อุบัติแห่งปฏิบัติการเปิดโหวต “เสียงประชาชน” ในวันที่ 20 สิงหาคม เป็นอุบัติรอบ 2
ขณะที่หนแรกถือเอาสถานการณ์แห่งญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็น “สะพานเชื่อม” ไปยัง 11 รัฐมนตรีอันเป็นเป้าการอภิปราย
แต่หนนี้ตั้งประเด็นอยู่ที่ “8 ปี นายกรัฐมนตรี”
กระนั้น ไม่ว่าหนก่อนหรือหนนี้หากสำรวจแก่นแกนของ “เป้าหมาย” อย่างจริงจังก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นสำคัญ
เพียงแต่สะท้อน “พัฒนาการ” ในลักษณะ “แนวร่วม”
ไม่มีใครตอบได้ว่า ความริเริ่มในการโหวต “ออนไลน์” มีรากฐานเป็นมาอย่างไร
เพียงแต่รับรู้โดยมูลฐานว่าตอนอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเป็นความร่วมมือระหว่าง “นักวิชาการ” กับ “สื่อ”
เบื้องต้นเป็น 4 ในปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 6
นั่นก็คือ เป็น 6 นักวิชาการจาก 6 สถาบันการศึกษา นั่นก็คือ 6 สถาบันสื่อ ซึ่งด้านหลักอยู่ในพื้นที่ของสื่อออนไลน์ อันถือว่าเป็นสื่อใหม่
เนื่องจากเป็นการโหวตผ่าน “สมาร์ตโฟน”
นัยยะสำคัญของปฏิบัติการเปิดโหวต “เสียงประชาชน” อ่านออกได้อย่างไรในทางการเมือง
คำตอบ 1 เป็นปฏิบัติการของนักวิชาการ “รุ่นใหม่” ประสานกับคำตอบ 1 การสนองรับและร่วมมือของสื่อ “ยุคใหม่” ที่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลง
เท่ากับเป็นการสำรวจ “ประชามติ” และจัดทำ “โพล”
เพียงแต่โพลอันสะท้อน “เสียงประชาชน” นี้เป็นการสะท้อนมาจากประชาชนผ่านพื้นที่ของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำแดงความหลากหลายอย่างยิ่ง
โดยพื้นฐานเป็น “เรือนแสน” และมีโอกาสแตะ “หลักล้าน”
ไม่ว่าการสำรวจ “เสียงประชาชน” ครั้งก่อน หรือครั้งหลังมี “เป้าหมาย” อย่างเดียวกัน
เป็นเป้าหมายถึงคะแนนและความนิยมต่อรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก
นี่คือ “อุณหภูมิ” อันทรงความหมายในทาง “การเมือง”