ถ้าคุณพิมพ์ชื่อ Richard Dunne (ริชาร์ด ดันน์) ลงใน Google คุณจะพบว่าคีย์เวิร์ดแรกที่ตามหลังชื่อของเขาคือ Own Goals (ยิงเข้าประตูตัวเอง)
สาเหตุเพราะเขาเป็นเจ้าของสถิติยิงประตูตัวเองมาที่สุดในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก … 10 ลูกเน้น ๆ นำเดี่ยวแบบไม่มีใครเข้าใกล้ และนั่นทำให้ใครหลายคนมองเขาในแง่มุมของความตลกเฟอะฟะ หากเอ่ยชื่อของเขาขึ้นมา
อย่างไรก็ตามคนเราก็เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน … หากด้านหนึ่ง ดันน์ เป็นจอมทำลายตาข่ายในฝันของทีมฝั่งตรงข้าม
แล้วเหรียญอีกฝั่งในตัวของเขาล่ะคืออะไร ? … ติดตามหลายเรื่องที่หลายคนไม่เคยรู้เกี่ยวกับเขา แง่มุมที่ยิ่งใหญ่ของตัวตลกในสายตาใครหลายคนได้ที่นี่
กองหลังโบราณ
ยุคนี้หากทีมเงินถุงเงินถังที่ต้องการนักเตะกองหลังตัวหลักที่จะพาทีมไปคว้าโทรฟี่สักใบ เชื่อว่าพวกเขาคงต้องเอานักเตะอย่าง เฟอร์กิล ฟาน ไดจ์ค เป็นบรรทัดฐาน
กล่าวคือกองหลังที่เป็นผู้นำในเกมรับ สามารถสั่งการทุกคนในทีมได้ อ่านทางบอลเก่ง มีความเร็ว มีร่างกายสูงใหญ่แต่ปราดเปรียว และที่สำคัญคือการออกบอลระยะ 50-60 หลาได้แม่นยำในระดับน้อง ๆ มิดฟิลด์เชิงสูงสักคน … เทรนด์กองหลังของโลกเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งหมดนี้คือคุณสมบัติที่นักเตะกองหลังสำหรับทีมระดับท็อปควรต้องมีให้ครบ … ไม่งั้นพวกเขาก็จะกลายเป็นแค่กองหลังโบราณทั่วไป แบบที่ ริชาร์ด ดันน์ เป็นเมื่อครั้งอดีต
Photo : manchestereveningnews.co.uk
คำว่ากองหลังโบราณ มันมีความหมายตรงตัวไม่ต้องตีความอะไรมากมายเลย หากจะพูดให้เขาใจง่าย ๆ ก็คือกองหลังที่มีหน้าที่หลักหน้าที่เดียวนั่นคือ “สกัดเอาไว้ อย่าให้คู่แข่งได้ง้างเท้ายิง” หน้าที่ของปราการหลังโบราณมีแค่นั้นจริง ๆ … โดยเฉพาะในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มีตัวอย่างชัดเจน และเห็นที่มาจากอดีตได้มากมายหลายคน
ริชาร์ด ดันน์ อดีตกองหลังของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ แอสตัน วิลลา คือหนึ่งในนั้น และสไตล์ของเขาอธิบายคำจำกัดความดังกล่าวได้อย่างดี กองหลังที่ตัวใหญ่ หนา เทอะทะ มีศิลปะการเล่นลูกกับเท้าที่ค่อนไปทางแย่ บอลมาทางไหนหวดกลับไปทางนั้น หรืออย่างดีที่สุดคือการเล่นบอลง่าย ๆ ป้ายต่อให้เพื่อนร่วมทีมไปคิดสเต็ปต่อไป และนั่นทำให้ภาพลักษณ์เขาดูไม่ค่อยจะได้รับการนับหน้าถือตาสักเท่าไหร่
