รู้จัก "พระกริ่งปวเรศ" ชื่อนี้มีที่มา ตำนานพระเครื่องปางหมอยา ทำไมมูลค่าหลายสิบล้าน?

Home » รู้จัก "พระกริ่งปวเรศ" ชื่อนี้มีที่มา ตำนานพระเครื่องปางหมอยา ทำไมมูลค่าหลายสิบล้าน?
รู้จัก "พระกริ่งปวเรศ" ชื่อนี้มีที่มา ตำนานพระเครื่องปางหมอยา ทำไมมูลค่าหลายสิบล้าน?

รู้จัก “พระกริ่งปวเรศ” เปิดตำนานพระเครื่องปางหมอยา รุ่นแรกหายากที่สุดในวงการพระเครื่อง ยากยิ่งกว่าพระชุดเบญจภาคี  

พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดให้สร้างขึ้น มีพระพุทธรูปลักษณะ ปางหมอยา ถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่องตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สืบมาถึงปัจจุบัน 

ทำไมเรียกว่า “พระกริ่ง”

การสร้างพระกริ่งเริ่มต้นที่ทิเบตและจีน จึงเรียกพระกริ่งทิเบตและพระกริ่งหนองแส ต่อมานิยมสร้างในเขมร เรียกว่า พระกริ่งอุบาเก็ง หรือพระกริ่งพนมบาเก็ง และพระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์ พบว่าขอมได้สร้างพระกริ่งปทุมขึ้นอย่างแพร่หลายทุกยุค ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศบูชาแด่พระพุทธไภษัชยคุรุ ซึ่งได้มีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ภายหลังแพร่หลายในหมู่ชาวไทย ลาว สำหรับประเทศไทย การสร้างพระกริ่งปรากฏเป็นหลักฐาน ก่อนยุครัตนโกสินทร์ บ้างว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา บ้างว่าตั้งแต่สมัยสุโขทัย

พระกริ่งนิยมมีการบรรจุเม็ดกริ่งเป็นเม็ดโลหะเล็ก ๆ ไว้ภายในองค์พระ เพื่อเขย่าแล้วเกิดเสียงเวลาสวดมนต์ขอพรจากพระพุทธองค์ พระกริ่งมี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ สำหรับบูชาประจำบ้าน ขนาดเล็ก สำหรับทำน้ำมนต์และบูชาห้อยติดตัว ขนาดจิ๋วสำหรับบูชาติดตัว นิยมเรียกว่า พระชัยหรือพระชัยวัฒน์ นิยมสร้างนวโลหะ หรือโลหะทั้ง 9 ชนิด คือ ทองคำ เงิน ทองแดง พลวง ดีบุก สังกะสี ชิน ปรอท เจ้าน้ำเงิน ตามตำราของโบราณาจารย์

ปางหมอยา หรือ พระไภษัชยคุรุ 

พระกริ่ง มีรูปแบบทั่วไปคือเป็นพระพุทธรูปประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเฉพาะเพียงด้านหน้า พระหัตถ์ขวาแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา บนฝ่าพระหัตถ์มีหม้อยาหรือผลไม้ที่เป็นยาวางไว้ ซึ่งพุทธลักษณะคล้ายพระไภษัชยคุรุ จนเชื่อว่าพระกริ่งทุกองค์คือ พระไภษัชยคุรุ เป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายาน เป็นครูในด้านเภสัช รักษาพยาบาล ตามความเชื่อโบราณ นิยมนำพระกริ่งอธิษฐานแช่น้ำทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์แล้วดื่มกินด้วยความเชื่อว่า จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และเชื่อว่าช่วยขจัดอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย และด้านโชคลาภเมตตามหานิยม ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระกริ่งปวเรศนี้ทําน้ำพุทธมนต์ที่ใช้ในพิธีมุรธาภิเษก

พระพุทธรูปที่จัดว่าเป็นพระเครื่องในช่วงแรกนี้ มีทั้งทำจากดินและจากโลหะ แต่พระกริ่ง ได้รับการยอมรับและศรัทธาในสังคมมากกว่า ได้กล่าวโดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อาจเนื่องจากรูปแบบของพระกริ่งนั้นคือ พระไภษัชยคุรุ ในหนังสือตำนานพุทธเจดีย์ว่า พระกริ่งที่สร้างขึ้นทุกองค์เป็นพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตทั้งสิ้น และความเชื่อที่ว่าพระไภษัชยคุรุนั้น มีอำนาจพุทธานุภาพทำให้ผู้ที่บูชาหายจากความเจ็บป่วยไข้และพ้นภัยจากอันตรายทั้งปวง การสร้างพระกริ่งที่เป็นพระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคตขนาดเล็กขึ้น เพื่ออาศัยบารมีของพระไภษัชยคุรุนี้ ช่วยขจัดภยันตรายต่าง ๆ และให้ผู้ที่พกพาติดตัวระหว่างเดินทางปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง จึงเป็นมูลเหตุที่สำคัญในการนับถือพระกริ่งเป็นเสมือนเครื่องรางและนำติดตัว

