อาการของ“พรรคกล้า”กำลังเหมือนกับอาการของ“น้าเน็ก”แห่งนินทาประเทศไทย เพียงแต่เรื่องของ“น้าเน็ก”สะท้อนความพลิกพลิ้วภายในโลกของ“ธุรกิจบันเทิง” ขณะที่เรื่องของพรรคกล้า สะท้อนลักษณะ“ฉวยโอกาส”ในทางการเมืองเป็นห้วง“หน้าสิ่วหน้าขวาน” เป็นภาวะ“โค้งสุดท้าย” อาการผงะของ“น้าเน็ก”จึงสะท้อนความเคยชินของคนที่อยู่ในวงการบันเทิง อาการของพรรคกล้าจึงสะท้อนความจัดเจนอันเป็นรากฐานก่อนเก่า อาจสร้างความสำเร็จ แต่ “ยั่งยืน” หรือไม่ยังเป็นคำถาม บทเรียนของ “น้าเน็ก” พิสูจน์ทราบรวดเร็วอย่างยิ่ง เพราะทุกอย่างเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพียง 1 หรือ 2 วันอาจยังไม่ได้คำตอบ อาจยังรู้สึกว่าความจัดเจนในการเอาตัวรอดของตนเป็นรื่องธรรมดาอย่างปกติยิ่งในวงการบันเทิง แต่เมื่อ“ความจริง”อีกด้านเริ่มแผ่แบออกมามากขึ้น มากขึ้น ประสานเข้ากับความรู้สึกโดยพื้นฐานที่ว่าไม่แฟร์กับ“ทิดไพรวัลย์” ปลายหอกจึงพุ่งเข้าใส่สถานะของ “น้าเน็ก” อย่างรุนแรง กว้างขวางและลึกซึ้ง จำเป็นต้องออกมาขอโทษ“ละกัน”อีกครั้งหนึ่ง กรณีของพรรคกล้า กรณีของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จำเป็นต้องใช้“เวลา” ปฏิกิริยาจาก “พี่เตา บรรยง” อาจเป็นความฉับไวและสำนึกที่ “กระสา” ต่อความละเอียดอ่อนในทางการเมืองอย่างเป็นพิเศษ การตอบโต้จาก นายกรณ์ จาติกวณิช อาจบรรเทาลงระดับหนึ่ง กระนั้น ลักษณะการฉวยโอกาสใน“โค้งสุดท้าย” ของพรรคกล้าด้วยการโหน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะติดตรึงไปกับพรรคกล้านานเท่านาน นี่หรือการเมือง “ใหม่” นี่หรือการเมือง “คุณภาพ” การฉกฉวยแต่ละจังหวะทางการเมืองเป็นลีลาของนักการเมืองเก่าผู้คร่ำหวอด เจนเวที ในเมื่อพรรคกล้าเสนอตัวเข้ามาเพื่อเป็นภาพเปรียบเทียบกับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งกลายมาเป็นพรรคก้าวไกลนี่คือ“พิมพ์”ในทางการเมืองอันเด่นชัด เด่นชัดว่า “กล้า” ต่างจาก “ก้าวไกล”อย่างไร