ก่อนหน้าที่ดันน์ จะดังขึ้นมาในช่วงปี 2000 คำว่าปราการหลังโบราณไม่ได้ถูกมองในแง่ลบแบบนั้น นักเตะอย่าง สตีฟ บรูซ, โทนี่ อดัมส์, แกเรธ เซาธ์เกต, สตีฟ ฮาวีย์, มาร์ติน คีโอว์น หรือแม้กระทั่ง โซล แคมป์เบลล์ ต่างก็เป็นกองหลังสไตล์นั้น และหลายคนได้รับความชื่นชมอย่างมาก พวกเขาถูกกล่าวถึงในแง่ของผู้นำ ตัวสูงใหญ่ที่สุดในทีม ยิ่งกว่าการป้องกันคือการข่มขวัญคู่แข่ง นักเตะพวกนี้ไม่เคยกลัวใคร เตะเป็นเตะ หวดเป็นหวด กองหน้าต่างชาติคนไหนเปรี้ยว ๆ แข้งเหล่านี้ซัดยับแบบว่าเอาจนแหยง … แบบนี้แหละที่คนดูยุคนั้นชอบ
คำถามคือทำไมนักเตะรายชื่อที่กล่าวมาได้รับการยอมรับว่าเป็นปราการหลังจอมแกร่ง แต่ ริชาร์ด ดันน์ ที่เล่นในแบบคล้าย ๆ กัน กลับโดนมองและถูกตัดสินคนละแบบล่ะ ? …. คำตอบที่ชัดเจนที่สุดคือ “ยุคสมัย” ยังไงล่ะ
ย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 90s ลีกอังกฤษยังเพิ่งตั้งไข่กันหมาด ๆ พวกเขารีแบรนด์ ดิวิชั่น 1 เป็น พรีเมียร์ลีก เพื่อเพิ่มมูลค่ากันในปี 1992 และใช้เวลากันพอสมควร กว่าที่ตลาดจะเปิดกว้าง และนักเตะต่างชาติจะเริ่มย้ายเข้ามา
เพราะช่วงเวลานั้นทีมจากอังกฤษไม่มีเงินจ้างนักเตะจากต่างประเทศในระดับที่เก่งจริง ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน มันเป็นยุคทองของฟุตบอลอิตาลี ใครที่ว่าเก่ง ๆ พวกเขาจะไปรวมตัวกันที่นั่น จนมีวลีของยุค 90s ว่า “ไปโกยเงินลีร์ (ค่าเงินเดิมของอิตาลี) กัน” นอกจากนี้อังกฤษเองก็ไม่มีแรงดึงดูดนักเตะต่างชาติ สืบเนื่องจากพฤติกรรมสุดหยาบของ “ฮูลิแกน” อันธพาลลูกหนัง ที่ทำให้สโมสรของประเทศนี้ถูกแบนจากการแข่งขันสโมสรยุโรปถึง 5 ปีอีกด้วย
Photo : 80scasualclassics.co.uk
คุณพอจะเห็นอะไรชัดบ้างหรือยัง ? นักเตะที่กล่าวมา ทั้ง บรูซ, อดัมส์, คีโอว์น หรือคนอื่น ๆ พีกที่สุดในช่วงยุค 90s และนั่นเป็นยุคที่พวกเขาเจอแต่กองหน้าท้องถิ่น ที่เทคนิคไม่ได้ดีเด่น ไม่มีความเฉียบขาดมีลูกเล่นแพรวพราวเหมือนกับนักฟุตบอลต่างชาติ ซึ่งยุคนั้นก็มีคำว่า “กองหน้าโบราณ” ที่อธิบายถึงสไตล์ของดาวยิงในพรีเมียร์ลีกยุคนั้น ซึ่งตีความโดยง่ายจะแปลว่า นักเตะกองหน้าตัวใหญ่แข็งแรง เล่นในกรอบ 6 หลาเก่ง เล่นลูกกลางอากาศเก่ง พักบอลได้ … ซึ่งนั่นต่างกับนักเตะกองหน้าต่างชาติในยุคเดียวกันอย่างสิ้นเชิง
ในยุคที่ ไนออล ควินน์ กองหน้าเจ้าของความสูง 2 เมตร ซัดประตูระเบิดเถิดเทิงให้กับทั้ง แมนฯ ซิตี้ และ ซันเดอร์แลนด์, ดันแคน เฟอร์กูสัน โชว์โหดกับ เอฟเวอร์ตัน หรือแม้กระทั่ง เลส เฟอร์ดินานด์ ยิงหูดับตับไหม้กับ นิวคาสเซิล ณ เวลาเดียวกันนั้น ลีกอิตาลี มีกองหน้าอย่าง ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี, โรแบร์โต มันชินี, จอร์จ เวอาห์, กาเบรียล บาติสตูตา, โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์, เอ็นริโก เคียซา หรือแม้กระทั่ง โรนัลโด้ นาซาริโอ (R9)
