คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง
เส้นทาง การเมือง ของ กรณ์ จาติกวณิช เส้นทาง พรรคกล้า
คําประกาศเข้าร่วมพรรคกล้าของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล มากด้วยนัยยะทางการเมือง
ด้านหนึ่ง เหมือนกับ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล มองเห็นอนาคตอันสดใสของพรรคกล้าที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช นัก “ปฏิบัตินิยม” เป็นผู้นำ
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนความล้มเหลวบนเส้นทางการเมือง
เป็นความล้มเหลวที่ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ไม่สามารถอยู่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ แม้จะเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เพราะในความเป็นจริง คือ ถูกปฏิเสธจากพรรคพลังประชารัฐ
แล้วเหตุใด พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล จึงเลือกที่จะร่วมเส้นางเดียวกับพรรคกล้า
คำตอบไม่ว่าจะมาจากตัวของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ไม่ว่าจะมาจาก นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เปี่ยมด้วยความฝันอันแสนงามทางการเมือง
เห็นว่าเป็นช่องทางที่จะปักธงในพื้นที่ภาคใต้
เนื่องจากในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกในภาคใต้ถึง 13 คน
ตัวเลขนี้เป็นบารมีของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล จริงหรือ
คําตอบของเรื่องนี้เห็นได้จากท่าทีของพรรคพลังประชารัฐต่อ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล
นับแต่หลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 บทบาทของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ก็ถูกบั่นทอนลง บั่นทอนลงกระทั่งไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป
เพราะว่าชัยชนะในภาคใต้มิได้มาจาก พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล
ตรงกันข้าม เป็นชัยชนะจากเกียรติภูมิของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างหากที่สามารถทะลวงเข้าไปในพื้นที่อิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ได้
คำถามอยู่ที่ว่าพรรคกล้าชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่
คําถามนี้ท้าทายต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช ท้าทายต่อ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี
เพราะพรรคกล้ามีรากฐานมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์และจำเป็นต้องต่อสู้กับพรรคพลังประชารัฐ
เพื่อสร้างทางเลือก “ใหม่” ให้กับประชาชนที่อยู่ “กลางๆ”