ยืนยันแล้ว “รอยบุ๋ม” – ซินหัว รายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่าฟอสซิล “รอยเท้าไดโนเสาร์” ที่พบในร้านอาหารแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของ ประเทศจีน เป็นของไดโนเสาร์คอยาวที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน
การค้นพบสุดแปลกนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนกลายเป็นไวรัลทั่วโลก กระทั่งคณะนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติเผยแพร่ความคืบหน้าผ่านวารสารครีเทเชียส รีเสิร์ช หลังใช้เครื่องสแกนสามมิติวิเคราะห์รอยเท้าที่พบในร้านอาหาร
โดยยืนยันว่ากลุ่มรอยเท้าซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 50-60 เซนติเมตรเหล่านี้ อาจเป็นของ “ไดโนเสาร์ซอโรพอด” ที่มีความยาว 8-10 เมตร มีหัวเล็ก คอยาว หางยาว และถูกกล่าวขานว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่บนบกเท่าที่มีข้อมูลจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้มีย่างก้าวที่สั้นมาก
สำหรับการค้นพบกลุ่มรอยเท้านั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ค.2565 นายโอว หงเทา สังเกตเห็นรอยยุบที่แปลกตาบนพื้นของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวน ห่างจาก องค์พระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปหินสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น
ด้วยความสนใจด้านบรรพชีวินวิทยา นายโอวสันนิษฐานว่ารอยดังกล่าวน่าจะเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ก่อนติดต่อผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงอย่างรองศาสตราจารย์สิง ลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน ให้มาตรวจสอบ
ต่อมารศ.สิงนำทีมนักวิจัยเข้าตรวจสอบ และระบุว่ารอยยุบเหล่านี้ถูกพบในปี 2493 แต่เวลานั้นเจ้าของบ้านปิดเอาไว้เพื่อทำให้พื้นเรียบ ก่อนที่เจ้าของคนใหม่จะปรับปรุงพื้นที่เป็นห้องอาหารเมื่อ 3 ปีก่อน รอยเหล่านี้เลยปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง
ด้านนายแอนโธนี โรมิลิโอ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ หนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยนานาชาติกล่าวว่า “รอยเท้าเหล่านี้ไม่มีใครสังเกตเห็นเป็นเวลานานแล้ว แต่เมื่อรู้แล้วว่าคืออะไรก็ยากที่จะมองผ่านได้” พร้อมเสริมว่าเพราะภูมิภาคนี้ไม่มีบันทึกการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ ร่องรอยฟอสซิลเหล่านี้จึงให้ข้อมูลล้ำค่าเกี่ยวกับไดโนเสาร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินอยู่ในพื้นที่นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตะลึง “กรงเล็บปริศนา” โผล่สวนหน้าบ้าน-ชาวเน็ตแห่เดาชิ้นส่วนไดโนเสาร์
- จากฟอสซิลหนัก 8 ตัน ทีมนักโบราณคดีพบ “ไดโนเสาร์ยุคครีเทเชียส” 9 สายพันธุ์
- ฮือฮาพบ “รอยเท้าไดโนเสาร์” กว่า 4,300 รอยบนหินเก่าแก่ 150 ล้านปี!