เราไม่ได้จะบอกว่าใครเก่งกว่าใคร แต่ถ้าใครดูฟุตบอลมาทันยุคนั้น ก็น่าจะพอเห็นความต่างกันระหว่างกองหน้าจากลีกอังกฤษ กับอิตาลี เป็นอย่างดี และเรื่องการยอมรับในระดับสากล หรือแม้กระทั่งรางวัลและแชมป์ต่าง ๆ มันก็ยืนยันแน่ชัดแล้วว่า เหล่ากองหน้าจากลีกอิตาลีตอนนั้น คือตัวชี้วัดว่า กองหน้าต่างชาตินั้นมี “คลาส” ขนาดไหน
Photo : thesporting.blog
ที่จะบอกและสรุปตรงนี้คือ ริชาร์ด ดันน์ นั้นโชคร้ายที่เกิดช้าไปหน่อย … หากเขาเกิดเร็วกว่านี้สัก 10 ปี เขาจะเป็นกองหลังโบราณที่ได้ดวลกับกองหน้าโบราณ ดูสมน้ำสมเนื้อใช่ไหม ? แต่เมื่อโลกแห่งความจริงคือ เขามาแจ้งเกิดในระดับพรีเมียร์ลีกได้หลังจากยุค 2000s ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่ทีมใหญ่ ๆ ในอังกฤษอิมพอร์ทเอานักเตะต่างชาติเทคนิคสูงขึ้นมาสู่ทีมแล้ว เกมฟุตบอลก็เปลี่ยนไปมาก จากบอลโบราณโยนจากหลังไปหน้า กลายเป็นบอลคอนโทรล เน้นการครองเกมและเทคนิคพื้นฐาน
และสุดท้ายในยุคนั้น ดันน์ ต้องเจอกับนักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เฟร์นานโด ตอร์เรส, ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือเก่ากว่านั้นสักหน่อยในช่วงต้นยุค 2000s เขาต้องเจอกับแข้งต่างชาติอย่าง เธียร์รี่ อองรี, รุด ฟาน นิสเตลรอย หรือแม้กระทั่ง จิอันฟรังโก โซล่า … ชื่อแต่ละคนแค่ได้ยินก็หนาวดึ๋งแล้ว เรายังไม่มั่นใจเลยว่าในวันที่นักเตะกองหน้าที่เรากล่าวมาทั้งหมดอยู่ในช่วงพีกที่สุด กองหลังที่ดีที่สุดในยุคนี้อย่าง ฟาน ไดจ์ค จะจับพวกเขาอยู่หรือไม่ แล้วจะนับภาษาอะไรกับกองหลังโบราณ ที่เกิดช้าตกรุ่นอย่าง ริชาร์ด ดันน์ ทุกอย่างนี้แหละคือภาพจำของ ดันน์ ที่ไม่โดดเด่นนัก
และมันออกไปทางลบ หรือหนักสุด ๆ ก็ออกไปแนว ๆ ตัวตลกด้วยซ้ำไป เพราะถ้าคุณเปิดดูสถิติยอดแย่ตลอดประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีก คุณจะพบว่า ริชาร์ด ดันน์ มีชื่อติดอย่างสง่าผ่าเผยในฐานะ “กองหลังที่ยิงเข้าประตูตัวเองมากที่สุด”
จอมพังตาข่าย (ตัวเอง)
เมื่อต้องเจอกับกองหน้าต่างชาติที่ดุดันในแบบที่ไม่เคยเจอ ประกอบกับนักเตะอังกฤษในรุ่น ๆ เดียวกันก็อัพเลเวลเป็นกองหน้าเชิงสูง ทั้ง เวย์น รูนี่ย์, ไมเคิล โอเวน, เจอร์เมน เดโฟ หรือแม้กระทั่งตัวริมเส้นก็เปลี่ยนไปกลายเป็นนักเตะตัวเล็กที่จี๊ดจ๊าด พร้อมจี้เข้าใส่กองหลังทุกจังหวะ ทำให้มันเป็นปัญหาของกองหลังโบราณที่แจ้งเกิดช้าอย่าง ดันน์ โดยตรง
