กรมแผนไทยยันจัด “ปาร์ตี้กัญชา” ไม่ได้ แม้ไม่ได้ขาย เหตุกฎหมายคุมจำหน่าย “ช่อดอก” ย้ำหมอแผนไทยมานั่งประจำร้านไม่ได้ โดนคุก 5 ปีเองคนเดียว
วันที่ 29 พ.ย. 65 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงประเด็นการควบคุม “ช่อดอกกัญชา” หลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) มีผลหลังลงในราชกิจจานุเบกษา กัญชาเมื่อไม่เป็นยาเสพติดต้องมีกฎหมายมาควบคุมไม่ให้ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม จะได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ เศรษฐกิจอย่างเหมาะสม
สำหรับสารกัญชาหลักๆ คือ THC และ CBD โดยที่ฤทธิ์ต่อจิตประสาทคือ THC เราจึงกังวลตัวนี้ สำหรับ CBD มีประโยชน์ทำเรื่องลดการอักเสบ ฯลฯ ที่เราต้องควบคุม “ช่อดอก” เพราะมี THC เยอะ บ้านเราถ้าปลูก THC มีในช่อดอก 5-20% หรือบางพันธุ์มากกว่านั้นถึง 30% ส่วนอื่นๆ ทั้งใบ กิ่ง ราก เมล็ด มี THC ราว 0.2% ใกล้เคียงกับปริมาณที่ควบคุมเป็นยาเสพติด แต่มี CBD 2% ทำให้ THC ออกฤทธิ์น้อยลงด้วย หากเอาใบไปสูบก็จะไม่เกิดผลต่อจิตประสาท แต่ถ้าเป็นช่อดอกจะมี THC สูง เกินที่กำหนดยาเสพติด 0.2% ปริมาณสูงขึ้นเมื่อโดนความร้อน
“ประกาศฉบับใหม่เราจึงคุมช่อดอกเป็นหลัก ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ที่สงสัยว่าควบคุมเฉพาะส่วนได้หรือไม่ อนุกรรมการกฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณา เห็นชอบว่าทำได้ไม่ต้องทั้งต้น” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ผู้ที่จะเอาช่อดอกไปศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่ายหรือแปรรูปต้องขออนุญาต กทม.ขอที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต่างจังหวัดขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งกฎหมายจะคุมได้เฉพาะคนที่ขออนุญาต ถ้าไม่ขออนุญาตก็คุมไม่ได้ แต่ถ้าใช้ช่อดอกไม่ขออนุญาตก็จะผิดกฎหมาย มีโทษทางอาญา เมื่อได้รับใบอนุญาตต้องแสดงในสถานประกอบการและปฏิบัติเงื่อนไข
คือ 1.ทำข้อมูลแหล่งที่มา การนำไปใช้ รายงานปริมาณ จะมีการกำหนดแบบให้ และ 2.ส่งออกแต่ละครั้งต้องแจ้งส่งที่ไหนปริมาณเท่าไร ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระและไปตอบสังคมโลกได้ว่าเรามีการควบคุม ไม่ได้ปล่อยเสรี ก็จะดูได้ไปจำหน่ายให้เด็กไหม โดยกรมฯ กำลังพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ อนาคตก็เสียบบัตรประชาชน กรอกข้อมูลการขายกี่กรัม ให้ใครไป
นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนร้านที่จำหน่ายพยายามหาทางออก จริงๆ กัญชาเข้าร่างกายนอกจากการกินมี 2 ส่วน คือ สูบและหยดใต้ลิ้น เข้ากระแสเลือดโดยไม่ผ่านตับทำให้ออกฤทธิ์เร็วขึ้น 5-10 นาที การกินใช้เวลาแล้วแต่สภาพร่างกายการทำงานของตับแต่ละคน อาจเป็น 1-2 ชั่วโมง ซึ่งความอันตรายคือการสูบจะเร็วกว่า ออกฤทธิ์ทันที หากใช้มากเกินจะมีอาการหน้ามืด ใจสั่น ไม่สามารถรับกัญชาเข้าไปได้อีก ก็จะสูบต่อไม่ได้
กลับกันหากใช้วิธีกินเข้าไป เช่น เอาช่อดอกไปผสมอาหาร คุกกี้ ไอศกรีม ซึ่งผิดกฎหมายตอนนี้ หากใส่ปริมาณเข้มข้น ก็กินเข้าไป 2-3 ถ้วย แต่สารยังไม่ออกฤทธิ์ จะมาออกฤทธิ์เมื่อผ่านไปชั่วโมงก็เริ่มมีอาการ ที่พบเยอะจึงเป็นการกินที่อันตราย จึงห้ามใส่ช่อดอกในอาหารในกฎหมายของ อย. จะมีโทษอาญาติดคุก 2 ปี หากเอาไปทำเองก็ต้องรับผิดชอบตนเอง
“เราห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานประกอบการ หลายคนบอกว่า กำหนดห้ามสูบเลยได้หรือไม่ จริง ๆ เราห้ามได้ไม่ทั้งหมด ถ้าเขียนสั้นๆ ว่าเพื่อการสูบก็จะแปลว่าห้ามจำหน่ายให้สูบ แต่จะเอาไปทำอะไรไม่ได้ห้าม เราไม่อยากให้ใช้เลยในสถานที่นั้น เพราะหากใช้เลยมีอาการแล้วออกไปขับรถก็มีความเสี่ยง วันนี้ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมปริมาณกัญชาในเลือดต้องไม่เกินเท่าไรอย่างแอลกอฮอล์ เรารอกฎหมายที่จะมาช่วยกำกับ ที่ทำได้คือห้ามสูบในสถานที่ประกอบการ แต่ยกเว้นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะการประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยมีวิธีเอาไปใช้สูบเพื่อรักษา จึงต้องมีผู้ป่วยเข้ามา แต่ไม่ได้แปลว่าจะเอาหมอแผนไทยมานั่งในร้านแล้วขายกัญชาแล้วสูบกัญชาเหมือนเดิม คนละนัยความหมาย” นพ.