‘พิชัย’ อัด ‘ประยุทธ์’ ซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน ปล่อยดีเซลพุ่ง กู้จนรัฐใกล้ถังแตก หนี้สาธารณะเกิน 10 ล้านล้านบาท แบกดอกเบี้ยหนัก
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.จะเลิกอุ้มราคาน้ำมันดีเซลต่ำกว่า 30 บาท แต่จะออกให้บางส่วนแทน โดยอ้างว่าเป็น 1 ใน 10 มาตรการช่วยเหลือ แต่ที่จริงเป็นการเพิ่มภาระค่าครองชีพของประชาชนมากกว่า ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนสินค้า ต้นทุนค่าขนส่งต้องปรับขึ้นหมด ทำให้ราคาสินค้าทุกชนิดปรับราคาขึ้น สร้างความเดือดร้อนซ้ำเติมให้กับประชาชนที่ลำบากกันอยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้น
อีกทั้งทำให้เงินเฟ้อของไทยยิ่งสูงมากขึ้น ล่าสุดเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.พุ่งสูงถึง 5.73% สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ขนาดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังเลยว่าคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ปีนี้เงินเฟ้อคงทะลุเกิน 4.1% แน่นอน
นายพิชัย กล่าวต่อว่า คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบว่าที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กู้เงินจำนวนมากจนหนี้สาธารณะจะพุ่งเกิน 10 ล้านล้านบาทแล้วนั้น ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยอย่างมาก ยังไม่รวมถึงการชำระเงินต้น ปัจจุบันรัฐจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงปีละกว่า 240,000-300,000 ล้านบาทจากหนี้สาธารณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก่อขึ้น ซึ่งจะต้องหักจากงบประมาณประจำปีและมาไล่เก็บภาษีเพิ่มจากประชาชน
นายพิชัย กล่าวอีกว่า การที่อ้างว่ารัฐบาลกู้ได้ไม่เห็นเป็นอะไรจึงเป็นการเข้าใจที่ผิดและเป็นความคิดที่ผิด แทนที่จะนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนหรือนำมาพัฒนาประเทศในด้านอื่นได้ กลับต้องนำมาชำระหนี้ที่พล.อ.ประยุทธ์ กู้มาใช้อย่างสะเปะสะปะมาตลอด งบประมาณยังต้องตั้งวงเงินลดลงเพราะเก็บรายได้ลดลง แถมเจอภาวะเงินเฟ้อสูงอีก
“รัฐจะแทบไม่เหลือเงินเลย รัฐสวัสดิการหรือเบี้ยคนชรา 3 พันบาท คงเป็นได้แค่ฝัน นอกจากนี้หากดอกเบี้ยต้องขึ้นจะส่งผลต่อภาคธุรกิจและจำนวนหนี้เสียให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเครดิตบูโรคาดว่าอีก 1-3 เดือนจะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก 4 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”
นายพิชัย กล่าวต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องชะลอการปล่อยราคาดีเซลเกิน 30 บาทออกไปก่อน ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลงอีกลิตรละ 2.99 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจะลดลงได้ลิตรละ 3.20 บาท และนำเงิน 20,087.42 ล้านบาท ที่พล.อ.ประยุทธ์ โอนไปจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาคืนมา เพื่อใช้สนับสนุนราคาดีเซล
“หากเมื่อไรจำเป็นจะต้องปล่อยให้ราคาดีเซลลอยตัวขึ้นจริงๆ ต้องมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้ผล ไม่ใช่ออกมาแบบ 10 มาตรการที่ประชาชนแทบไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย อีกทั้งต้องคุมเงินเฟ้อให้อย่าสูงเกินไป เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดือดร้อนกันมากไปกว่านี้” นายพิชัย กล่าว