Photo : 90min.com
เขาช้ากว่า อืดอาดกว่า แพรวพราวน้อยกว่า มีไม่กี่อย่างที่จะทำให้เขาเอาชนะกองหน้าคู่แข่งได้คือ พละกำลัง ความใหญ่ และใจสู้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่พอ สำหรับฟุตบอลยุค 2000s ที่กำลังพัฒนาไปข้างหน้าทั้งเรื่องสรีระ แทคติก อย่างรวดเร็ว
ดันน์ เคยเล่าแบบชัดเจนเกี่ยวกับกองหน้า 2 ยุค (ยุค 90s และ 2000s) ว่ามีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และมันทำให้เขาต้องพยายามเปลี่ยนสไตล์การเล่นของตัวเองไปโดยปริยาย เขาจะใช้หลักสูตรที่เขาเรียนรู้มาตลอดในช่วงเป็นดาวรุ่งไม่ได้ เพราะกองหน้ายุคใหม่นั้น “มีมากกว่าการหาจังหวะยิงประตู”
“ผมเปรียบเทียบแบบนี้แล้วกันนะ นักเตะอย่าง เท็ดดี้ เชอริงแฮม เป็นพวกที่จะเอาตัวเองเข้าไปในกรอบเขตโทษ บางครั้งผมก็รู้ทั้งรู้ว่าที่เขาขยับเข้าไปเป็นเพราะต้องการทำทางและดึงกองหลังคนอื่น ๆ ให้ประกบเขา” ดันน์ เริ่มกล่าว
“ผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่เก่งนะ แต่การเจอกับกองหน้าที่ไม่เร็วมันง่ายกว่าสำหรับกองหลังอย่างคุณ เขาทำให้คุณคาดเดาอะไรได้ง่ายกว่า เวลาเจอกับเขาผมจะแบบ ‘เอาล่ะ ฉันจะขยับไปปิดมุมและพื้นที่ด้านหลังเขาดีกว่า’ และต่อให้เขาได้บอล สุดท้ายคุณก็ยังเวลามีเวลาพอที่จะได้เข้าถึงตัวพวกเขา การเจอกับกองหน้าแบบนี้มันทำให้คุณสามารถยืนไลน์เกมรับได้สูงกว่าเดิม และมันทำให้ทีมได้เปรียบ”
“ทีนี้คุณมาดู ไมเคิล โอเวน ถ้าคุณเจอจรวดทางเรียบแบบเขา คุณลืมไปได้เลยเรื่องการยืนสูงและทิ้งพื้นที่โล่ง ๆ ให้เขาได้วิ่งแม้กระทั่งแค่ 10 หลา … คนอย่างโอเว่นทำผมจำแม่น พริบตาเดียวเท่านั้น เขาพลิกแพลงและสร้างโอกาส พูดง่าย ๆ ก็คือ หาก เชอริงแฮม เป็นกองหน้าที่ใช้ดึงกองหลัง โอเวน ก็คือตัวที่วิ่งทะลุไลน์มาเล่นงานคุณนั่นแหละ”
“ที่สุดยอดจริง ๆ ก็คือ อองรี เพราะ อองรี คือร่างผสมระหว่าง เชอริงแฮม กับ โอเว่น … ถอยลงต่ำได้ เลือกวิธีการเล่นได้หลากหลาย จะจ่ายหรือเลี้ยงเข้าไปเอง หรือวิ่งอ้อมตัดหลัง เจอกองหน้าอย่าง อองรี ผมว่าไม่ต่างอะไรกับฝันร้ายนะ … ถ้าคุณถามผมว่าผมมีวิธีประกอบอองรีที่ดีที่สุดแบบไหน คุณฟังคำตอบของผมดี ๆ แล้วกัน”
Photo : planetfootball.com
