บทสรุปที่ว่า “ประเพณีตีงูให้หลังหัก” กำลังเป็น “บทเรียน” แหลมคมทางการเมือง
มีความจำเป็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่นจะต้องนำแต่ะละจังหวะก้าวของตนต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมาทบทวน
ทบทวนว่าเข้าลักษณะ “ตีงูหลังหัก” หรือไม่ อย่างไร
ความจริง ปฏิบัติการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อเดือนกันยายน 2564 ก็ต้องการจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้หมดสิ้นหนทางไปในทางการเมือง
ถามว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้กลายเป็น “ตีงูหลังหัก”
จำเป็นต้องย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางในการจัดการโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ถ้าตามแผนอย่างแท้จริงไม่เพียงแต่จะปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากตำแหน่งรัฐมนตรี หากแต่ต้องการให้พ้นไปจากพรรคพลังประชารัฐ
แต่เมื่อยังอยู่ในตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” ก็ยาก
ที่ยากเพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังไว้วางใจและยังให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคอยู่ต่อไป
กว่าจะจัดการก็ในเดือนมกราคม 2565
กระนั้น ภายในการจัดการโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็นุ่มนวลอย่างยิ่งยวด
ปฏิบัติการ “ขับ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐนั้นเองกลายเป็นเงื่อนไขกลายเป็นแต้มต่อใหม่ในทางการเมือง
นั่นก็คือ การแจ้งเกิดให้กับพรรคเศรษฐกิจไทย
ไม่เพียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะส่ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไปดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคอันเท่ากับแสดงเยื่อใยไมตรี
หากแต่ยังมี 15 ส.ส.ตาม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปด้วย
สถานะของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในพรรคเศรษฐกิจไทยจึงเหมือนพยัคฆ์เสียบปีก
พลันที่สามารถจัดการ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค นั่นเท่ากับสามารถยึดพรรคได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
งูที่เคยถูกตีจนหลังหักจึงเริ่มสำแดงพลานุภาพ