ยื้อเลือกผู้ว่าฯกทม.ใครได้ใครเสีย : รายงานพิเศษ
คอนเฟิร์มจากคำพูดนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เลื่อนออกไปเป็นกลางปี 65
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการรอให้พรรคพลังประชารัฐมีความพร้อมเรื่องตัวผู้สมัคร และรอให้กระแสของรัฐบาลกระเตื้องขึ้นก่อน
การขยับเวลาออกไปเช่นนี้ จะส่งผลดี-ผลเสียต่อฝ่ายไหน อย่างไร มีคำตอบจากพรรคการเมืองทั้งซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
หากดูไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่การเลือกตั้ง อบจ. นายกเทศมนตรีและเทศบาล ล่าสุดคือการเลือกตั้งอบต. ซึ่งการเลือกตั้งแต่ละอย่างใช้เวลาห่างกันประมาณ 3 เดือนเท่านั้น แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะเกิดขึ้นประมาณกลางปี 65 คงต้องให้เหตุผลที่เหมาะสมด้วย เพราะส่วนตัวเห็นว่าเป็นการยืดเวลาเพื่อยื้อให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ช้าออกไปอีก ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ กกต.กทม.เคยกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไว้ในวันที่ 3 เม.ย.65 แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์กลับมาประกาศให้การเลือกตั้งมีขึ้นกลางปี 65 ซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือน มิ.ย. ถือว่าช้าออกไปอีกถึง 2 เดือน เรื่องนี้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้
สำหรับเหตุที่รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้ช้าออกไป คงไม่มีใครรู้สาเหตุที่แน่ชัดนอกจากฝ่ายพวกเขาเอง แต่เมื่อดูจากข้อสันนิษฐานแล้วรัฐบาลในฐานะผู้จัดการย่อมต้องทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา
ดังนั้นที่ไม่ยอมให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้นเร็ว ก็แสดงว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่เป็นประโยชน์กับเขา จึงต้องขยับเวลาออกไปอย่างที่หลายฝ่ายวิจารณ์กันว่ารัฐบาลยื้อการเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นคงตัดสินใจให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็วไปแล้ว
ส่วนจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในมุมไหน อย่างไร ก็คงต้องไปดูในรายละเอียด ในเมื่อยืดเวลาออกไปแสดงว่ารัฐบาลย่อมต้องเสียประโยชน์หากเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เกิดขึ้นเร็ว
เช่น ขณะนี้พรรคพลังประชารัฐอาจยังไม่มีตัวบุคคลที่เหมาะสมที่จะส่งเข้าแข่งขัน หลังจากที่มีกระแสข่าวว่าจะส่งนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯปทุมธานี หรือผู้ว่าหมูป่า ลงสมัครในนามพรรค แต่สุดท้ายนายณรงค์ศักดิ์ก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าขาดคุณสมบัติ
ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องสรรหาบุคคลใหม่ ก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่รัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการให้อยู่ตัวได้ ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อกำหนดช่วงเวลาไว้ที่กลางปี 65 ย่อมต้องมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
แต่คนที่เสียประโยชน์ คือ กทม.และคนกรุงเทพฯ กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวง เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ที่ผ่านมา กทม.มีปัญหาหลายเรื่อง อย่างเรื่องปัญหาโควิดที่ผ่านมา กทม.ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก แต่ได้คนที่ไม่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งก็เนิ่นช้า ไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ได้ ขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหาด้วย
ต้องยอมรับว่าผู้ว่าฯ กทม.มีผลต่อการเลือกตั้งในสนามใหญ่ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ในทุกมิติ การเลือกตั้งปี 62 พรรคเพื่อไทยเจอทั้งอำนาจรัฐ อำนาจเงิน ไปจนถึงอำนาจการจัดการทั้งหน่วยเลือกตั้ง การนับคะแนน การคิดคำนวณไปจนถึงการเปลี่ยนวิธีการ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐยังเอื้อกับการทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้
เมื่อดูจากสภาพปัญหาของ กทม.ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ควรมีผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็วที่สุด
องอาจ คล้ามไพบูลย์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
