ทุกวันนี้ ภัยจากอาชญากรรมออนไลน์มีมากขึ้นชนิดที่พากันบุกเข้ามาถล่มเคาะประตูบ้านเราอย่างไม่ลดละ ถึงหลายคนจะไม่ได้เปิดประตูต้อนรับมิจฉาชีพเข้ามาในบ้านก็จริง แต่ความน่ารำคาญมันก็มีไม่น้อย หลายคนต้องเจอโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ต่ำกว่าวันละ 3 สาย บางคนนั่งไล่ลบ SMS ที่ส่งลิงก์แปลก ๆ พร้อมข้อความชวนตกใจจนนิ้วแทบจะล็อก บางคนหวาดระแวงไปหมดเวลาที่ต้องกดลิงก์อะไรสักอย่างเพื่อเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมันกลายเป็นความหลอนไปแล้วว่าลิงก์ไหนกดได้ ลิงก์ไหนห้ามกด ลิงก์ไหนปลอดภัย ลิงก์ไหนอันตราย บางคนจึงตกเป็นเหยื่ออย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ ทั้งที่ระวังตัวเป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้นี่เองที่ทำให้มีเหยื่อมากมายที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มมิจฉาชีพต่างก็มีการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ในการหลอกลวงเหยื่ออยู่เสมอ ๆ บ้างก็มีการนำหลักจิตวิทยามาปรับใช้ใช้ในการหลอกล่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ หนึ่งในวิธีที่กำลังแพร่ระบาดและค่อนข้างแนบเนียน ก็คือการสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็น สร้างบัญชีปลอมเป็นบุคคลมีชื่อเสียง สร้างบัญชีปลอมเป็นหน่วยงานของรัฐ สร้างบัญชีที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง (บัญชีอวตาร) หรืออ้างว่าตนเองมีฐานะร่ำรวย เป็นต้น จากนั้นก็ค่อย ๆ เข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับเหยื่อแบบเพื่อนในออนไลน์ธรรมดา เพื่อให้เหยื่อเริ่มหลงเชื่อและตายใจ
ดังนั้น ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงออกเตือนประชาชนถึงรูปแบบของบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ (แอ็กเคานต์โซเชียลมีเดีย) ที่ต้องระวัง และเอะใจไม่ก่อนเสมอหากมีบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ 5 รูปแบบนี้เพิ่มเพื่อนเรามา เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพนั่นเอง หากว่าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้เพิ่มเพื่อนมา ถ้าเลี่ยงได้ให้พยายามเลี่ยง และยึดหลัก “ไม่รับแอด ไม่คุยแชต ไม่โอนเงิน” ให้หนักแน่นที่สุด เพื่อลดโอกาสที่ตัวเราจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่สร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเรา
1. แอ็กเคานต์ประเภท “หนุ่มหล่อสาวสวย”
แอ็กเคานต์ที่ใช้ภาพโพรไฟล์เป็นชายหนุ่มหญิงสาวหน้าตาดี อาจมีการโชว์เรือนร่างด้วย หากใช้ภาพผู้หญิงก็จะโชว์หุ่นแบบเนื้อนมไข่ หากใช้ภาพผู้ชายก็จะเปลือยท่อนบน โชว์กล้ามแขน กล้ามหน้าท้อง เป็นต้น หากไล่ดูสิ่งที่โพสต์ย้อนหลังก็อาจเจอโพสต์เชิงตัดพ้อเรื่องไม่สมหวังในความรักสักที หรือโพสต์ในเชิงว่ากำลังตามหารักแท้ อยากมีใครสักคนที่จริงใจ
จึงเป็นเรื่องที่ต้องระวังหากมีแอ็กเคานต์ประเภทนี้เพิ่มเพื่อนมาโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน โดยมีความพยายามจะสานสัมพันธ์เชิงชู้สาว เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าภาพโพรไฟล์นั่นเป็นรูปบุคคลนั้นจริง ๆ หรือไปขโมยรูปคนอื่นมาแอบอ้าง หากเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะนำไปสู่การหลอกลวงว่ารักแล้วเอาให้โอนเงิน หรือหลอกให้ส่งภาพลามกให้ แล้วนำมาใช้แบล็กเมล์กับเหยื่อต่อไป หรือนำไปปล่อยสร้างความเสียหาย
