สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งฉายา “คนกีฬา” ประจำปี 2564 เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา
สมาคมนักข่าวช่างภาพกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ตั้งฉายาให้กับบุคคลในวงการกีฬาเป็นธรรมเนียมประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยคัดเลือกจากบุคคลกีฬาที่มีข่าวฮือฮา หรือมีความโดดเด่นในสายตาของสื่อมวลชนสายกีฬาในรอบปีที่ผ่านมา เพื่อยกย่อง และหยิกแกมหยอก สำหรับฉายาคนกีฬา ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา มี 12 ฉายา ดังนี้
1. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง : ฉายา “ประมุขเร้นกาย” ในช่วงที่ผ่านมา “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย โดนมรสุมชีวิตอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่ผ่านมา ทั้งกรณี “บอส กระทิงแดง” หรือความล้มเหลวในวงการฟุตบอลที่ทีมชาติไทยผลงานล้มเหลวทุกชุดแถม ฟุตบอลลีกอาชีพยังเจอโควิด-19 ขายสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ต้องเลิกสัญญาลิขสิทธิ์มูลค่าหมื่นล้านกับ “เซ้นท์” ตกเป็นกระแสโดนโจมตีจากแฟนบอลอย่างต่อเนื่อง
ทำเอา “บิ๊กอ๊อด” ต้องหลบฉากงดให้สัมภาษณ์ และปรากฏตัวในวงสังคมค่อนข้างน้อย นอกจากจำเป็นจริง ๆ พร้อมกับแต่งตั้ง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ มาเป็นผู้จัดการทีมชาติไทยแบ่งเบาภาระ และรับแสงสปอตไลต์จากสื่อและแฟนบอลไปแทน จึงเป็นฉายาของ “ประมุขเร้นกาย” ด้วยประการฉะนี้
2. นวลพรรณ ล่ำซำ : ฉายา “มาดามขี่ม้าขาว” ขณะที่ผลงานทีมชาติไทยย่ำแย่เกือบทุกชุดทำให้กระแสฟุตบอลไทยตกต่ำสุดขีด “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ก็ขันอาสาเข้ามากู้วิกฤติศรัทธา รับบทผู้จัดการทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยเป็นครั้งแรก โดยควบทั้งชุด U23 และชุดใหญ่ ซึ่งการเข้ามารับงานครั้งนี้แม้จะเป็นการรับเผือกร้อนแต่กระแสการตอบรับจากแฟนบอลและสื่อค่อนข้างดี
ประเดิมด้วย U 23 ที่ “มาดาแป้ง” ใช้คอนเนคชั่นระดมนักเตะลูกครึ่งจากต่างประเทศมาผนึกกำลังกับนักเตะในไทย แม้ผลงานจะกระท่อนกระแท่นแต่ก็สามารถเป็นตัวแทนกลุ่มเข้าไปเล่น U 23 ชิงแชมป์เอเชียรอบสุดท้ายได้สำเร็จ ต่อด้วยเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ที่โชว์ฝีมือประสานสิบทิศดึงนักเตะชั้นยอดจากทุกสโมสรทั้งในและต่างประเทศมาได้มากที่สุด ในรอบหลายปีและทำผลงานรอบแรกได้อย่างยอดเยี่ยม หากสามารถคว้าแชมป์อาเซียนคราวนี้มาครองได้ ฉายา “มาดามขี่ม้าขาว” ที่เข้ามากอบกู้วงการฟุตบอลไทยคงไม่หนีไปไหนเป็นแน่แท้
3. ธีรศิลป์ แดงดา : ฉายา “ราชันอาเซียน” สำหรับ “เทพมุ้ย” ธีรศิลป์ หัวหอกทีมชาติไทยเป็น 1 ใน 30 ผู้เล่นชุดเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ที่ถูกสบปรามาสว่าแก่เกินแกง สภาพโรยราลงไปเยอะ แต่ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือทีมชาติไทย ยังเชื่อมั่นในศักยภาพว่าเขาจะเป็นดาวยิงคนสำคัญที่จะถล่มประตูให้ “ช้างศึก” นอกจากเป้าหมายการคว้าแชมป์แล้ว ตำแหน่งดาวยิงสูงสุดอาเซียน ที่มุ้ยยิงได้ 15 ประตูตามหลัง นอห์ อลัม ชาห์ อดีตหัวหอกทีมชาติสิงคโปร์อยู่ 2 ประตูยังเป็นที่หมายปองของ ธีรศิลป์ ที่จะลบสถิติ เพื่อก้าวไปสู่ดาวยิงตลอดกาลอาเซียน
เกมแรกยังฝืดแต่นัดที่ 2 กับเมียนมา และดวลกับฟิลิปปินส์ มุ้ยกดคนเดียวนัดละ 2 ประตูผงาดแซง นอห์ อลัม ชาห์ เป็น 19 ประตูขึ้นนำดาวยิงอาเซียนตั้งแต่ยังไม่จบรอบแรก ผลงานตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีในนามทีมชาติไทย จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมอบฉายา “ราชันอาเซียน” ให้กับ ธีรศิลป์ แดงดา