โดยปกติแล้วการเลือกตั้งท้องถิ่น ถ้าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเม.ย.-ก.ค.ที่ผ่านมา อย่างระลอกล่าสุดที่ระบาดในกทม.และตามจังหวัดใหญ่ๆ ไม่เช่นนั้นคงได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไปตั้งแต่ปลาย ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว เพราะเราเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
เลือกตั้ง อบจ. ในเดือนธ.ค.63 จากนั้น 3 เดือน ในเดือนมี.ค.64 เลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี ถ้าไม่มีโควิดการเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบต.จะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย. 64 และหลังจากนั้น 3 เดือนก็จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และส.ก. และเลือกตั้งเมืองพัทยาเรียบร้อยไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะห่างกัน 3 เดือน แต่พอมีโควิด-19 ทำให้การเลือกตั้ง อบต.ต้องเลื่อนออกไป มาเลือก 28 พ.ย.ที่ผ่านมา มาถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ต่อจากการเลือกตั้ง อบต. ซึ่งปกติแล้วต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ประมาณ มี.ค.65 เพราะเลือก อบต.ปลายพ.ย.64
ฉะนั้นถ้าตามไทม์ไลน์เดิมที่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะห่างกันประมาณ 3 เดือน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็น่าจะสามารถเลือกได้ประมาณกลางก.พ.หรือมี.ค. ซึ่งตามหลักแล้วควรจะเป็นเช่นนี้
เมื่อนายกฯบอกว่าจะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ได้ในกลางปี 65 มองว่ากลางปีก็อาจหมายถึงเดือนอะไรก็ได้ที่ไม่เกินกลางปี อาจเป็น มี.ค. เม.ย. หรือ พ.ค.ก็ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่ควรเลยกลางปี 65 และต้องมีคำตอบให้สังคมให้ชัดเจนว่าทำไมต้องเป็นเดือนมิ.ย. 65 ซึ่งการประกาศของนายกฯ ก็ไม่ได้มีความชัดเจนถึงเหตุผลที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ กกต.ก็เริ่มทยอยประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง อบต.ไปแล้วประมาณ 1 ใน 3 หรือประมาณ 20 จังหวัดแล้ว เหลืออีกประมาณ 50 กว่าจังหวัด คิดว่า กกต.น่าจะทยอยประกาศรับรองได้ไม่เกิน ธ.ค.นี้ แต่การเลือกตั้ง อบต.มีมากกว่า อบจ.และเทศบาล การประกาศรับรองอาจต้องใช้เวลามากกว่า ดังนั้นการประกาศรับรองผลอาจเลยไปถึง ม.ค.65 ได้
ถ้าเป็นไปตามนี้ น่าจะเริ่มสตาร์ตและการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.ในเดือน เม.ย.65 ได้ โดยที่ ครม.มีมติให้มีการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ได้ จากนั้นมีพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้ง และเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งว่าจะเป็นวันใด ทุกอย่างควรเป็นไปในลักษณะนี้
เสียงวิจารณ์ที่ว่ารัฐบาลยื้อเลือกตั้งเพื่อรอนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯปทุมธานี หรือผู้ว่าหมูป่า ในเมื่อวันนี้ประกาศชัดเจนว่าไม่ลงแล้ว ก็ไม่ควรยื้อการเลือกตั้งแล้ว
ส่วนตัวไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจนที่ผู้มีอำนาจและรัฐบาลประกาศว่าจะให้มีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.กลางปี 65 เพราะอะไร เพราะจริงๆ แล้วการที่นายกฯประกาศออกมาก็ไม่ได้บอกเหตุผลว่าเพราะอะไรกันแน่ หรือเป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐประเมินแล้วแพ้แน่ ก็คิดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร แพ้หรือชนะไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร น่าจะเกี่ยวกับผู้สมัครที่เสนอตัวมากกว่า ว่าจะได้รับการยอมรับจากคนกทม.หรือไม่
การลากยาวไปจนไปเลือกตั้งกลางปี 65 พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มองถึงการได้เปรียบเสียเปรียบอะไร เพราะไม่ว่าจะเลือกเร็วหรือช้า หรือลากยาวไปพรรคก็พร้อมอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเราก็ทำงานไปตามปกติ
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ความจริงควรมีตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมารัฐบาลให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ไล่เรียงตั้งแต่ อบจ. เทศบาล และล่าสุด อบต. และสุดท้ายก็คือการเลือกตั้งกทม.และนายกเมืองพัทยา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการเตะถ่วงที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนและคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น
ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันนี้อย่างช้าที่สุดควรเป็นของขวัญให้พี่น้องประชาชนคน กทม.และคนพัทยา คือ หลังสงกรานต์ ควรจัดเลือกตั้งพร้อมกันไปเลย ไม่ว่าจะผู้ว่าฯ กทม. และส.ก.