2. แอ็กเคานต์ประเภท “อวดร่ำอวดรวย”
แอ็กเคานต์ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีกลิ่นตุ ๆ ที่หลายคนดูออกตั้งแต่แรกแล้วเป็นพวกแอ็กเคานต์หลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง แชร์ลูกโซ่ ออมทอง หรือขายตรงเพ้อฝัน หรือชักชวนอย่างแนบเนียนให้เล่นการพนันออนไลน์ โดยสร้างโพรไฟล์ในบัญชีโซเชียลมีเดียให้ตนเองดูเป็นคนที่ร่ำรวย คนที่ประสบความสำเร็จ มีบ้านหรูราคาหลายล้าน มีรถยนต์หรูแบรนด์ดัง แต่ก่อนจะมีวันนี้ชีวิตเคยเป็นคนล้มเหลวมาก่อน เคยทำนั่นทำนี่แล้วเจ๊งจนหมดตัว เคยอดมื้อกินมื้อไม่มีที่ซุกหัวนอน แต่ทุกอย่างพลิกตาลปัตรเมื่อพยายามใช้เงินที่มีอยู่น้อยนิดมาลงทุนในสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วกลายเป็นว่าผลลัพธ์มันปัง จากยาจกกลายเป็นเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน มันดีมันปังจนต้องส่งต่อความรวยให้คนอื่น
แม้หลายคนจะมองออกว่าแอ็กเคานต์ที่มักจะมีโพสต์ในทำนองที่ว่าได้เงินมาจากการลงทุน หรือทำธุรกิจบางอย่างที่ได้ผลตอบแทนสูง ๆ ทั้งที่เริ่มลงทุนได้ด้วยเงินหลักสิบบาท จะเป็นแอ็กเคานต์หลอกลวงชวนลงทุน หรือ Hybrid Scam เพราะถ้ามันรวยจริง คนเราไม่มาบอกต่อเคล็ดลับความรวยกันง่าย ๆ แบบนี้หรอก เก็บเงียบเพื่อรวยคนเดียวดีกว่า แต่คนประเภทที่หวังจะพลิกชีวิตตัวเองให้ได้แบบโฆษณากล่าวอ้าง อยากรวยเร็ว อยากรวยทางลัด หรือคนโลภอยากรวยกว่านี้มันก็มีไม่น้อย จนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในที่สุด มักมีความเสียหายหลักล้านเลยทีเดียว เพราะลงทุนน้อยได้ผลตอบแทนก็สูงอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าลงทุนเพิ่มก็จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปอีก จึงไปหากู้หนี้ยืมสินมาลงทุนเพิ่ม
3. แอ็กเคานต์ประเภท “ต่างชาติวัยเกษียณ”
หลายคนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพที่สร้างโพรไฟล์ว่าตัวเองเป็นชาวต่างชาติวัยเกษียณตามหามิตรแท้หรือรักแท้ เพื่อที่จะขอมีความสุขในช่วงบั้นปลายชีวิตที่เหลือเวลาอยู่ไม่มาก ก็เพราะค่านิยมและรสนิยมส่วนตัว เช่น การเลือกคบแต่คนต่างชาติเพราะมีสเปกเป็นคนต่างชาติ การเลือกคบแต่คนที่มีอายุมากกว่าเป็นผู้ใหญ่กว่า แต่พอเป็นคนต่างชาติด้วยโพรไฟล์ก็ยิ่งน่าสนใจ หรืออาจเป็นเพราะความเหงาและอยากมีคนที่เข้าใจชีวิตเป็นเพื่อนคุยต่างวัย ด้วยมองว่าคนวัยเกษียณผ่านชีวิตมาเยอะ เจออะไรมาหลายอย่าง น่าจะเป็นเพื่อนคุยที่ดี และไม่แน่ว่าอาจสานสัมพันธ์กันต่อได้ไม่ยาก
ถ้าเจอคนดีก็ดีไป ความรักในรูปแบบนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่ถ้าเจอมิจฉาชีพก็เสียหายหลายแสน บางทีเสียไปเป็นแสนแขนไม่ได้จับก็มี เพราะคนที่คุยอยู่ด้วยนั้นอาจไม่มีตัวตนอยู่จริง ๆ อาจเป็นโพรไฟล์แอบอ้าง หรือเป็นมิจฉาชีพคนไทยด้วยกันเองที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ สร้างโพรไฟล์ว่าตัวเองเป็นชาวต่างชาติวัยเกษียณอยากมีความรักอีกครั้ง จึงส่งข้อความมาหาหรือเพิ่มเพื่อนเพื่อสานสัมพันธ์เชิงชู้สาว คุยไปคุยมาก็อ้างว่าตั้งใจจะย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ประเทศไทยและจะส่งทรัพย์สินนั่นนี่มาให้ แล้วค่อย ๆ พยายามขอนั่นขอนี่ หลอกให้เหยื่อรักและเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ จากนั้นก็หายไปเลย
4. แอ็กเคานต์ประเภท “หน่วยงานรัฐ (ปลอม) รับช่วยเหลือ”
