การแข่งขันวีลแชร์เรซซิ่ง กีฬา “พาราลิมปิก โตเกียว 2020” ที่โอลิมปิก สเตเดี้ยม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 กันยายน ไฮไลต์อยู่ที่นักวีลแชร์เรซซิ่งไทย ที่กวาดไปแล้ว 3 ทอง 2 เงิน 2 ทองแดง ลงแข่งขัน 2 รายการคือ วีลแชร์ 800 เมตรชาย คลาส T 53 และวีลแชร์ 800 เมตรชาย คลาส T 54 ซึ่งในช่วงเช้าเป็นการแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อหานักกีฬาที่ทำเวลาผ่านเกณฑ์ควอลิฟายเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในช่วงเย็นวันเดียวกัน 2 กันยายน
รอบคัดเลือกช่วงเช้าแข่งขันกันท่ามกลางพื้นสนามที่เปียกแฉะหลังจากมีสายฝนโปรยปรายลงมาในช่วงเช้าที่กรุงโตเกียว นักวีลแชร์เรซซิ่งไทย ทำเวลาผ่านเกณฑ์เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแบบ 100 % เต็มครบทั้ง 6 คนที่ลงแข่ง โดยคลาส T 53 ได้แก่ “กร” พงศกร แปยอ ที่คว้าไปแล้ว 2 เหรียญทองจากพาราลิมปิก 2020 “เชษฐ์” พิเชษฐ์ กรุงเกตุ และมะสบือรี อาแซ ส่วนคลาส T 54 ได้แก่ ประวัติ วะโฮรัมย์ เจ้าของ 7 ทองพาราลิมปิกวัย 40 ปี, “เจ” ภูธเรศ คงรักษ์ และสายชล คนเจน
เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ คลาส T 53 ฝนยังคงตกอยู่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า พงศกร ออกนำตั้งแต่ออกสตาร์ท ตามาด้วยคู่ปรับ เบรนต์ ลากาตอส จากแคนาดา พงศกร โดนแซงหลังครบ 400 เมตร แต่ก็แซงคืนได้ ก่อนจะเร่งสปีดเข้าเส้นชัยคนแรกคว้าเหรียญทองที่ 3 ให้กับตัวเองด้วยสถิติ 1.36.07 นาที ทำลายสถิติพาราลิมปิกเกมส์ของ หลี่ ฮู เฉา จากจีน ที่ทำไว้ 1.36.30 นาทีเมื่อปี 2008 ส่วนเบรนต์ ลากาตอส จากแคนาดา เข้าที่ 2 คว้าเหรียญเงินไปครอง ขณะที่พิเชษฐ์ กรุงเกตุ ทำเวลา 1.40.09 นาที จบอันดับ 5 และมะสบือรี อาแซ ทำเวลา 1.42.09 นาที จบอันดับ 7
สำหรับ “กร” พงศกร แปยอ วัย 24 ปี ภูมิลำเนาเป็นชาว จ.ขอนแก่น เกียรติประวัติ 2 เหรียญทองจากริโอ 2016 รายการ 400 เมตร คลาส T 53 และ 800 เมตร คลาส T 53 และยังเคยเป็นแชมป์โลก 400 เมตร คลาส T 53 เมื่อปี 2019 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์อีกด้วย
พงศกร แปยอ เป็นโปลิโอขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด และเริ่มเล่นกีฬาวีลแชร์เรซซิ่งตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมี สากล ทัพสมบัติ ( อาจารย์ ) ที่ชักชวนให้ไปแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 30 “นครสุโขทัยเกมส์” เมื่อปี 2009 และประเดิมด้วยการคว้าเหรียญทองแดงวีลแชร์เรซซิ่ง ประเภท 100 เมตร กับ 400 เมตร
จุดเริ่มต้นบนเส้นทางทีมชาติของพงศกร แปยอ ได้ ประวัติ วะโฮรัมย์ และเรวัฒน์ ต๋านะ 2 นักวีลแชร์ดีกรีทีมชาติไทยให้การสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเล่นกีฬา ประวัติ และเรวัฒน์ ได้มอบรถวีลแชร์ที่เคยใช้ และสภาพยังดีอยู่ให้พงศกรเพื่อเข้าแข่งขันรายการต่างๆ จนประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
ทั้งนี้จากการคว้าเหรียญทองที่ 3 ให้กับตัวเอง พงศร จะได้รับเงินรางวัลตอบแทนความสำเร็จจากรัฐบาลไทยผ่านทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ตามหลักเกณฑ์ โดยพงศกร มีสิทธิ์เลือกรับเงินรางวัล 2 เงื่อนไขตามที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติระบุในประกาศ เงื่อนไขแรก เหรียญทอง จะได้รับเงินอัดฉีด 7,200,000 บาท, เหรียญเงิน 4,800,000 บาท และเหรียญทองแดง 3,000,000 บาท
โดยเงื่อนไขนี้จะแบ่งจ่าย ซึ่งจ่ายเป็นก้อนให้นักกีฬาก่อนในอัตราร้อยละ 50 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 50 จะจ่ายเป็นรายเดือน ภายในระยะเวลา 4 ปี ส่วนเงื่อนไขที่สอง จ่ายครั้งเดียวเป็นก้อนเดียว แต่จะได้รับในอัตราที่น้อยลง โดยเหรียญทองจะได้รับเงินรางวัลทั้งสิ้น 6,000,000 บาท, เหรียญเงิน 4,000,000 บาท และเหรียญทองแดง 2,500,000 บาท
สรุปรวม 3 เหรียญทอง รับเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เป็นเงิน 21,600,000 บาท