ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ออกแถลงประณามรัฐบาลประยุทธ์ สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จี้ปล่อยตัวทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข ตรวจสอบคฝ.ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่
วันที่ 6 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังตำรวจควบคุมฝูงชน เข้าสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นประมาณ 50 คนที่เดินทางมาปักหลักบริเวณทำเนียบรัฐบาล ทวงถามสัญญา SEA ภาคประชาชน ที่รัฐบาลเคยให้ไว้ในปีที่แล้วว่าจะรับฟังเสียงของชาวบ้านโดยไม่เอื้อนายทุน แต่เวลาผ่านไป 1 ปี ปรากฎว่าโครงการเดินหน้าต่อ โดยจับกุมตัวชาวบ้านไปควบคุมไว้ที่สโมสรตำรวจ พร้อมเข้ายึดพื้นที่เคลื่อนย้ายมวลชนและรื้อเต้นท์เคลียร์เส้นทาง
ล่าสุดเมื่อเวลา 22.12 น. กลุ่มพีมูฟ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ออกแถลงการณ์ด่วนกรณีสลายการชุมนุม ระบุ เรื่อง ขอประณามรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) กรณีสลายการชุมชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
สืบเนื่องจากวันนี้ (6 ธันวาคม 2564) เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ประกาศปักหลักชุมนุมค้างคืนพร้อมตั้งหมู่บ้าน “ลูกเล จะนะรักษ์ถิ่น” ณ ทางเข้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงคืนสัญญาการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ S.E.A. แบบมีส่วนร่วม กรณีแผนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา หลังรัฐบาลลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 แต่ยังปรากฏความพยายามในการจัดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่ ขณะที่แนวทางการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงยังไม่เกิดขึ้นจริงนั้น สะท้อนภาพความหลอกลวง และเล่ห์เหลี่ยมของนักการเมือง และข้าราชการภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจนที่สุด
นอกจากนั้น ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พฤติกรรมของศูนย์อำนายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ยังตั้งอยู่บนฐานผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองบางคนเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจไยดีต่อข้อตกลงที่ทำไว้กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เดินหน้าใช้วาทกรรมการพัฒนาเลื่อนลอยสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนด้วยกัน ชาวจะนะกว่า 50 ชีวิตจึงตัดสินใจกลับขึ้นมาที่ทำเนียบรัฐบาลในครั้งนี้ พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง ได้แก่
1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ อย่างเช่น เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมประชาชน เรื่องการใช้แผนปฏิบัติการโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและรังวัดรูปแปลงโฉนดที่ดินให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอันมิชอบ และการใช้งบประมาณของ ศอ.บต. ในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลไกนี้จะต้องเป็นกลาง เชื่อถือได้ และมีส่วนร่วมของประชาชน เมื่อแล้วเสร็จจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการด้วย
2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA. แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ ศอ.บต.
3. ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อ 1 และ ข้อ 2 จะแล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังกล่าว จะต้องออกเป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่าเวลา 21.00 น. กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) กว่า 100 นายได้เข้าสลายการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งเต็มไปด้วยสตรี เด็ก และผู้สูงอายุ และมีการจับกุมผู้ชุมนุมขึ้นรถคุมขังจำนวน 36 คน ไปที่สโมสรตำรวจ วิภาวดี นอกจากนั้นในระหว่างการปฏิบัติการยังได้มีการส่องไฟฉายเพื่อไม่ให้ผู้สังเกตการณ์รอบนอกสามารถมองเห็นปฏิบัติการอันป่าเถื่อนได้ และยังกีดกันสื่อมวลชนมิให้สามารถเข้าไปบันทึกภาพในพื้นที่
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในนามขบวนการภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ไม่อาจทนต่อภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อพี่น้องชาวจะนะได้ จึงขอประณามการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไร้ซึ่งมนุษยธรรม และขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้
1. รัฐบาลต้องยุติการสลายการชุมนุมและการจับกุมโดยทันที ตลอดจนปล่อยตัวแกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นผู้ถูกจับกุมโดยไม่มีเงื่อนไข
2. ให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ว่าเป็นไปตามหลักสากลหรือไม่ แล้วแถลงต่อสาธารณชนโดยเร็วที่สุด
3. รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563
ขปส. ยืนยันว่า สิทธิในการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมและอนุสัญญาระดับสากล ในฐานะพลเมืองต้องสามารถกระทำได้โดยปราศจากการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยฝ่ายใดก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นในวันนี้ตอกย้ำชัดเจนอีกครั้งว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลแห่งการตระบัดสัตย์ และไร้ซึ่งความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน ขปส. จึงขอประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องทั้งหมดของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และจะเข้าร่วมต่อสู้เคียงข้างพี่น้องจะนะ เพื่อปกป้องสิทธิชุมชนในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของราษฎรต่อไป
เชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
6 ธันวาคม 2564