ศบค. รับยอดติดเชื้อโควิดน่าห่วง กทม.ยังหนัก เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง ให้เร็วที่สุด สร้างภูมิคุ้มกัน
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ว่าสถานการณ์ของไทยน่าเป็นห่วง อีกทั้ง สายพันธุ์เดลต้าที่เข้ามาใหม่มีการแพร่เชื้อที่เร็ว แต่การแพร่ระบาดในช่วงหลังจะมีการแพร่ระบาดจะอยู่ในพื้นที่แออัดอย่างเช่น โรงงาน และลามไปยังครัวเรือนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เมื่อมีมาตรการปิดแคมป์ ทำให้ผู้ติดเชื้อเดินทางไปต่างจังหวัด ซึ่งในต่างจังหวัดได้รับการประสานงานและควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะต้องติดตามดูในอีกสักระยะหนึ่งถึงสองเดือนข้างหน้า หากประชาชนช่วยกันลดการแพร่เชื้อในระยะนี้ตัวเลขก็จะค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้ยังต้องจับตาดูกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เพราะอยู่ในช่วงที่อาจจะเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ มาตรการสำคัญคือเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด ซึ่งหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วในคนกลุ่มนี้ รอประมาณ 2 สัปดาห์ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นและจะลดอัตราการเสียชีวิตได้
ส่วนการจัดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ได้มีการลงนามไปแล้ว 2 ฉบับ คือฉบับแรกเป็นการสัญญาในเรื่องของข้อมูลวัคซีน ฉบับที่ 2 เป็นฉบับจองวัคซีน และฉบับสุดท้ายคือ สัญญาการซื้อวัคซีน เนื่องจากการจัดซื้อวัคซีน ประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก และเงื่อนไขส่วนใหญ่บริษัทผลิตวัคซีนจะเป็นผู้ตั้งเงื่อนไข จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง และเมื่อสั่งซื้อไปแล้วก็จะพยายามเร่งรัดให้นำวัคซีนเข้าประเทศให้เร็วที่สุด ซึ่งทางบริษัทวัคซีนไฟเซอร์ ได้กำหนดระยะเวลาการส่งมอบไว้ในช่วงไตรมาสที่ 4
ดังนั้น ถ้าหากหยุดการระบาดไม่ได้ ก็ควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุให้เร็วที่สุด รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในภาวะที่มีการระบาดเยอะ หากเดือนนี้ร่วมมือกันเต็มที่ก็จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
ศบค. โชว์ดีลวัคซีนโมเดอร์นา ปัดทำล่าช้า แค่รอวางเงินแล้วลงนาม ขณะ รอชัดเจนฉีดเข็ม 3 ป้องกันกลายพันธุ์
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึง ความชัดเจนของวัคซีนทางเลือก ที่จะเข้ามาในประเทศไทย ว่า วัคซีนที่รัฐจัดหาให้จะมี 5 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค , แอสตราเซเนกา จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไฟเซอร์ และสปุตนิกวี และอีก 2 ยี่ห้อที่เอกชนสามารถจัดหาเองคือโมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม โดยองค์การเภสัชกรรมได้ติดต่อไปที่บริษัท โมเดอร์นา เพื่อให้นำเข้าวัคซีนในเดือนมิถุนายน แต่ได้มีการตอบกลับมาว่า ไม่สามารถทำให้ได้และทำให้ได้รวดเร็วที่สุด คือ ต้นปี 2565 และได้แจ้งว่าการจัดซื้อวัคซีนของวัคซีนโมเดอร์นา จะต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น จึงได้มีการประสานงานกันอยู่ตลอด โดยล่าสุดได้มีการประสานจัดซื้อได้วัคซีนเข้ามาในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งงบประมาณในการจัดซื้อเป็นงบประมาณของเอกชน สาเหตุที่ทำไมถึง องค์การเภสัชกรรม ไม่เซ็นสัญญา กับบริษัทผลิตวัคซีนนั้น ก็เพราะต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินที่จะซื้อมาให้ได้ก่อน เพื่อเป็นหลักประกันให้บริษัทที่ผลิตวัคซีน สำหรับวัคซีนตัวอื่นๆ ก็กำลังติดตามความคืบหน้าอยู่ตลอด ขณะเดียวกัน องค์การเภสัชกรรมก็ได้มีการทดลองวัคซีนของไทยอยู่ ซึ่งในเฟสแรกค่อนข้างเป็นไปได้ด้วยดี
