วัยทำงาน WFH เสี่ยง “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” มากกว่าที่คิด

Home » วัยทำงาน WFH เสี่ยง “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” มากกว่าที่คิด
วัยทำงาน WFH เสี่ยง “คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” มากกว่าที่คิด

การทำงานที่บ้าน ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยต้องทำงานที่บ้านทั้งวันมาก่อน เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะสบาย แต่แท้ที่จริงแล้วมีอันตรายแฝงมากมาย ทั้งการขยับเขยื้อนร่างกายระหว่างวันน้อยลง เนื่องจากไม่ได้เดินทาง ไม่ได้เดินไปคุยงานกับคนอื่น รวมถึงออฟฟิศซินโดรมถามหาจากการนั่งทำงานทั้งวันกับโต๊ะ เก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม

แต่นอกจากนี้ยังอันตรายที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome อีกด้วย

คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม คืออะไร?

อ. นพ.สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ภาวะคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ CVS (Computer Vision Syndrome) คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยเฉพาะการทำงานแบบ Work From Home ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ส่งผลให้ใช้สายตาจ้องอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนตลอดวัน โดยภาวะ CVS มักเกิดกับผู้ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน

อาการของคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

  • ปวดเมื่อยตา
  • ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง
  • ปวดบริเวณกระบอกตา ปวดศีรษะ หลัง ไหล่ หรือปวดต้นคอร่วมด้วย
  • ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา
  • ตาไม่สู้แสง

คำแนะนำจากแพทย์

  • กะพริบตาให้บ่อยขึ้น ชดเชยการนั่งจ้องหน้าจออุปกรณ์เป็นเวลานาน
  • ปรับความสว่างในห้องทำงาน และหน้าอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เหมาะสม
  • พักสายตาทุกๆ ชั่วโมง ตามหลัก 20 : 20 : 20 คือ การพักสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต ทุกๆ 20 นาที เป็นเวลา 20วินาทีต่อครั้ง
  • ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว
  • สวมแว่นสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากค่าสายตาที่ผิดปกติ ทำให้ต้องเพ่งหน้าจอเป็นเวลานาน อาจทำให้ปวดกระบอกตาได้

ควรจัดตารางการทำงาน และกิจวัตรประจำวันให้สมดุล หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติปวดศีรษะ ปวดตา ตาแห้ง เคืองตา ตามัว ควรปรึกษาจักษุแพทย์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