“ผม … ภาวนาอย่างเดียว” ดันน์ เล่าอย่างตลกโปกฮา แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้เราได้เห็นภาพชัดว่า เขารับมือกับกองหน้าหลายแบบ ในยุคกลางยุค 90s เขาเจอ กับ เชอริงแฮม เขาบอกว่าพอไหว … ในช่วงกลางยุค 90s เขาเจอกับ โอเว่น เขาบอกว่ายากจะจัดการ และหลังช่วงยุค 2000s เขาเจอกับกองหน้าอย่าง เธียร์รี่ อองรี และเขาบอกว่า ไม่มีทางหยุดอยู่เลย…. เท่านี้ก็เป็นคำตอบที่บ่งบอกถึงยุคสมัยที่แตกต่างที่เขาได้เผชิญหน้าเป็นอย่างดี
และอีกครั้งที่ ดันน์ โชคร้ายจริง ๆ เพราะช่วงอาชีพของเขาดันเกิดขึ้นอย่างยาวนานและมั่นคงที่สุดหลังช่วงยุค 2000s นั่นทำให้เขาต้องใช้การ “ภาวนา” อยู่บ่อย ๆ และหลายครั้งที่เขาโชคร้าย บทสวดภาวนาของเขาอาจจะท่องไม่ครบจบ ที่สุดเขาเล่นจังหวะสุดท้ายและกลายเป็นคนที่ “ยิงเข้าประตูตัวบ่อย ๆ” จนทุกคนมีภาพจำของเขาแบบนั้น
ดันน์ มักจะมีปัญหาในแบบที่เขาบอก การเจอกับกองหน้าที่เร็วจัด และการที่เขาอยู่กับทีมในระดับที่ไม่ได้แกร่งมาก ในแต่ละเกมต้องยืนเล่นเกมรับกันเสมอ ดังนั้นจังหวะการเข้าบอลสุดท้าย มักจะเป็นเขาเสมอ โชคร้ายที่ในบางครั้งจังหวะสุดท้ายของเขามันช้าเกินไป หรืออะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายเขายิงเข้าประตูตัวเองไป 10 ลูกตลอดอาชีพค้าแข้ง นั่นมากที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกเคยมี
“ดันน์ เดินเข้าไปหาปัญหาเหมือนกับเด็ก ๆ ที่วิ่งเข้าหาอันตรายโดยไม่รู้สึกรู้สา เขาอยู่ในจังหวะสุดท้ายทุกครั้งไป เข้าใกล้ลูกบอลที่ชี้เป็นชี้ตาย โดยไม่รู้ตัวและหลังจากนั้น 2-3 วินาที บอลก็เข้าโกลตัวเองไปเสียทุกที” บทความที่มีชื่อว่า Anatomy of Own Goals (เจาะลึกการพังประตูตัวเอง) เขียนโดย ทอม วิคเตอร์ แห่งเว็บไซต์ Thesetpieces ว่าไว้เช่นนั้น
ปราการหลังตกรุ่น จอมเฟอะฟะ ไม่เสียจุดโทษก็ใบแดง ไม่ใบแดง ก็ยิงเข้าโกลตัวเอง … ซึ่งนั่นคือความโหดร้ายกับเขาเกินเบอร์ไปหน่อย เพราะถ้ามัวจำเขาแต่ในภาพนั้น นั่นแสดงว่าเขาไม่มีความดีใด หรือไม่มีแง่มุมไหนให้ชื่นชมเลยหรือ ? … ไม่ว่านักเตะคนนั้นจะย่ำแย่แค่ไหน แต่พวกเขาย่อมมีจุดเด่นในแบบของตัวเองเหมือนกัน เหมือนกับเหรียญที่มีทั้งสองด้าน เพียงแต่คนไปเลือกจำด้านที่จำง่ายกว่าเท่านั้นเอง
อีกด้านของตัวตลก
ริชาร์ด ดันน์ คือตำนานของ แมนฯ ซิตี้ … หากใครที่เพิ่งเริ่มดูบอลและเห็นความสำเร็จของ แมนฯ ซิตี้ ในยุคนี้และเอามาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ ดันน์ ทำ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เชื่อว่าคงขำตายชัก เพราะตามที่เล่ามาดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีอะไรดีเลยมิใช่หรือ ? ทำไมเขายังเป็นตำนานของทีม ๆ นี้ได้ ?