ในช่วงที่มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ๆ เราจะเห็นแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียประเภทที่อ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานรัฐรับช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์มีอยู่เกลื่อนโซเชียลมีเดีย เพราะมีการซื้อโฆษณาเพิ่มการมองเห็น หรืออย่างในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักจนคนตกงานกันมากมาย ก็จะมีแอ็กเคานต์เหล่านี้แอบอ้างตัวว่ามีความเกี่ยวข้องกับกรมจัดหางาน แอบอ้างเสนองานเพื่อหวังสร้างรายได้ให้คนตกงาน แต่เมื่อเหยื่อหลวมตัวกดเข้าไป ก็อาจเป็นลิงก์ปลอมที่ฝังมัลแวร์ลงอุปกรณ์ของเรา เป็นแบบฟอร์มหลอกถามข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ โดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน หรือบอกว่าจะจองงานนั้นงานนี้ไว้ให้ แต่ต้องจ่ายเงินค่าจองงานเอาไว้ก่อน เพื่อให้เหยื่อโอนเงินไป
นี่เป็นแอ็กเคานต์ที่หากินกับความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์อย่างแท้จริง หลอกให้ความหวังบนความสิ้นหวังของคน แอบอ้างรับช่วยเหลือคนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพแล้วหลอกซ้ำ ด้วยการลงโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ อ้างเป็นหน่วยงานของรัฐเปิดบริการรับแจ้งความ หรือให้ความช่วยเหลือในการติดตามทรัพย์สินจากคนร้าย จากนั้นจะหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยอ้างว่าเป็นขั้นตอนในการติดตามเงินคืน หรือค่าใช้จ่ายในการติดตามคดี หรือหลอกว่ามีงานให้ทำจะได้มีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ก็หลอกให้เหยื่อโอนเงินที่มีอยู่เพียงน้อยนิดไปก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ทั้งงาน ไม่ได้ทั้งเงิน และเสียรู้ เสียเงินเพิ่มอีก ต้องระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อ
5. แอ็กเคานต์ประเภท “แอ็กหลุม แอ็กปลอม”
จริง ๆ แล้ว แอ็กเคานต์ 4 ประเภทที่เอ่ยถึงก่อนหน้านี้ ก็อาจเข้าข่ายเป็นแอ็กฯ หลุม แอ็กฯ ปลอม เหมือนกันหมด เพราะมีเป้าหมายชัดเจน (แต่เราไม่รู้) ว่าสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกลวง บางทีเราอาจจะเห็นว่ามีคนเพิ่มเพื่อนมา แต่พอลองเข้าไปสืบดูโพสต์เก่า ๆ ก็พบว่าเป็นแอ็กฯ ที่แชร์แต่ข่าว ร้านอร่อย ๆ ที่เที่ยวสวย ๆ แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่เคยมีโพสต์บ่น ๆ แบบแอ็กเคานต์ปกติของคนทั่ว ๆ ไป ไม่มีรูปภาพที่บ่งบอกได้ว่าเป็นคนที่เรารู้จักหรือเปล่า ชื่อแอ็กฯ ก็แปลก ๆ แล้วที่สำคัญก็คือ ไม่รู้ว่าจะเพิ่มเราเป็นเพื่อนทำไม เพราะเท่าที่ดูไม่น่าจะรู้จักกัน
ถ้าเจอแอ็กเคานต์ประเภทนี้เพิ่มเพื่อนมา ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไรน่ากังวล ต่อให้เรากดรับเป็นเพื่อนก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายถ้าเราไม่หลงเชื่อซะอย่าง แต่ในความเป็นจริง ถ้ามีแอ็กเคานต์ประเภทนี้เพิ่มเพื่อนมาก็ต้องระวังให้มากเช่นกัน เพราะมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสเข้ามาสอดส่องแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียของเรา ด้วยจุประสงค์ที่ไม่หวังดี คือเข้ามาเพื่อศึกษาว่าเรามีไลฟ์สไตล์การเล่นโซเชียลมีเดียอย่างไร ชอบโพสต์อะไร เวลาโพสต์บ่นนู่นนั่นนี่ใช้สำนวนประมาณไหน ชอบไปที่ไหนทำอะไร หรือตั้งใจเข้ามาเอารูปภาพของเราเพื่อไปใช้ในการสร้างบัญชีปลอมของมิจฉาชีพ แล้วเอาไปหลอกลวงคนอื่นอีกทีก็ได้ กว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็เสียหายไปเยอะ