4. พล.อ.เดชา เหมกระศรี : ฉายา “หมึกต้นแบบ” ด้วยความที่เป็นคนที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา แทบไม่เคยมีวันพัก แม้จะเจอสถานการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ “เสธ.หมึก” พล.อ.เดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง สามารถดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาจักรยาน ทั้งในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย ชิงถ้วยพระราชทานฯ ประเภทต่าง ๆ และระดับนานาชาติ ทั้งรายการลู่ “แทร็ค เอเชีย คัพ 2021” และจักรยานทางไกลนานาชาติ “ทัวร์ ออฟ ไทยแลนด์ 2021” เป็นเพียงชาติเดียวในทวีปเอเชีย ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และประสบความสำเร็จอย่างมาก
ทำให้หลายสมาคมกีฬาได้นำมาตรการดังกล่าวของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ไปประยุกต์ใช้ในการจัดแข่งขัน จนได้รับการชื่นชมและยกย่องจากหลายฝ่าย รวมทั้ง ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าเป็น “สมาคมต้นแบบ” ในการจัดแข่งขันในรูปแบบ New Normal จึงเหมาะสมที่จะได้รับฉายา “หมึกต้นแบบ”
5. พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ : ฉายา “จอมเตะเลี่ยมทอง” หลังจากกวาดแชมป์มาแล้วแทบจะทุกรายการ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดสาวทีมชาติไทยดีกรีแชมป์โลก จึงเป็นความหวังอันดับ 1 ในการลุ้นเหรียญทองจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พาณิภัค แบกแรงกดดันมหาศาลลงแข่งขันในรุ่น 49 กก.หญิง ซึ่งชิงเหรียญทองกันตั้งแต่วันแรกหลังพิธีเปิด “โตเกียวเกมส์” ซึ่งจอมเตะสาวไทยกรุยทางสู่รอบชิงชนะเลิศได้สมราคา ก่อนเจอกับม้ามืดจากสเปน
สถานการณ์ในรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างใจหายใจคว่ำ เมื่อต่างฝ่ายต่างผลัดกันนำผลัดกันตาม และสาวไทยตาม 1 แต้มขณะเหลือเวลาไม่ถึง 10 วินาที ก่อนมาได้ลูกเตะสำคัญในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย แซงชนะไปอย่างสนุกตื่นเต้น พร้อมคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ให้ทัพนักกีฬาไทยได้สำเร็จ
6. เช ยอง ซ็อก : ฉายา “โค้ชโสมหัวใจไทย” เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬาเทควันโดไทยในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์หลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือ “โค้ชเช” เช ยอง ซ็อก โค้ชชาวเกาหลีใต้ที่สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ดึงตัวมาคุมทีมตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 หลังจาก 2 ปีที่ “โค้ชเช” เข้าไปคุมทีม จอมเตะไทยก็คว้าเหรียญรางวัลจากโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกจาก “วิว” เยาวภา บุรพลชัย และทำเหรียญรางวัลให้นักกีฬาไทยได้เรื่อยมา กระทั่งประสบความสำเร็จสูงสุดกับเหรียญทองของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในโอลิมปิกเกมส์ 2020
“โค้ชเช” มักได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนกีฬาชาวไทยว่าเป็นโค้ชชาวเกาหลีหัวใจไทย ด้วยความทุ่มเทและมีอารมณ์ร่วมกับผลงานของนักกีฬาไทยทุกการแข่งขัน จนถึงจุดที่ตัวโค้ชเองก็ต้องการเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนไทยเต็มตัว และเลือกชื่อไทยเตรียมไว้แล้วว่า “ชัชชัย” แต่ขั้นตอนการขอสัญชาติยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ “โค้ชเช” หลังจากสร้างนักกีฬาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ได้แล้ว คือการพานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ในฐานะโค้ชสัญชาติไทยนั่นเอง