สำหรับการเพิ่มอัตตราการฉีดเป็น 3 เข็มนั้น เนื่องจากไวรัสมีการกลายพันธุ์ และวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันผลการตอบสนองต่อโรคลดลง และองค์การเภสัชกรรมก็ได้มีการติดตามใกล้ชิด บริษัทที่ผลิตวัคซีนเกือบทุกราย โดยบริษัทที่ผลิตวัคซีนเกือบทุกรายพยายามจะปรับวัคซีน ตามเชื้อไวรัสที่เปลี่ยนไป ซึ่งคาดว่าปีหน้าอาจจะมีการกระตุ้นโดยการเพิ่มเป็นเข็ม 3 ซึ่งองค์การเภสัชกรรมกำลังวิจัยว่าเข็ม 3 ใช้วัคซีนต่างชนิดกันได้หรือไม่ พร้อมยืนยันว่าองค์การเภสัชกรรมไม่เคยหยุดนิ่งที่จะติดตามในทุกๆ เรื่อง
ศบค. ยันระบบสาธารณสุขไทย ยังใช้การดีทุกด้าน กำลังเร่งขยายเตียง เตรียม ICU และระดมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม ชี้ ยังจำเป็นให้รักษาที่บ้านได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมแพทย์ กล่าวถึงการขยายเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้มีการขยายเตียงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ อีกทั้งยังจะต้องมีการเตรียมเตียง ICU เพิ่มเติมด้วย นอกจากเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ให้แพทย์ที่จบใหม่เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยในช่วงนี้ นอกจากนี้ กำลังมีการคิดมาตรการ ที่จะให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยดูแลตัวเองที่บ้านได้ หรือ Home Isolation หรือ community Isolation จัดพื้นที่เป็นเฉพาะส่วนให้ผู้ป่วยเข้าไปอยู่แบบจำกัดพื้นที่ โดยมีกระบวนการเฝ้าดูระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย ซึ่งแนวคิดนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ได้กับทุกคน เพราะจะต้องมีห้องแยกเฉพาะให้กับผู้ป่วย ทั้งนี้ จากสถานการณ์ค่อนข้างตึง บางครั้งผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉินไม่ได้มาด้วยโรคโควิด แต่เมื่อคัดกรองก็พบว่า เป็นโควิดค่อนข้างเยอะ และยังพบหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อค่อนข้างมาก โดยแนวคิดดังกล่าว ได้มีการทดลองใช้งานแล้ว แต่หากนำมาใช้จริงจะต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการควบคุมและกำจัดโควิด-19ได้นั้น นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบการควบคุมโรคที่ดี ระบบรักษาพยาบาลที่เข้มแข็งและการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุม ดังนั้น รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายต่างๆ ที่ออกมาว่าดีพอสำหรับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ และจะต้องสื่อสารด้วยความจริง และโปร่งใส อีกทั้งประชาชนก็ร่วมมือป้องกันให้ได้มากที่สุด เพราะหากไม่ป้องกันอาจจำเป็นจะต้องใส่หน้ากากแม้แต่ในบ้าน
ส่วนการไม่มีเตียงรับผู้ป่วยจะเป็น ระบบสาธารณสุขล่มสลายของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น ขณะนี้ถือได้ว่าระบบสาธารณสุขของไทยยังคงใช้การได้ดีในทุกด้าน แต่ตัวเราเองจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะคงระบบสาธารณสุขไทยไว้ได้หรือไม่ หากทำ 5 ปัจจัยสำคัญนั้นไปได้ ระบบสาธารณสุขไทยก็จะไม่ล้มเหลว