พระกริ่งของไทย รับมาจากเขมร

นิราศนครวัด พระนิพนธ์ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงที่มาของพระกริ่งไว้ว่า ได้สืบหาเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ซึ่งเรียกกันว่าพระกริ่ง เป็นของที่นับถือและขวนขวายหากันในเมืองเรามาแต่ก่อน กล่าวกันว่าเป็นพระของ พระเจ้าปทุมสุริวงศ์สร้างไว้ เพราะได้ไปจากเมืองเขมรทั้งนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มาตั้งแต่ยังเด็กองค์หนึ่งจากคุณตา (พระยาอัพถันตริกามาตย์) เมื่อบวชเป็นสามเณรนำไปถวายให้ สมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทอดพระเนตร ท่านตรัสว่าเป็นพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แท้ ทรงอธิบายต่อไปว่า พระกริ่งพระเจ้าปทุมสิรยวงศ์นั้นมี 2 อย่าง เป็นสีดำ และ เป็นสีเหลืององค์ย่อมลงมากว่าสีดำ

ต่อมาเมื่อครั้งอยู่กระทรวงมหาดไทย พระครูเมืองสุรินทร์เข้ามากรุงเทพฯ เอาพระกริ่งมาให้อีกองค์หนึ่ง ก็เป็นอย่างสีดำ ได้พิจารณาเปรียบเทียบกันดูกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันไม่ผิดเลย จึงเข้าใจว่าพระกริ่งนั้นเดิมเห็นจะตีพิมพ์ทำทีละมาก ๆ และรูปสัณฐานเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยราชทูตต่างประเทศคนหนึ่งเคยไปอยู่เมืองปักกิ่ง ได้พระกริ่งทองของจีนมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่ากันแต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ถึงกระนั้นก็เป็นหลักฐานว่า พระกริ่งเป็นของจีนคิดแบบอย่าง ตามตำราในลัทธิฝ่ายมหายานเรียกว่า “ไภษัชยคุรุ” เป็นพระพุทธรูปปางทรงถือเครื่องบำบัดโรค คือบาตรน้ำมนต์หรือผลสมอ เป็นต้น สำหรับบูชาเพื่อป้องกันสรรพโรคาพาธและอัปมงคลต่าง ๆ เพราะฉะนั้นพระกริ่งจึงเป็นพระสำหรับทำน้ำมนต์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงสืบหาหลักฐานว่าพระกริ่งนั้นหากันได้ที่ไหนในเมืองเขมร พบพระเจ้าพระสงฆ์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้เรื่องหรือเคยเห็นพระกริ่ง ครั้นมาถึงพระนครวัดจึงมาได้ความจากเมอร์ซิเออร์ มาร์ซาล ผู้จัดการรักษาโบราณสถานว่า  เขาขุดซ่อมเทวสถานซึ่งแปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนาบนยอดเขาบาเกง พบพระพุทธรูปเล็ก ๆ อยู่ในหม้อใบหนึ่งหลายองค์ เอามาให้ดู พบว่าเป็นพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ทั้งนั้น มีทั้งอย่างดำและอย่างเหลือง ตรงกับที่สมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงอธิบาย “จึงเป็นอันได้ความแน่ว่าพระกริ่งที่ได้ไปยังประเทศเราแต่ก่อนนั้น เป็นของหาได้ในกรุงกัมพูชาแน่ แต่จะทำมาจำหน่ายจากเมืองจีน หรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาคิดหล่อขึ้นภายในประเทศขอม ข้อนี้ไม่ทราบ” 

ประวัติการสร้างพระกริ่งปวเรศในประเทศไทย

พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์โปรดให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างขึ้น มีพระพุทธรูปลักษณะ ปางหมอยา เป็นชื่อเรียกพระกริ่งที่สร้างโดยฝีมือของช่างสิบหมู่ หรือ ช่างหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. 2382–2434 ในอาณาจักรพระเครื่องรางที่นับถือว่ามีอานุภาพขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักนิยมพระเครื่องตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 สืบมาถึงปัจจุบัน 

พระกริ่งปวเรศเริ่มมีชื่อเสียงในวงแคบ ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมาถึงยุคของรัชกาลที่ 5 พระกริ่งที่โด่งดังในอดีตล้วนแต่เป็นพระกริ่งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ร่วมอธิษฐานจิต เนื่องจากพระกริ่ง และพระกริ่งปวเรศมีจำนวนการสร้างมากแต่จำนวนเกือบทั้งหมดถูกเก็บรักษาไว้ในกรุของวัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ทำให้บุคคลทั่ว ๆ ไปในยุคหลังสมัยรัชกาลที่ 5 แทบไม่เคยพบเห็นและรู้จัก