7. อาฒยา ฐิติกุล : ฉายา “สวิงสาวเจ้าสนาม” ในปี 2021 นับเป็นปีทองของวงการกอล์ฟหญิงไทย เมื่อโปรสาวชาวไทยประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ได้หลายรายการ ซึ่งหนึ่งในคนที่สร้างผลงานโดดเด่นที่สุดและต่อเนื่องที่สุด คือ “โปรจีน” อาฒยา ฐิติกุล โปรสาววัย 18 ปี จาก จ.ราชบุรี ซึ่งคว้าแชมป์เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ ได้ 2 รายการ และติดอันดับท็อปเทนอีก 13 รายการ พ่วงด้วยรางวัลนักกอล์ฟยอดเยี่ยมและนักกอล์ฟหน้าใหม่ยอดเยี่ยม รวมถึงตำแหน่งนักกอล์ฟทำเงินสูงสุดของทัวร์ในรอบปีที่ผ่านมา เรียกว่าลงแข่งรายการไหนเป็นต้องได้ลุ้นเกือบทุกครั้ง
นอกจากนี้ โปรจีนยังปิดฤดูกาลอย่างยอดเยี่ยมด้วยการคว้าตั๋วเข้าร่วมแข่งขันแอลพีจีเอทัวร์ ซึ่งเป็นทัวร์กอล์ฟอาชีพสูงสุดของฝ่ายหญิง กลายเป็นหนึ่งในโปรสาวสุดฮอตที่สื่อกอล์ฟทั่วโลกให้การจับตามองในปีหน้า
8. เดชาพล พัววรานุเคราะห์ – ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย : ฉายา “คู่ขนไก่สะท้านโลก” หลังจากจับคู่แข่งขันแบดมินตันคู่ผสมกันมานาน ปี 2021 นับเป็นปีที่ยอดเยี่ยมที่สุดบนเส้นทางตบลูกขนไก่ของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย เมื่อสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 8 รายการจากทั้งหมด 12 รายการที่ร่วมแข่งขัน จนทะยานขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
เริ่มต้นด้วยการกวาด 3 แชมป์รายการใหญ่ที่ไทยเป็นเจ้าภาพช่วงต้นปี แม้จะพลาดหวังจากโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อพลาดท่าตกรอบก่อนรองชนะเลิศอย่างน่าเสียดาย “บาส-ปอป้อ” ก็กลับมาฮอตอีกครั้งช่วงปลายปี เมื่อคว้าแชมป์ต่อเนื่องถึง 5 รายการ โดยเฉพาะ 2 รายการหลังสุดอย่าง “บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ทัวร์ ไฟนอลส์” และ “แบดมินตันชิงแชมป์โลก” ซึ่งส่งให้ทั้งคู่กลายเป็นแชมป์โลกประเภทคู่คู่แรกในประวัติศาสตร์วงการขนไก่ไทย
9. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล : ฉายา “หญิงปัท ชัดทุกช็อต” ด้วยความที่ คุณหญิงปัทมา เป็นนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวยประกอบกับชอบเล่นกีฬาหลายอย่างทั้ง ว่ายน้ำ จักรยาน แบดมินตัน และยังมีใจรักกีฬาอย่างเต็มเปี่ยม จึงสนับสนุนส่งเสริมทุนให้วงการกีฬาทุก ๆ ชนิดมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเข้ามาเป็นนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ก็สร้างนักตบลูกขนไก่ติดชาร์จระดับโลกมากกว่า 50 คน สร้างชื่อเสียงคว้าแชมป์โลก หรือได้แชมป์ระดับโลก จนนับไม่ถ้วน และยังชัดเจนต่ออีกกับตำแหน่งใหญ่ “ไอโอซีหญิง” คนแรกของไทย และคนที่ 4 ของประเทศ เป็น “บอร์ดโอซีเอ” ทำงานระดับโลก และกีฬาในประเทศแบบไม่มีหยุด จนเป็นที่รักของคนในวงการกีฬา
พร้อมกันนี้ คุณหญิงปัทมา ยังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทย แต่งชุดไทยในงานสำคัญตลอดทำให้ทั่วโลกจดจำวัฒนธรรมไทย และยังช่วยประสาน แก้ปัญหาให้สมาคมกีฬาไทย กับ สหพันธ์กีฬา เชื่อมโลกกีฬาให้แคบลง ให้ไทยเป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้น แม้จะต้องเดินทางตลอดประสานงานรอบด้าน แต่ก็ไม่มีถอยยังคงมุ่งมั่นทุ่มเททำงานกีฬาระดับโลกมาตลอด เรียกว่า “หญิงปัท” ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มและจะยังชัดเจนต่อไป เพื่อวงการกีฬาไทยของเรา