Photo : theathletic.com
ในทีม แมนฯ ซิตี้ ยุคปัจจุบัน มีเพียง เซร์คิโอ อเกวโร ที่ลงสนามให้กับต้นสังกัดมากกว่า ริชาร์ด ดันน์ (ดันน์ ทำไป 352 นัดรวมทุกรายการ) และเผื่อคุณไม่รู้ว่าย้อนกลับไปก่อนที่ แมนฯ ซิตี้ จะได้เงินทุนจากกลุ่มทุนอาบูดาบี ริชาร์ด ดันน์ คือ คัลท์ ฮีโร่ ของทีม ๆ นี้โดยแท้จริง
นับตั้งแต่ปี 2000 ที่ ดันน์ ย้ายเข้ามาจาก เอฟเวอร์ตัน โดยมีกุนซือ โจ รอยล์ เป็นคนนำพา ดันน์ คือคนที่เป็นผู้นำในห้องแต่งตัว และเป็นกัปตันทีมที่เพื่อน ๆ ให้ความเคารพ ได้รับความไว้วางใจจากกุนซือ และได้รับความรักจากแฟน ๆ ซิติเซนส์ เสมอมา โดยผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก เขาเป็นกองหลังและเป็นเด็กที่โตมากับบอลโบราณ นักเตะยังชอบดื่มเหล้าไม่ดูแลสุขภาพ เขาเองก็เคยเป็นแบบนั้น แต่เมื่อเขารู้ว่าตัวเองกำลังต้องฝากชีวิตไว้กับฟุตบอลยุคใหม่ ดันน์ ก็เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นนักเตะที่ดี เท่าที่เขาจะเป็นได้
“ตอนนั้นเราก้าวขึ้นชั้นไปพรีเมียร์ลีกใหม่ ๆ ผมจำได้ว่า ริชาร์ด ดันน์ เป็นคนที่คอทองแดงพอสมควร เขาไม่ค่อยสนใจอะไรมากนัก เป็นเด็กตัวใหญ่แต่ขี้ขลาดนะในความคิดของผม” หนึ่งในอดีตผู้บริหารของ แมนฯ ซิตี้ ก่อนที่ทีมจะได้เงินทุนจาก ทักษิณ ชินวัตร และส่งผ่านสู่ ชึค มานซูร์ ณ ปัจจุบัน กล่าว
“ริชาร์ด เป็นแบบนั้นจนถึงยุคที่ เควิน คีแกน เข้ามาคุมทีม คีแกนเอาจริงมาก เขาบอกในห้องแต่งตัวว่าเรากำลังมีปัญหา หมอนี่มันติดเหล้าและบอกให้เราเลือกขายเขาทิ้งไป”
“ทุกคนเข้าไปคุยกับ ริชาร์ด อย่างตรงไปตรงมา เราบอกเขาว่าเรามีเหตุผลมากพอที่จะเฉดหัวเขาออกจากทีม หากเขาต้องการแบบนั้นก็เชิญออกไปดื่มเหล้าต่อได้เลย … จากนั่น ดันน์ ก็เปลี่ยนไป เขาเหมือนกดปุ่มสวิตช์ไฟในสมอง เขาไม่กลับไปดื่มเหล้าอีกเลย และเดินมาบอกกับเราว่า ‘ผมไม่ต้องการย้ายไปไหน’ และหลังจากนั้นผมพูดตรง ๆ เลยว่า ริชาร์ด ดันน์ กลายเป็นกองหลังที่เยี่ยมยอดมากจริง ๆ”
