ยาคุมกำเนิด กินอย่างไรให้ถูกวิธี ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แน่นอน

Home » ยาคุมกำเนิด กินอย่างไรให้ถูกวิธี ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แน่นอน
ยาคุมกำเนิด กินอย่างไรให้ถูกวิธี ป้องกันการตั้งครรภ์ได้แน่นอน

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ วิธีการกินยาคุมกำเนิด อย่างถูกวิธีในแต่ละประเภท เพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างสูงสุด เพราะสาวๆ หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่าจะต้องกินอย่างไร หรือกินแล้วดันตั้งครรภ์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น มาดูรายละเอียดง่ายๆ กันค่ะ 

ยาคุมกำเนิด มีกี่ชนิด?

จริงๆ แล้วในร้ายขายยาตามท้องตลาด มียาคุมอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่ได้รับความนิยม หรือใช้กันบ่อยๆ คือชนิด 21 วัน และชนิด 28 วัน โดยทั้งสองแบบนี้จะมียาให้ทานทั้งหมด 2 แผง

  • ยาคุมชนิด 21 วัน – ต้องทานแผงแรกให้หมดก่อน จากนั้นหยุดทานยาไป 7 วัน แล้วค่อยเริ่มทานยาแผงที่สอง
  • ยาคุมชนิด 28 วัน – สามารถทานยาทั้งสองแผงติดต่อกันได้เลย ไม่ต้องหยุดรอ

ควรกินยาคุมกำเนิดเมื่อไร?

เราควรกินยาคุมตั้งแต่ช่วงวันแรก ถึงวันที่ 5 ของการมีประจำเดือน กล่าวคือ หากมีประจำเดือนวันแรก ในวันที่ 12 พ.ค. เราก็ควรเริ่มกินยาคุมตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. ได้เลย แต่หากไม่สะดวก หรือลืม ก็ยังสามารถเริ่มทานในวันที่ 13-16 พ.ค. ได้ นั่นคือเราสามารถกินยาคุมได้ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือนนั่นเอง 

กินยาคุมกำเนิดอย่างไร?

เราควรกินยาคุมโดยเรียงลำดับตามลูกศรบนแผงยา ตั้งแต่เม็ดแรกไปถึงเม็ดสุดท้าย (ไม่ใช่นึกอยากจะกินเม็ดไหนก็บิเม็ดนั้นออกมานะ) และควรเลือกกินยาในเวลาเดียวกันของทุกๆ วัน เช่น คุณอาจจะชอบกินยาตอนเช้า ก็ต้องกินตอนเช้าของทุกวัน โดยตั้งเวลาไว้ที่ 7 โมงเช้าของทุกวัน เป็นต้น 

ยาคุมกำเนิด มีอาการข้างเคียงหรือไม่?

สาวๆ บางคนอาจจะมีอาการข้างเคียงจากการกินยาคุม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการกินยาคุมได้ แต่หากกินไปยาคุมไปหลายเดือนแล้ว ยังมีอาการเหล่านี้อยู่ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที เพราะอาจไม่ใช่เรื่องปกติก็ได้ 

การกินยาคุมกำเนิดเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นหนึ่งในวิธีการคุมกำเนิดที่ปลอดภัย และได้ผลจริง ดังนั้นไม่ต้องกลัว ไม่ต้องเขิน หรือมองว่าเป็นเรื่องน่าอายนะคะ เรารู้จักดูแลตัวเองก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ควรระวังคือ ต้องทานอย่างถูกวิธี และระมัดระวังในการมีเพศสัมพันธ์กับใครมากกว่า ต้องมั่นใจว่าคู่นอนของเรามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงค่ะ 

 ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ istockphoto

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