10. ดร.ก้องศักด ยอดมณี : ฉายา “วาด้า พาเพลีย” ต้องยอมรับว่าปี 2564 ในช่วงครึ่งปีแรก ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ทำท่าจะสอบผ่านสบาย ๆ กับงานค่ายหัวหมาก ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล ราบรื่นดี แต่ช่วงครึ่งปีหลังวงการกีฬาไทย เจอองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency : WADA) หรือ “วาด้า” เล่นงานจนสะเทือนไปทั้งประเทศ ในข้อหาที่ไทยทำผิดกฎเรื่องสารต้องห้าม ไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมนูญสารกระตุ้นของ “วาด้า” ในด้านการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญ “วาด้า” ก็ได้ส่งสัญญาณเตือนมาแล้วให้เร่งแก้ไข จะได้ไม่โดนลงโทษแบน มีเวลาให้แก้ไขพอสมควร แต่ทั้งนี้ต้องผ่านหลายขั้นตอน จาก ผู้ว่าการ กกท .ขึ้นไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก่อนจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่ง “ดร.ก้อง” ที่อยากแก้ไขให้ทันแทบใจจะขาด ได้แต่ยืนมองตาปริบ ๆ ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอขั้นตอนจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
มัวแต่เกรงใจกันอยู่ จนเลยกำหนดที่ “วาด้า” ขีดเส้นตายมา เมื่ออยากลองดีแบบนี้ “วาด้า” เลยออกคำสั่งเด็ดขาด ลงโทษแบนไทย 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2564 ส่งให้ให้นักกีฬายกน้ำหนักไทย ที่เพิ่งคืนชีพคว้าแชมป์โลกได้ แต่ไม่มีธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสา โดยเฉพาะนักแบดมินตันคู่ผสมขวัญใจชาวไทย “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ซึ่งคว้าแชมป์โลก ที่สเปน เมื่อ 19 ธ.ค.2564 ต้องเอาธงสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ขึ้นสู่ยอดเสาแทนธงชาติไทย งานนี้ “ดร.ก้อง” จึงรับไปเต็ม ๆ
11. นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม : ฉายา “พี่มีแต่ให้” สำหรับ นายสุชัย ไม่ใช่น้องใหม่ในวงการกีฬาไทยแต่อย่างใด ที่ผ่านมา “สุชัย” อยู่เบื้องหลังของวงการกีฬามาตลอดนับตั้งแต่สมาคมมวยสากลสมัครเล่นฯ และสมาคมกีฬาว่ายน้ำฯ หลังจากขึ้นมารับตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย อย่างเต็มตัวดูเหมือนดวงจะถูกโฉลก แม้กีฬาโปรดจะไม่ใช่เทนนิสแต่ด้วยการบริหารงานสไตล์ใจถึงพึ่งได้ไม่หวังผลประโยชน์กล้าได้กล้าเสียมีโบนัสและส่งกำลังใจให้กับนักกีฬาทุกครั้งก่อนเดินทางไปแข่งขัน รวมถึงมีโบนัสพิเศษหากนักกีฬาประสบความสำเร็จกลับมา จนทำให้ผลงานของนักเทนนิสไทยเริ่มขยับไปในทิศทางที่ดีประสบความสำเร็จในเกมระดับนานาชาติหลายรายการ
12. สุดาพร สีสอนดี : ฉายา “นารีกู้วิกฤติ” เหรียญทองแดงโทนของนักชกสาว “น้องแต้ว” สุดาพร สีสอนดี ในศึก “โตเกียวเกมส์ 2020” ทำให้สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย โล่งอกที่ไม่ต้องกลับบ้านแบบมือเปล่าเหมือนเมื่อครั้ง “ริโอ 2016” ที่สำคัญเป็นการปลดล็อกเพราะเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของนักชกสาวไทยในระดับโอลิมปิกเกมส์ แต่กระนั้นก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าทีมมวยสากลของไทยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเหรียญหลักที่มาจากนักชกชายห่างหายจากเวทีโอลิมปิกเกมส์มาถึง 2 สมัยนับตั้งแต่ “ริโอ” จนถึง “โตเกียว” แต่ถ้าเป็นทองถือว่าเป็นโอลิมปิกเกมส์สมัยที่ 3 ที่นักชกไทยไร้เหรียญกลับบ้าน เหรียญทองแดงของ “น้องแต้ว” ครั้งนี้เท่ากับเป็นการกู้วิกฤติให้กับสมาคมกีฬามวยสากลฯ ได้อย่างหวุดหวิด.