แรกที่พรรคพลังประชารัฐก่อรูปขึ้นในปี 2561 คอการเมืองไม่ได้แคลงคลางกังขา
เพราะเมื่อดูมือไม้ที่เคลื่อนไหวไม่ว่าจะ เป็น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่ว่าจะเป็น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็พอจะมองออก
เมื่อประสานไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
เพราะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็เล่นบทอย่างนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 ขณะที่รัฐประหาร 2557 ก็มาจากการลงแรงของ “ลุงกำนัน”
มอง “รวมพลัง” ก็ทะลุ “พลังประชารัฐ”
แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวผ่าน “รวมไทยสร้างชาติ” มีความซับซ้อนมากกว่าเล็กน้อย
เป็นความซับซ้อนที่แม้จะมีการแตะมือไปยัง นายวิทยา แก้วภราดัย และดึงเอา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สวมบทเป็นเลขาธิการพรรค
แต่บทนำยังเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
แม้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี จะออกโรงอย่างแข็งขันระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานก็เก็บตัวเงียบเล่นบท “ที่ปรึกษา” นายกรัฐมนตรี
บทบาทของ “ลุงกำนัน” ก็ถูกกลบอย่างตั้งใจ
ต่อเมื่อ พรรคภูมิใจไทยออกเขย่าด้วยปฏิบัติการ 30 กว่าส.ส.ยื่นใบลาออกนั่นหรอก
ความพยายามจะ “เงียบ” และ “สุขุม” ในท่วงทำนองแบบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ถูกท้าทายอยย่างชนิดตีกลางแสกหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูก “รุก” อย่างชนิดรายวัน
จำเป็นต้องปรับขบวนครั้งใหญ่สะสางตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำความสะอาดห้องทำงานไว้รอท่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
ถึงเวลาต้องเล่นบท “นายกฯ น้อย” แล้ว
ไม่มีใครตอบได้ต่อบทบาทของหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติว่าจะเป็นอย่างไร
นี่ย่อมแตกต่างจากตอนที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ เล่นบทโฆษก แตกต่างจากตอนที่วางตำแหน่ง นายอุตตม สาวนายน อย่างแน่นอน
เส้นทาง “รวมไทยสร้างชาติ” จึงต่างจาก “พลังประชารัฐ”