สภาฯ อนุมัติ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน แล้ว มติ 331 ต่อ 1 งดออกเสียง 58 ด้าน ผู้ว่าฯ ธปท. ยันไม่ใช่การกู้เงินของรัฐบาลและไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ แต่ให้อำนาจ ธปท.จัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน
จากกรณีที่วันนี้ (27 พ.ค.) ในช่วงบ่าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (ซอฟท์โลน) วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท นั้น
ล่าสุด นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ให้สมาชิกลงมติ ซึ่งสมาชิกมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก. 331 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 และงดออกเสียง 58 ก่อนจะมีการสั่งปิดการประชุมในเวลา 19.35 น.
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เป็นตัวแทนชี้แจงว่า พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ออกเพื่อเติมเต็มความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะมีการออก. พ.ร.ก.มาก่อนแล้ว แต่เป็นการออกจากการประเมินสถานการณ์โควิดจากรอบแรก
ซึ่งสถานการณ์ทอดเวลานานกว่าที่ประเมินไว้ ด้วยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังเห็นถึงความเสี่ยงจึงได้ร่วมกันร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้น
นอกจากนี้ กลไกของมาตรการช่วยเหลือจากพ.ร.บ.ครั้งนี้ ถูกออกแบบให้สามารถช่วยเหลือธุรกิจได้จริง และยืดหยุ่นที่จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจได้ทุกรูปแบบ ตนยืนยันว่าเงินจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท จากพ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการกู้เงินของรัฐบาล และไม่ได้เป็นหนี้สาธารณะ
แต่เป็นพ.ร.ก.ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราวให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจ ให้สามารถกระจายเงินไปยังผู้ที่ต้องการได้ตรงจุดมากขึ้น และเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้สภาพคล่องเหล่านั้นกลับคืนมา
ส่วนที่รัฐบาลจะต้องรับภาระมีเพียงดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และความเสียหายที่ร่วมรับภาระกับสถาบันการเงินที่ผ่านกลไก บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เท่านั้น ในกรณีที่ลูกหนี้ กลายเป็นหนี้เสีย โดยตั้งเป้าช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดโดยไม่สร้างภาระการคลังให้รัฐบาลมากจนเกินควร