วรวุฒิ โรจนพานิช ผู้เคยเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002-2006 ชี้ปัญหาที่ไทยยังปิดดิลไม่ได้ เผยวิธีเจรจาคนจากภาครัฐลูกล่อลูกชนยังเป็นรอง จากภาคส่วนธุรกิจ
ความคืบหน้าการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท จากจำนวนเต็ม ที่กกท. เสนอขอรับการสนับสนุนไป 1,600 ล้านบาท ทำให้ กกท. ต้องหาภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอีก 1,000 ล้านบาท โดยเวลานี้มีภาคเอกชนใจดี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะสนับสนุนเงินราว 400 ล้านบาทนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน”บิ๊กวอ” นายวรวุฒิ โรจนพานิช ผู้มีประสบการณ์สูงในการนำบริษัท ทศภาค จํากัด ได้รับลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกัน และฟุตบอลโลก 2006 ที่ประเทศเยอรมนี โดยทศภาคเป็นเจ้าแรกที่นำฟุตบอลโลกมาถ่ายทอดสด 64 แมตช์ แบบไม่มีโฆษณาคั่น เปิดเผยว่า ตอนนั้นทศภาค ทำการตลาดมิติใหม่ และได้ดิวส์ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2002 กับ 2006 แบบรวมกัน แต่ตนไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ในเวลานั้นได้เพราะมีกฎของฟีฟ่าในการห้ามเปิดเผยความลับทางการค้าซึ่งเป็นคู่ค้ากับฟีฟ่า โดยเจรจากับบริษัท อินฟรอนท์ฯ ที่ดูแลขายลิขสิทธิ์ให้ฟีฟ่ายาวมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาของการเจรจาของไทยที่ยังไม่ลงตัวในครั้งนี้ตนขอพูดในแง่ของหลักการและให้ความรู้ เรื่องแรก ฟีฟ่าเปิดขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด 3 แพคเกจ 4 ปีล่วงหน้านับตั้งแต่จบฟุตบอลโลกแต่ละครั้ง แพคเกจ A จะมีฟุตบอลโลก รวมกับรายการต่างๆ ของฟีฟ่า รวม 8 รายการ และจะมีแพคเกจ B และแพคเกจ C สำหรับประเทศต่างๆ ที่สนใจเฉพาะฟุตบอลโลกรายการเดียว โดยอัตราค่าลิขสิทธิ์ที่เอเยนต์ฟีฟ่าเรียกเก็บจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับ จำนวนประชากร, ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของประเทศนั้นๆ หรือไม่, เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง หรือพูดกันภาษาชาวบ้านว่า แต่ละประเทศที่จะซื้อมีศักยภาพเท่าใดนั่นเอง ตนมองว่า ปัญหาของไทยคราวนี้คือ การเจรจากับฟีฟ่าที่ล่าช้าเกินไป ถ้าเราเจรจา 4 ปีเนิ่นๆ แล้วแก้ปัญหาทีละจุดคงไม่ต้องมาลุ้นกันในช่วงโค้งสุดท้ายแบบนี้
นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า วิธีการในเจรจากับบริษัท อินฟรอนท์ฯ วิธีคิดของคนที่มองในเรื่องของธุรกิจหรือคนจากภาคเอกชนที่ไปคุยนั้น จะมองกันคนละแบบกับคนจากภาครัฐ การเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมันต้องมีลูกล่อลูกชนต่างๆ มากมาย หลายๆ แบบทั้งการต่อรองราคา การนำเสนอเงื่อนไขต่างๆ นำไปสู่การลดราคาเพื่อให้เราได้ราคาที่ถูกที่สุด ตนไม่ได้บอกว่าในเมืองไทยมีตนเท่านั้นที่คุยได้ นักธุรกิจเก่งๆ หลายคนทำได้หมด เจรจาได้หมด สิ่งสำคัญคือ ลูกล่อลูกชนต้องดี หลายคนเข้าใจผิดคำว่า มัสต์ แครี่ ฟีฟ่ากำหนดไว้ชัดเจน จาก 64 แมตช์ สิ่งที่ต้องถ่ายลงฟรีทีวี 22 คู่ คือ รอบชิงชนะเลิศ, รอบรองชนะเลิศ, รอบชิงที่ 3, รอบ 16 ทีมสุดท้าย 8 คู่ และคู่เปิดสนาม รวมทั้งหมด 9 คู่ ส่วนอีก 9 คู่ ผู้ถือลิขสิทธิ์จะเป็นคนเลือกจากรอบแรก นั่นคือหลักสากลที่ทุกชาติทำกันกรณีซื้อฟูลแพคเกจ แต่ตอนหลังประเทศไทยดันมีกฎ “มัสต์ แฮฟ” ที่ระบุว่า ต้องถ่ายฟรีทีวีทุกนัด เอกชนก็ไม่กล้าลงทุน เป็นธรรมชาติของธุรกิจ นี่ก็เป็นปัญหาของการเจรจาในครั้งนี้ที่อินฟรอนท์ฯ ยังไม่ยอม
“ผมยืนยันว่าการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกเหมาะกับภาคเอกชนเข้าไปดำเนินการมากกว่าภาครัฐ แต่เมื่อดีลซื้อลิขสิทธิ์มาได้แล้ว ภาครัฐต้องเข้ามาร่วมมือกัน สนับสนุนในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ไปบังคับ”