สำหรับแฟนบอลท้องถิ่น พวกเขารักนักเตะของพวกเขาอย่างไร้เงื่อนไข ไม่ว่านักเตะคนนั้นจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่หากนักเตะคนนั้นทุ่มเทเพื่อแฟน ๆ และไม่เคยทำให้ศักดิ์ศรีของสโมสรแปดเปื้อน นักเตะคนนั้นจะได้รับความเคารพอย่างสุดใจ ซึ่ง ดันน์ เองเป็นคนประเภทนั้น เขาเป็น คัลท์ ฮีโร่ ที่มีคาแร็คเตอร์สู้ตายไปถอย เล่นบอลหนัก และไร้จินตนาการแบบกองหลังโบราณ แต่ที่แน่ ๆ เขาเต็ม 100% เสมอเมื่อได้โอกาสลงสนาม สุดท้ายความพยามนั้นทำให้เขาเป็นกัปตันทีม
“หนึ่งในความภูมิใจที่สุดคือผมถูกเรียกว่า City Skipper ผมได้รับตำแหน่งกัปตันทีมหลังจาก ซิลแว็ง ดิสแต็ง ย้ายทีม ตอนนั้นโค้ชเป็น สจ็วร์ต เพียร์ซ เข้ามา และเขาบอกผมว่า ‘ฉันรู้และเป็น .. นายคือกัปตันทีมของเราหลังจากนี้’ บอกเลยว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจมาก การได้เป็นผู้นำในสโมสรแห่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในผมเสมอมา” ดันน์ ว่าไว้
Photo : compare.bet
และถ้าแค่นั้นไม่มากพอ เราอยากจะบอกว่า ริชาร์ด ดันน์ คือนักเตะคนเดียวของสโมสร แมนฯ ซิตี้ ที่ได้รับการโหวตจากแฟน ๆ ให้เป็นนักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาลถึง 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2005-08 ซึ่งนั่นคือการยืนยันว่า หลายคนอาจจะจดจำการยิงประตูตัวเองของเขามากเกินกว่าที่จะแบ่งพื้นที่เรื่องดี ๆ เกี่ยวกับเขา
ซึ่งหากใครจะจำเขาแบบนั้น ดันน์ ก็เปิดเผยว่าเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะตัวเขาเองก็รู้ว่าสถิติดังกล่าวมันเด่นชัดจนถึงขั้นที่รบกวนเขาเหมือนกัน แต่ที่สุดแล้ว ก็เพราะเขาเป็นแบบนี้ กองหลังสไตล์โบราณที่ถูกสอนมาให้เข้าสกัดบอลทุกจังหวะ ทุ่มเททุกวินาที ซึ่งมากครั้งมันก็อาจจะไม่มากพอที่จะทำให้เขาทำได้ดีในการสกัดบอล 100% แต่เขาก็ได้พยายามในแบบของตัวเองแล้ว
“ผมเห็นกองหลังหลายคนนะที่พยายามข้ามบอลเมื่อบอลสุ่มเสี่ยงในกรอบเขตโทษ พวกเขากลัวหรือไงกันผมสงสัยมาก อยู่ดี ๆ ก็ดึงเท้าออก และถ้าเป็นอย่างนั้นกองหน้าอีกฝั่งก็จะเป็นคนได้บอล ตู้ม ! ส่งบอลเข้าประตูไป ส่วนพวกกองหลังก็พ้นผิดงั้นเหรอ ?”
