วิธีปฏิบัติตัว เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย "ซึมเศร้า-ไบโพลาร์"

Home » วิธีปฏิบัติตัว เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย "ซึมเศร้า-ไบโพลาร์"
วิธีปฏิบัติตัว เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย "ซึมเศร้า-ไบโพลาร์"

ผู้ดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าหรือไบโพลาร์อาจเครียดในบางครั้งได้ เราจะสามารถเข้าใจผู้ป่วยและอยู่ดูแลพวกเขาโดยที่เราไม่เครียดไปด้วยได้อย่างไร

เป็นเรื่องดีที่ในสังคมไทยรู้จัก “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้น ว่าเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษา รับประทานยา และต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจากผู้คนรอบตัว ไม่ได้หมายความว่าคนคนนั้นอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต หรือไม่สามารถหายได้ด้วยการสวดมนต์นั่งสมาธิแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม อาจจะยังมีบางส่วนที่เป็นพ่อแม่ ญาติ แฟน สามีภรรยา หรือเพื่อนสนิท ที่อาจไม่เข้าใจความรู้สึกและการกระทำบางอย่างของผู้ป่วย พูดแค่นี้ทำไมต้องเศร้าขนาดนั้น เรื่องเล็กทำไมทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ จนอาจทำให้โกรธ หรือขุ่นเคืองใจกับผู้ป่วยได้ และอาจยิ่งทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลงโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจได้ นอกจากนี้ผู้ดูแลก็อาจจะเครียดตามไปด้วย

ดังนั้น ผู้ดูและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรทำความเข้าใจว่า ศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล และ ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ภาวะที่ผู้ป่วยเป็นนี้ไม่ใช่อารมณ์เศร้าธรรมดา หรือเป็นจากจิตใจอ่อนแอ หากแต่เป็นภาวะของความผิดปกติ เขากำลัง “เจ็บป่วย” อยู่ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่างๆ ในสมอง เกิดมีอาการต่างๆ ตามมาทั้งทางกายและใจ ซึ่งเมื่อได้รับการรักษาหายแล้ว อารมณ์เศร้าหมองก็จะดีขึ้น จิตใจแจ่มใสขึ้น การมองสิ่งรอบตัวก็จะเปลี่ยนไป อาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไป

หากญาติมีความเข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า มองว่าเขากำลังไม่สบาย ความคาดหวังในตัวเขาก็จะลดลง ความหงุดหงิด คับข้องใจก็ลดลง เรามักจะให้อภัยคนที่กำลังไม่สบาย มีข้อยกเว้นให้บางอย่าง เพราะเราทราบดีว่าเขาไม่ได้แกล้งทำ ไม่มีใครอยากป่วย

วิธีปฏิบัติตัว เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย “ซึมเศร้า-ไบโพลาร์”

มีข้อแนะนำในการดูแลผู้ป่วยดังนี้ 

  1. รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ โดยไม่ตัดสิน อารมณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อ่อนไหวมาก และ หลายครั้งเข้าใจยาก การรับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ตัดสิน จะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นที่มีคนพร้อมจะเข้าใจตัวเขาอย่างแท้จริง
  2. ชวนผู้ป่วยคุยบ้างเล็กน้อย ด้วยท่าทีที่สบายๆ ใจเย็น พร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ไม่คะยั้นคะยอว่าผู้ป่วยต้องพูดคุยโต้ตอบได้มาก เพราะท่าทีที่คาดหวังมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ที่ทำให้ญาติผิดหวัง
  3. เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดความรู้สึก ที่ไม่ดี ที่รู้สึกแย่ ต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย การที่ผู้ป่วยได้พูดได้ระบายออกมาจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้ อย่างมาก

ข้อควรทราบเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไบโพลาร์

  1. โรคนี้ไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป
  2. การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว

เมื่อได้รู้จักโรคซึมเศร้ากันแล้ว จะเห็นว่าโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ซึมเศร้าเท่านั้น แต่หากเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่บำบัดรักษา อาจนำมาสู่ปัญหาการทำงานและการดำเนินชีวิต และบางรายอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 

ดังนั้น หากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ชิดของคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป

  • ข้อควรระวัง เมื่อคนใกล้ตัวป่วยเป็น “ซึมเศร้า”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