มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทเวอร์จิน กาแลคติก (Virgin Galactic) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านการท่องเที่ยวในอวกาศ เมื่อสามารถเดินทางออกไปนอกโลกเป็นผลสำเร็จในวันอาทิตย์ ก่อนที่จะกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แบรนสันและเพื่อนร่วมทางรวม 6 คน เดินทางไปกับจรวด VSS Unity ของเวอร์จิน กาแลกติก ในเที่ยวบินทดลองซึ่งขึ้นไปลอยในระดับ 80 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ที่รัฐนิวเม็กซิโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ และกลับมาลงจอดอย่างปลอดภัย
การเดินทางไปอวกาศครั้งนี้เป็นการทดสอบครั้งที่ 22 ของโครงการนี้ ซึ่งในจำนวนผู้เดินทาง 6 คนในครั้งนี้ นอกจากแบรนสันแล้ว ยังมีนักบินอีก 2 คนและผู้บริหารระดับสูงของเวอร์จินซึ่งเรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศ” อีก 3 คน
หลังจากแตะระดับความสูง 46,000 ฟุตเหนือพื้นโลก ยาน Unity ถูกปล่อยออกจากยานแม่และจุดไอพ่นเพื่อให้พุ่งไปในอวกาศด้วยความเร็วเหนือเสียงในระดับความสูง 86 กิโลเมตร ก่อนที่จะปิดไอพ่นเพื่อลอยในสภาพไร้น้ำหนักให้ผู้เดินทางได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศนอกโลก แล้วร่อนลงกลับมาจอดบนพื้นโลกอีกครั้งอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาทั้งหมดในการเดินทางครั้งนี้ราวหนึ่งชั่วโมง
ริชาร์ด แบรนสัน เริ่มพัฒนาโครงการท่องเที่ยวในอวกาศตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว และเขากล่าวไว้ก่อนการเดินทางในวันอาทิตย์ว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเดินทางในอวกาศ โดยจะมีการเริ่มเที่ยวบินเชิงพาณิชย์จริง ๆ ในปีหน้าเป็นต้นไป
การเดินทางของเวอร์จิน กาแลกติก ถือเป็นการตัดหน้าโครงการปล่อยจรวดของบริษัทคู่แข่ง บลู ออริจิน (Blue Origin) ของมหาเศรษฐีเจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีแอมะซอน (Amazon) เพียงไม่กี่วัน รวมทั้งโครงการท่องอวกาศของอิลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่มีแผนจะปล่อยจรวดในเดือนกันยายนนี้ด้วย
ภารกิจเมื่อวันอาทิตย์ถูกถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ต และมีพิธีกรทอล์กโชว์ชื่อดัง สตีเฟน โคลแบร์ เป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อจัดแสดงการเดินทางครั้งนี้ไปทั่วโลก โดยเวอร์จินมีแผนจะทดสอบเที่ยวบินอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนเริ่มการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์จริง ๆ ในปี 2022
คาดว่าค่าตั๋วสำหรับเที่ยวบินในอวกาศของเวอร์จินจะอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ต่อคน หรือราว 8 ล้านบาท โดยธนาคาร UBS ของสวิตเซอร์แลนด์ คาดการณ์ว่า มูลค่าของตลาดการท่องเที่ยวในอวกาศจะสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า