วันชัย ออกตัวแรง ยุวุฒิสภา ต่อรองแก้รธน. ส.ว.หนุนทำประชามติ ลดแรงเสียดทาน

Home » วันชัย ออกตัวแรง ยุวุฒิสภา ต่อรองแก้รธน. ส.ว.หนุนทำประชามติ ลดแรงเสียดทาน


วันชัย ออกตัวแรง ยุวุฒิสภา ต่อรองแก้รธน. ส.ว.หนุนทำประชามติ ลดแรงเสียดทาน

ส.ว.หนุนทำประชาชามติ ลดแรงเสียดทานการเมือง ‘วันชัย’ ออกตัวแรง ขอทิ้งทวนใช้อำนาจวุฒิสภาชุดนี้ ต่อรองแก้ รธน. ตามประเด็นที่ต้องการ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 พ.ย.2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.ส่วนใหญ่ อภิปรายเห็นด้วยกับการทำประชามติ เพื่อลดแรงกดดันและความขัดแย้งทางการเมือง แต่มีเหตุผล และรายละเอียดแตกต่างกันออกไป ว่าจะทำประชามติในช่วงใด และการทำประชามติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง บางส่วนกังวลกับรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจกระทบกับประเด็นอ่อนไหว

นายมณเทียณ บญตัน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนโหวตผ่านญัตติดังกล่าวว่า ผู้เสนอญัตติดำเนินการตามกรอบกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะไม่ได้รับการพิจารณา โดยเหตุผลของการเสนอญัตติเป็นไปตามความเห็นทางการเมือง ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา ตนไม่ค่อยเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคม เพราะรัฐธรรมนูญที่เราเห็นว่าดีที่สุดหลายฉบับก็มีอันเป็นไป เพราะเป็นเงื่อนไขที่สังคมไทยร่วมกันสร้าง เมื่อมีรัฐธรรมนูญที่ทำให้กลุ่มอำนาจ หรือพลังทางสังคมเป็นผู้สูญเสีย ก็จะสวิงไปอีกทางหนึ่ง ถ้าสวิงโดยวิธีการปกติไม่ได้ ก็จะชอบสวิงโดยวิธีพิเศษ

ในยามที่บ้านเมืองมีวุฒิภาวะสูง และแยกแยะกติกาสากลร่วมกันได้ ปัญหานั้นจะไม่เกิด แต่ในยามใดที่มีความขัดแย้งสูงการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ประชาชนที่เห็นต่างหันมาเผชิญหน้าโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าต้องให้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วยลดความตึงเครียดทางการเมือง แต่ต้องแก้โดยคำนึงถึงความพอดี เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญอายุสั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ไม่เคยเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่มีฉบับไหนดี 100 เปอร์เซนต์ แต่เพื่อลดความขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เห็นสมควรจะต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง เพราะพิจารณาแล้วผลเสียมากกว่าผลดี หากทำวันเดียวกันประชาชนอาจจะสับสนและเป็นข้ออ้างของบางพรรคใดพรรคหนึ่งที่จะใช้หาเสียง ตนไม่อยากให้เป็นเรื่องการหาผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง

นายกิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากหารือกันแล้วพร้อมที่จะแก้ตนมองว่ามีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง หรือทำมติหลังการเลือกตั้ง แต่ตนมองว่าน่าจะเกิดหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลต่อไปมีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ และเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ คาดว่าจะใช้เวลา 2 ปีและจัดการยุบสภา การเลือกตั้งใหม่ด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าทำมติก่อนการเลือกตั้ง คิดว่าเวลาที่เหลือไม่น่าพอ และเหตุผลที่ว่าประหยัดงบประมาณตนคิดว่าไม่น่าใช่ เพราะในการจัดทำประชามติเป็นการลงทุนในระบอบประธิปไตย จะเสียเงินเท่าไหร่ก็ถือว่าคุ้มค่า ถ้าหากว่าประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. อภิปรายว่า ตนมีข้อกังวลในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผู้เสนอควรจะแจงรายละเอียดว่า ใครเป็นผู้แก้ไข แก้อย่างไร และมีขอบเขตอย่างไร การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ต้องคิดคำถามว่าจะถามประชาชนอย่างไร ไม่ให้เป็นการชี้นำ และเป็นไปตามกระแสเท่านั้น

ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ถ้าครม.ทำตามที่รัฐสภาเสนอ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาไม่น้อย 5-6 เดือน กว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระเดือนมี.ค. 2566 แม้เราจะมีมติเห็นชอบวันนี้ ก็ไม่ทันต่อการตัดสินใจของ ครม.ชุดนี้ ต่อให้มีรัฐบาลรักษาการณ์ ก็คงไม่มีใครเอาเรื่องใหญ่มาตัดสินใจและดำเนินการ การที่เราคัดค้านหรือประวิงให้ล่าช้าจะเสียโอกาส และเราจะยิ่งเสียไปกันใหญ่ เพราะตอนที่แก้รัฐธรรมนูญ เราก็บอกว่าแก้ไม่ได้ต้องไปทำประชามติ พอศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ทำประชามติ แล้วเขาเสนอให้ทำประชามติ หากเราคัดค้านจะยิ่งเสียกันไปใหญ่ และส.ว.จะกลายเป็นจำเลยทางสังคม

ส.ว.ชุดเราจะหมดวาระในเดือนพ.ค. 2567 เหลือเวลาปีครึ่ง แต่ถ้านับหลังเลือกตั้ง ส.ส.เดือนพ.ค. 2566 เราจะเหลือเพียง 1 ปี ถ้าไม่ร่วมมือกัน ไม่มีทางแก้เสร็จทันสมัย ส.ว.ชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ส.ว.ชุดนี้ ยังมีสิทธิโหวตนายกฯ ภายใน 1 ปี เมื่อเรามีสิทธิ มีโอกาสร่วมแก้ไข และผลักดัน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่มือของพวกเรา เราจะมีอำนาจต่อรองและมีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในที่สุดต้องถูกแก้แน่นอน เพราะดูจากเสียงของส.ส.ทั้งหมดแล้ว เขาตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน เพียงแต่จะแก้ในยุคส.ว.ชุดเรา หรือส.ว.ชุดหน้า

“หากปี 2567 หมดยุคเรา เราก็จะได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจะด้วยเหตุผลกลใด หรือการดึงเกม เราจึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไข และควรเร่งให้เกิดการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