“ช่วงขณะหนึ่งผมจะถามตัวเองว่า ‘นี่ฉันพอจะทำอะไรให้มันแตกต่างออกไปได้บ้าง ?” ซึ่งพูดตรง ๆ นะ มันยากมาเลย การยิงเข้าประตูทำให้ความมั่นใจของคุณหายไป ทางออกเดียวที่คุณพอจะทำได้ ณ ตอนนั้นคือดึงสติและภาวนา พูดกับตัวเองว่า “มันจะไม่เกิดขึ้นกับฉันอีกแล้ว” … และเมื่อเกมต่อไปมาถึง ก็ได้เวลาที่คุณต้องสู้กับความคิดนั้นใหม่ มันคือความรู้สึกก่อนเดินลงสนามว่า วันนี้ฉันจะยิงเข้าโกลตัวเองอีกหรือเปล่านะ”
“ที่สุดแล้วสำหรับผมมันไม่ใช่แบบนั้น วิธีของผมคือเมื่อมีโอกาสเข้าถึงบอล ผมพยายามทุกทางเพื่อไม่ให้บอลไปถึงคู่แข่งได้เล่น ตลอดชีวิตผมเคลียร์บอลจังหวะสุดท้ายมากมาย แต่น่าเสียดายที่ 10 ครั้งกลายเป็นโชคร้ายและบอลเข้าประตูตัวเอง ผมไม่ได้เจ็บปวด แต่ก็ยอมรับว่ามันทำให้ผมฝันร้ายพอสมควรกับสิ่งที่เกิดขึ้น”
แม้แต่ ดันน์ เองก็ยอมรับว่า การเป็นจอมยิงเข้าโกลตัวเอง คือสิ่งที่เขาไม่ชอบ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เหนือจากนั้น เขาคิดว่าเขาได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว หลังย้ายออกจาก แมนฯ ซิตี้ เขาไปอยู่กับ แอสตัน วิลลา และเป็นกัปตันทีม ในช่วงบั้นปลายเขาย้ายออกจาก วิลลา ไปอยู่กับ ควีนส์พาร์ก เรนเจอร์ส และตอนนั้น แฮร์รี่ เร้ดแน็ปป์ ก็มอบแขนกัปตันทีมให้เขา และอธิบายด้วยเหุตว่า “มันเป็นเรื่องของความเชื่อใจ”
Photo : 90min.com
และสุดท้าย ดันน์ ก็พา คิวพีอาร์ เลื่อนชั้นได้สำเร็จในปี 2014 ส่วนในฐานะทีมชาติเขาเป็นกัปตันทีมชาติไอร์แลนด์ ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในศึกฟุตบอลยูโร 2012 อีกด้วย … ไม่ว่าที่ไหนเขาก็เป็นกัปตันทีม นั่นมันต้องแปลว่าเขาคนนี้อะไรดีในตัวบ้าง มากกว่าที่สื่อจะนำเสนอเรื่องราวตลกโปกฮาและล้อเลียนเขา
ถ้าคุณไม่ได้เชียร์ทีมที่ ริชาร์ด ดันน์ เป็นนักเตะในสังกัด ไม่แปลกที่คุณจะมองว่าเขา “ไม่เท่าไหร่” แต่กลับกันในมุมมองของแฟน ๆ ซิตี้, วิลล่า, คิวพีอาร์ หรือแม้กระทั่ง ไอร์แลนด์ พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ในช่วงเวลาที่ ดันน์ อยู่กับทีม ดันน์ คือคนที่เล่นดีและเชื่อใจในตัวเขาได้เสมอ … ต่อให้เขาจะยิงเข้าโกลตัวเองเป็น 10 ลูกก็ตาม
“ริชาร์ด ดันน์ คือกองหลังชาวไอร์แลนด์ที่มีฟอร์มการเล่นและรักษามาตรฐานได้ดีที่สุดตลอดช่วงอายุของผมที่ได้ดูทีมชาติไอร์แลนด์แข่งขัน” พอล แม็คกรัธ อดีตนักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด และ ทีมชาติไอร์แลนด์ตอบคำถามที่ว่า “ริชาร์ด ดันน์ ในสายตาคุณเป็นอย่างไร ?”
และถ้าคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็เชื่อว่าอีกแง่มุมหนึ่งที่ ริชาร์ด ดันน์ ได้ทำตลอดช่วงอาชีพค้าแข้ง น่าจะมีแง่มุมดี ๆ ที่ลบล้างภาพจำแย่ ๆ ละทำให้ใครหลายคนเคารพในตัวของเขามากขึ้น … แม้แต่เพียงน้อยนิดก็ยังดี