ที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จะมีขึ้นไม่เกินช่วงกลางปี 2565 และโยนไปที่ กกต.และกระทรวงมหาดไทย ที่จริงขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพร้อมเมื่อไร หากคิดว่าตัวเองพร้อมแล้วมีโอกาสชนะ กระแสของรัฐบาลดีขึ้น คน กทม.เชื่อมั่นมากขึ้นถึงจะจัดเลือกตั้ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถให้สัญญาณอะไรที่ชัดเจนได้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด
ส่วนกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าที่รัฐบาลยื้อการเลือกตั้งเพราะรอนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ปทุมธานี แม้วันนี้จะออกมายืนยันว่าไม่ลงสมัครชัดเจนแล้วนั้น การหาใครมาลงในนามพรรคพลังประชารัฐ จากข้อมูลเห็นว่าในนามของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน มีทีมรักกรุงเทพฯ ที่เป็นทีม ส.ก.ที่จะลงสมัคร แต่ก็ไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนตัวเชื่อว่าตอนนี้พรรคพลังประชารัฐยังหาตัวแคนดิเดตมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ แต่ในทางกลับกันในเมื่อพรรคมี ส.ส.กทม.ก็เชื่อว่า ส.ส.เหล่านี้อยากจะเห็นผู้ว่าฯ กทม.และส.ก. ในนามพรรคพลังประชารัฐ และคงจะเรียกร้องเช่นนี้ในพรรค
และยังเชื่ออีกว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน คงไม่ได้ลงในนามพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐจะส่งเพียงผู้สมัครส.ก. ขณะที่พล.ต.อ.อัศวินมีทีมส.ก.อยู่แล้ว ฉะนั้น ส.ก.ของพลังประชารัฐจะอยู่ตรงไหน และถ้าพรรคพลังประชารัฐส่งคนลงก็มาตัดคะแนนกันเอง นี่คือปัญหา
พล.ต.อ.อัศวินมาจาก คสช. การไม่ส่งลงผู้ว่าฯ กทม. ก็สะท้อนให้เห็นรอยร้าวภายในของพรรคพลังประชารัฐอีกด้วย การมีหลายขั้วหลายก๊ก ต่างก็อยากจะได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมาสนองความต้องการของตัวเองได้ จึงคิดว่ารอยร้าวในพลังประชารัฐอาจมีมากขึ้น และนำไปสู่การกำหนดแคนดิเดตในสนามเลือกตั้งใหญ่ด้วยซ้ำ
หากถามการลากยาวการเลือกตั้งเช่นนี้เป็นผลดีกับใคร อาจจะยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ จะมีการเลือกตั้งเมื่อไรรัฐบาลเป็นคนกำหนด เขาก็จะกำหนดในสภาวะที่เขาคิดว่าได้ประโยชน์ที่สุด ส่วนคนที่ได้ผลเสียนั้น ในเรื่องของการแข่งขัน ไม่ได้ประเมินว่าพรรคก้าวไกลจะมีความเสียหายอย่างไร แต่มองว่าเป็นประชาชนที่มีความเสียหาย
ตอนนี้คน กทม.อยากจะเห็นการเลือกตั้ง ทั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะอยากให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือเขาเร็วที่สุด เพื่อจะใช้อำนาจนั้นผ่านคูหาเลือกตั้ง และเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมาแก้ไขปัญหาของกทม.ที่มีอยู่มากมาย รวมถึงการเลือกตั้งระดับชาติที่จะได้รัฐบาลใหม่เข้ามานำพาประเทศรอดพ้นจากวิกฤต
เมื่อประชาชนได้รับอำนาจอีกครั้งผ่านคูหาเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งก็จะแสดงออกมาว่าอย่างน้อยๆ ประชาชนต้องการผู้นำท้องถิ่นแบบไหนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาได้ จริงอยู่ว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.อาจมีอยู่อย่างจำกัด แต่โควิด-19 รอบนี้ชี้ชัดว่าหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.