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ โปรดให้สร้างพระกริ่งปวเรศขึ้น โดยฝีมือของช่างสิบหมู่หรือช่างหลวง ตั้งแต่ พ.ศ.2382-2434 ตามประวัติมีการจัดสร้าง 6 ครั้ง ระบุจำนวนให้ทราบเพียง 2 ครั้ง รวมแล้วได้ 12 องค์ แต่ก็สร้างเพื่อพิธีสำคัญของพระมหากษัตริย์เท่านั้น มีเพียงครั้งที่ 6 เพื่อฉลองสมณศักดิ์สมเด็จกรมพระยาปวเรศ ที่อาจสร้างแจกเป็นที่ระลึกให้ข้าราชบริพาร พสกนิกร ในสมัยนั้นแต่ก็ไม่ระบุจำนวนการสร้าง และก็มีหลายแบบพิมพ์ทรง โดยคาดว่า พระกริ่งปวเรศของแท้ที่จัดสร้างโดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์นั้นมีไม่เกิน 30 องค์ ปัจจุบันหาชมได้ยาก โดยมี 1 องค์ถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดบวรนิเวศวิหาร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ อดีตอาจารย์และอดีตหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการเซียนพระและนักสะสมวัตถุมงคล ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการส่องพระเครื่องระดับต้นๆ ของประเทศ เผยว่า พระกริ่งปวเรศเป็นพระกริ่งของไทยรุ่นแรกและได้รับความนิยมสูงสุดและทรงคุณค่าสูงสุด เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับเฮียกวง กิติ ธรรมจรัส เซียนพระชื่อดัง คุยถึงเรื่องพระกริ่งปวเรศ ท่านบอกว่าพระกริ่งปวเรศ เป็นพระพุทธบูชาที่สูงที่สุดในบรรดาพระเครื่องทั้งหมด อยู่เหนือกว่าพระยอดนิยมชุดเบญจภาคี จึงมีคนที่จะมีโอกาสเห็น มีโอกาสอาราธนาเป็นเจ้าของพระน้อยมาก อีกทั้งพระกริ่งปวเรศมีจำนวนน้อยมาก ประมาณว่ามีเนื้อเหลือจำนวน 9 องค์ เนื้อแดงมีอีก 9 องค์ จะหาคนดูเป็นได้ยากมาก พระกริ่งรุ่นแรกๆ นั้น เป็นพระที่ดูยากที่สุด ยากจนไม่มีเซียนพระคนไหนกล้าเขียนออกมาเป็นตำราดูพระกริ่งปวเรศฯได้ 

พระกริ่งปวเรศ ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหารรังสรรค์ ต่อสุวรรณ/Rangsan Torsuwan fanpage

พระกริ่งในประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวงการพระเครื่องวัตถุมงคล

พระกริ่งกลุ่มวัดบวรนิเวศวิหาร 

  • พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งแบบแรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกว่า พระกริ่งปวเรศเพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นผู้สร้างขึ้น
  • พระกริ่งบัวรอบ หรือ พระกริ่งสุจิตโต มีพุทธลักษณะประทับบนฐาน บัวคว่ำบัวหงายจะมีกลีบบัวเพียงด้านเดียว 7 คู่  จัดสร้างเนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ (72 พรรษา) ปี พ.ศ. 2487
  • พระกริ่งไพรีพินาศ มีพุทธลักษณะประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย เป็นพระกริ่งรุ่นแรกที่จำลองแบบพิมพ์มาจาก พระบูชาไพรีพินาศ องค์ต้นแบบ ที่มีผู้นำมาถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ สร้างในโอกาสที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ.2495 

พระกริ่งกลุ่มวัดสุทัศน์เทพวราราม

พระกริ่งที่วัดสร้างได้รับความนิยมในวงการพระเครื่องและมีความเชื่อเรื่องอำนาจพุทธคุณมาก จุดเริ่มต้นสร้างโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)

  • พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รุ่นเทพโมลี เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สร้างขึ้นรุ่นแรก สร้างจากนวโลหะสีดำ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 7 คู่ ฐานด้านหลังเรียบไม่มีลวดลาย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบมองลงต่ำ พระเกศาขมวดเป็นก้นหอยซ้อนกัน 2 ชั้น พระหัตถ์ขวาแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ
  • พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รุ่นพรหมมุนี ท่านจัดสร้างขณะครองสมณศักดิ์ พระพรหมมุนี ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2455–2465 มีชื่ออื่น เรียก เขมรน้อย พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่
  • พระกริ่งเจ้าคุณศรี (สนธิ์) รุ่นอุดผงอุดพระเกศา จัดสร้างโดยดำริของอาจารย์หนู (นิรันตร์ แดงวิจิตร) มีการบรรจุผงวิเศษและเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เส้นจีวร องค์พระกริ่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการแต่งมือตอกเป็นเม็ดไข่ปลา
  • พระกริ่งเจ้าคุณศรี (สนธิ์) รุ่นประภามณฑล เป็นพระกริ่งที่เจ้าคุณศรีสร้างขึ้นหลายรุ่นระหว่าง พ.ศ. 2485–2487

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