ระบาดหนัก ฝีดาษลิง กลายพันธุ์ ‘Clade 1’ ติดเชื้อง่าย อันตราย 10 เท่า

Home » ระบาดหนัก ฝีดาษลิง กลายพันธุ์ ‘Clade 1’ ติดเชื้อง่าย อันตราย 10 เท่า

ฝีดาษลิง Clade 1

ระวังตัวให้ดี! ฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1) ระบาดรอบใหม่ในหลายประเทศ ติดต่อง่าย และอันตรายร้ายแรง อัตราตาย 10%

จากกรณี WHO องค์การอนามัยโลก ได้มีการประกาศให้ ‘ฝีดาษลิง’ เป็นภาวะฉุกเฉิน หลังพบการระบาดรุนแรงในหลายประเทศ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรป (ECDC) ก็ได้มีการออกมาเตือนภัยความเสี่ยงจากเชื้อ เอ็มพ็อกซ์ หรือฝีดาษลิง หลังพบผู้ป่วยที่ สวีเดน ซึ่งเป็นรายแรกที่พบในยุโรป

ต่อมา พบว่าเชื้อที่ระบาดในรอบนี้เป็นสายพันธุ์ เคลด 1 บี (CladeIB หรือ Clade 1B) ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วกว่าเชื้อที่เคยระบาดในปีก่อน รวมทั้งมีรายงานว่าได้ลุกลามไปยังประเทศที่ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยมาก่อน เป็นเหตุให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องประกาศยกระดับให้เชื้อเอ็มพอกซ์ (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันฝีดาษลิง ระบาดไปสู่ทวีปอื่น ๆ

สำหรับ ฝีดาษลิง เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ โดยมีสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นพาหะนำโรค และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โรคนี้มักพบในหลายพื้นที่ของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ก่อนจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่

  • สายพันธุ์แอฟริกากลาง หรือเคลด 1 (Clade 1) ที่มีความรุนแรงมาก และมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10%
  • สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก หรือเคลด 2 (Clade 2) แบ่งเป็น Clade 2A และ Clade 2B สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคืออยู่ที่ประมาณ 1% ส่วนใหญ่ติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย

ฝีดาษลิง Clade 1B คืออะไร

สำหรับฝีดาษลิง สายพันธุ์เคลด 1 บี (Clade 1B) นั้น เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ปรับตัวมาจากสายพันธุ์แอฟริกากลาง (Clade 1) โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า สายพันธุ์เคลด 1 บี แม้จะมีอัตราการเสียชีวิต 1% น้อยกว่าเคลด 1 แต่ก็ติดต่อง่ายกว่าปี 2565 ที่เป็นการระบาดของสายพันธุ์เคลด 2 บี โดยจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มีผู้ติดเชื้อเคลด 1 บี ประมาณ 18,000 คน เสียชีวิต 500 กว่าคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงว่าสามารถติดเชื้อได้ง่ายขึ้นผ่านการไอ จาม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า หากอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 1 บี ประมาณ 4 ชั่วโมง ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง การขยี้ตา การไอ จาม ไม่จำเป็นว่าต้องติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์เหมือนสายพันธุ์เดิม แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์นที่มีการแพร่กระจายในอากาศ

ฝีดาษลิง Clade 1B ติดต่อได้อย่างไร

จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 1B สามารถติดต่อกันได้ ดังนี้

  • การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สัมผัสของใช้ของผู้ป่วย
  • การสัมผัสผู้ป่วยที่มีผื่น ตุ่ม หนอง หรือแผล
  • ละอองฝอยจากทางเดินหายใจ เช่น การไอ จาม
  • การมีเพศสัมพันธ์
  • ถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์
  • การสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง Clade 1B อาการเป็นอย่างไร

โรคฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 5 วัน ไปจนถึง 21 วัน ดังนั้น หากใครเดินทางไปยังทวีปแอฟริกาหรือประเทศที่มีข่าวการแพร่ระบาดให้ลองสังเกตอาการตัวเอง ดังนี้

  • มีไข้
  • บางรายมีอาการเจ็บคอ ไอ คล้ายไข้หวัด
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
  • ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ
  • มีผื่น มีตุ่มใส ตุ่มหนองขึ้นบนผิวหนังรอบ ๆ มือ เท้า หน้าอก ใบหน้า ปาก หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มตกสะเก็ด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