ธงชัย กล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า แพทย์แผนไทยในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะทำนอกสถานพยาบาลที่ขออนุญาตไม่ได้ ถ้าทำก็มีโทษอาญาจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท และเป็นโทษของแพทย์เท่านั้น ไม่ใช่โทษของร้านที่มีโทษเพียงพักใช้ใบอนุญาต หากทำซ้ำก็อาจเพิกถอน หากร้านอยากทำตรงนี้ให้ได้ ก็ต้องไปขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาล ต้องมีคนไข้ มีกระบวนการตรวจรักษาแล้วสั่งจ่ายยาที่เป็นมาตรฐาน และต้องมีมาตรฐานองค์ประกอบอะไรบ้าง ไม่ใช่มาขายช่อดอก
ถามว่าบางพื้นที่เปิดห้องสำหรับสูบกัญชาแยกออกมาจากสถานที่จำหน่าย เช่น ห้องสูบบุหรี่ ทำได้หรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกัญชา อย่าหาวิธีการหลบเลี่ยงเพื่อใช้สันทนาการ อย่างกรณีนี้ต้องไปดูว่ามีความผิดในกฎหมายอื่นหรือไม่ แต่ส่วนของประกาศสมุนไพรควบคุม ก็เหมือนท่านกำลังเลี่ยงอยู่ หากหาความเชื่อมโยงได้ก็มีความผิด แต่ไปติดในกฎหมายฉบับอื่น เช่น เหตุรำคาญตามประกาศของกรมอนามัย
หากประเด็นนี้มีความสำคัญ เราปรับประกาศได้ เพียงแต่ว่าตอนเราออก เราคิดไปไม่ถึงว่าจะมีคนมีความพยายามเป็นอย่างมาก ฉะนั้น เบื้องต้นเราดูความเชื่อมโยงว่าถ้าร้านไปจัดโซนให้สูบ ก็จะมีความผิด แต่ถ้าเชื่อมโยงไม่ได้ก็ต้องไปเอากฎหมายอื่นมาประกอบ
นพ.ธงชัย กล่าวถึงกรณีจัดปาร์ตี้กัญชาที่ไม่ได้จำหน่าย ถือว่าผิดหรือไม่ ว่า คำว่าจำหน่ายใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีนิยามว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ดังนั้น จำหน่ายไม่ได้แปลว่าขายอย่างเดียว ซึ่งกฎหมายกำหนดนิยามไว้แล้ว การจัดปาร์ตี้จึงไม่สามารถนำกัญชามาแจก มาแลกเปลี่ยนด้วยวิธีการใดก็ตาม ถือว่าผิด จริงๆ การลงพื้นที่ตรวจสอบอาจไม่ใช่สัปดาห์ครั้ง แต่ช่วงแรกอาจออกไปสุ่มตรวจทุกวัน
ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า กรมฯ จะหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน โดยเรื่องกฎหมายกรณีใครฝ่าฝืนจำหน่ายไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณาออนไลน์เกี่ยวกับช่อดอก ซึ่งจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีโทษหนักกว่า และบางกรณีเป็นการนำเข้าข้อมูลอาจเป็นเท็จหรือแอบอ้าง โดยใช้รูปเจ้าหน้าที่ไปแอบใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นแสนบาท โทษหนักกว่าเยอะ ดังนั้น เสี่ยงผิดกฎหมายทั้งสองฉบับ ปัจจุบันมีผู้ชี้เบาะแสช่องทางมาพอสมควร ก็จะมีการรวบรวมข้อมูลดำเนินคดีต่อไป
สำหรับการไปจัดปาร์ตี้ ทั้งอาหาร กัญชา ดนตรีทำได้หรือไม่ อันนี้เข้าข่ายสถานบริการเถื่อน ผิดกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้จะมีกฎหมายหลายฉบับมาอุดช่องโหว่ได้พอสมควร หากจะควบคุมการที่ผู้ประกอบการจัดโซนนิ่งให้สูบกัญชา ต้องรอกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภา เพราะสามารถให้กระทรวง ออกประกาศกำหนดโซนนิ่งได้ ทั้งนี้ กรมฯ จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องว่าดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบทุกสัปดาห์ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง จะตรวจจนกว่าจะมี พ.ร.บ.กัญชามีผลบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 16.00 น. กรมการแพทย์แผนไทยฯ ผู้บริหารสธ. เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ชนะสงคราม และเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม. จะลงตรวจสอบพื้นที่ถนนข้าวสาร เพื่อดูการเปิดร้านจำหน่ายช่อดอกกัญชาว่าถูกต้องหรือไม่ และเพื่อทำความเข้าใจด้านกฎหมายด้วย