ยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” คือ ความแจ่มชัดใน “ยุทธวิธี” ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย
น่าสังเกตว่าเป็นความแจ่มชัดในสถานการณ์ที่มีการแต่งตั้งให้ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เข้าไปอยู่ในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการ” ครอบครัวเพื่อไทย
แล้วออก “ปฏิบัติการ” สำนองต่อ “ความแจ่มชัด” นี้
เมื่อมีความแจ่มชัดจาก “ส่วนกลาง” จึงไม่น่าแปลกใจที่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะมองผ่านสุรินทร์ ไม่ว่าจะมองผ่านอุบลราชธานีก็เปี่ยมด้วยความพร้อม
การผนึกตัวรวมพลังกับ “ศรีสะเกษ” จึงอึกทึก ครึกโครม
ความอึกทึกครึกโครมไม่เพียงยืนยันความพร้อมในพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ศรีสะเกษ
ภาพอันปรากฏเมื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และคณะเดินทางถึงท่าเรือบินจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมเป็นปราการด่านแรก
ก่อนไปขึ้นเวทีที่อุทุมพรพิสัย ราษีไศล ในกาลต่อมา
ยิ่งเมื่อเห็นการปรากฏตัวของ ส.ส.จากจังหวัดสุรินทร์ ประสานเข้ากับจากจังหวัดอุบลราชธานี แวดล้อมกับส.ส.ศรีสะเกษ ยิ่งเป็นพลัง
สะท้อนและยืนยัน “ความพร้อม” ของกำลังในพื้นที่
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้บังเกิดความแจ่มชัดจนสามารถกำหนดเป็น “ยุทธวิธี”
ไม่ว่าจะคำตอบจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะคำตอบจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ตรงกัน
นั่นก็คือ บทบาทต่อเนื่องของพรรคภูมิใจไทย
เด่นชัดอย่างยิ่งว่า หากพรรคเพื่อไทยปล่อยให้พรรคภูมิใจไทยแย่งชิงจำนวน ส.ส.กว่า 130 ในภาคอีสานไปได้ถึงเลข 60 นั่นหมายถึงหายนะ
ยุทธการ “แลนด์สไลด์” ต้องสะดุด หยุดลง แน่นอน
เมื่อความเป็นจริงจากพรรคภูมิใจไทยชัดเจน ความแจ่มชัดใน “ยุทธวิธี” ก็แจ่มชัด
แจ่มชัดว่าคู่ต่อสู้หมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทยคือ พรรคภูมิใจไทย มิใช่พรรคพลังประชารัฐ มิใช่พรรคประชาธิปัตย์ มิใช่พรรคชาติไทยพัฒนา
ยุทธการ “ไล่หนู ตีงูเห่า” จึงปรากฏและจะดำเนินต่อไป