจากอุปทานน้ำมันไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ นั่นเป็นเหตุผลที่ประธานาธิบดีไบเดนใช้มาตรการทุกอย่างที่มีเพื่อทำให้ราคาลดและแก้ไขปัญหาการขาดของอุปทาน”

 

การระบายน้ำมันของสหรัฐควบคู่ไปกับประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักร รัฐบาลจะอนุญาตให้บริษัทต่างๆ ระบายน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลโดยสมัครใจ จากคลังสำรองของภาคเอกชน โดยกล่าวว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่ผลประโยชน์สำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศมีแนวโน้มที่จะถูกจำกัดและลดโดยอัตโนมัติ

ขณะที่อินเดียจะระบายน้ำมัน 5 ล้านบาร์เรล จากคลังสำรอง ส่วนเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน จะประกาศปริมาณและระยะเวลาที่จะระบายน้ำมันในเวลาเหมาะสม

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ขอร้องหลายครั้งให้องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปก) เพิ่มผลผลิตน้ำมันเร็วขึ้น แต่โอเปกยังยึดมั่นต่อข้อตกลงที่จะเพิ่มการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเท่านั้น โดยกังวลว่าการกลับมามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก จะทำให้อุปสงค์ลดลง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อถึงจุดสูงสุดของการระบาดใหญ่

ราคาน้ำมันดิบเพิ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งผลักดันให้ราคาน้ำมันและค่าพลังงานเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ

 

เจ้าหน้าที่สหรัฐระบุว่า เป็นครั้งแรกที่สหรัฐมีการประสานงานความเคลื่อนไหวเช่นนี้กับบางประเทศที่เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่นักวิเคราะห์ตั้งคำถามว่าจะมีผลกระทบมากหรือไม่

แคโรไลน์ เบน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์ที่แคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า “การประสานงานดังกล่าวไม่มากพอที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และอาจส่งผลตรงข้ามด้วยซ้ำ หากโอเปกพลัส (องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกที่รวมรัสเซียด้วย) จะชะลอความเร็วในการเพิ่มผลผลิตน้ำมัน

 

แคโรไลน์ เบน กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ มันดูจะเป็นเชิงสัญลักษณ์และมีแรงจูงใจทางการเมือง และว่าความเคลื่อนไหนในการระบายน้ำมันจากคลังสำรองดูจะอยู่ไม่ค่อยนาน ด้วยความเห็นเอกฉันท์ในหมู่นักวิเคราะห์ว่า หากโอเปกพลัสยังสูงน้ำมันเพิ่มขึ้น ตลาดจะเข้าสู่ภาวะเกินดุลในไตรมาสแรกของปีหน้า

“สิ่งนี้เองจะทำให้ราคาน้ำมันลดลงโดยธรรมชาติ” แคโรไลน์ เบน กล่าว

 

ทั้งนี้ โอเปกพลัสปฏิเสธหลายครั้งแล้วซึ่งคำขอที่จะสูบน้ำมันเพิ่มที่การประชุมประจำเดือนของโอเปกพลัส เป็นเหตุให้สหรัฐเกิดความไม่พอใจ แต่ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐในความร่วมมือกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ เพื่อลดราคาพลังงาน เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงโอเปกและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อื่นๆ ว่า จำเป็นต้องแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ปีนี้

เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายบริหารสหรัฐกล่าวว่า “เราจะเจรจากับพันธมิตรระหว่างประเทศในประเด็นนี้ต่อไป ประธานาธิบดีสหรัฐพร้อมดำเนินการเพิ่มเติมหากจำเป็น และพร้อมใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในการประสานงานกับส่วนที่เหลือของโลก”

 

ด้านคาสเทิน ฟริทช์ นักวิเคราะห์คอมแมร์ซบังค์ (Commerzbank) จากเยอรมนี กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจทำให้โอเปกพลัสต้องทบทวนกลยุทธ์ของตัว และตกลงที่จะเพิ่มผลผลิตน้ำมันในการประชุมสัปดาห์หน้า

“50 ล้านบาร์เรลเทียบเท่ากับการเพิ่มการผลิตน้ำมัน 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลาหนึ่ง 1 หรือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นเวลา 7 สัปดาห์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมีนัยสำคัญ” คาสเทิน ฟริทช์ กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