ผู้ถือพิมพ์เขียว : ครั้งหนึ่งเมื่อ แมนฯ ยูไนเต็ด เกือบเปลี่ยนเจ้าของด้วยเงิน 10 ล้านปอนด์

Home » ผู้ถือพิมพ์เขียว : ครั้งหนึ่งเมื่อ แมนฯ ยูไนเต็ด เกือบเปลี่ยนเจ้าของด้วยเงิน 10 ล้านปอนด์
ผู้ถือพิมพ์เขียว : ครั้งหนึ่งเมื่อ แมนฯ ยูไนเต็ด เกือบเปลี่ยนเจ้าของด้วยเงิน 10 ล้านปอนด์

แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่เคยหลุดอันดับท็อป 5 ของสโมสรฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขระดับหลักพันล้านปอนด์เป็นอย่างต่ำเสมอ และถึงตอนนี้ 3 พันล้านปอนด์ เป็นตัวเลขปัจจุบัน

แต่ครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งเกือบได้เป็นเจ้าของสโมสรนี้ด้วยเงินแค่ 10 ล้านปอนด์ เขาอ่านเกมขาดมาตั้งแต่วันที่สโมสรกำลังจะพังทลายและเจ้าของอยากปล่อยมือ 

เขาเห็นอะไรในอนาคต และทำไมการเป็นเจ้าของสโมสรในราคาสุดคุ้มจึงไม่เกิดขึ้น ? ติดตามได้ที่ Main Stand

ปฏิบัติการ “ช้อนหุ้น” 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่คู่กับวงการฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน พวกเขาเคยเป็นแชมป์มาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ในช่วงที่ฟุตบอลลีกในอังกฤษตั้งไข่ นักเตะหลายคนยังมีรายได้แค่ไม่กี่ปอนด์และมีงานหลักเลี้ยงชีพอยู่แล้ว สโมสรหลายสโมสรก็เป็นการรวมพลของพนักงาน ห้างร้าน หรือทีมชุมชน ซึ่ง แมนฯ ยูไนเต็ด ก็เป็นหนึ่งในนั้น (สโมสรก่อตั้งโดยพนักงานรถไฟ ในชื่อ นิวตัน ฮีธ เมื่อปี 1878) … มันคือส่วนหนึ่งที่พวกเขาเรียกกันว่า English Game 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเวลาของการตั้งไข่เริ่มนำมาสู่พื้นฐานที่แข็งแกร่ง การต่อยอดเพื่อพาฟุตบอลไปอีกระดับก็เริ่มขึ้น จากที่เคยเป็นกีฬาที่เอาไว้เล่นสุดสัปดาห์ แชมเปี้ยนส์ กลายเป็นคำที่มีความหมายมากขึ้น มีการซื้อขายตัวผู้เล่น มีการนำเรื่องการบริหารและเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ในการทำทีมฟุตบอล และจากนั้นฟุตบอลอังกฤษก็กลายเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของพวกเขามาเสมอ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุคปี 1950s-1960s ก็คือชิ้นส่วนสำคัญของเครื่องจักรชิ้นนี้ ที่ทำให้มันขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ควรจะเป็น 

ยูไนเต็ด ยุคนั้น อยู่ภายใต้การทำทีมของ เซอร์ แมตส์ บัสบี้ แม้ต้องเจอกับโศกนาฏกรรมมิวนิค เหตุการณ์เครื่องบินตกที่ทำให้ทีมปีศาจแดงเสียผู้เล่นเกือบยกทีม แต่พวกเขาก็กลับมาได้อย่างเต็มภาคภูมิ … ปีศาจแดงสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้ 1 ครั้ง แชมป์ลีกสูงสุด (ดิวิชั่น 1 ในเวลานั้น) 4 ครั้ง และความสำเร็จเหล่านี้ล้วนมีมูลค่า เพราะเมื่อทีมมีชื่อเสียงก็ทำให้มีใคร ๆ อยากจะลงทุนด้วยมากขึ้น 

 

ฟุตบอลเริ่มกลายเป็นธุรกิจเมื่อทีม ๆ นั้นเริ่มมีมูลค่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพิ่มมูลค่าของสโมสรของพวกเขาเสมอมา แม้บางช่วงจะห่างหายจากแชมป์ไปบ้าง แต่ในแง่ของการพยายามสร้างฐานแฟนคลับใหม่ ๆ พวกเขาก็ทำได้ดีมาเสมอ จนกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้วในปัจจุบัน

ภาพทุกอย่างชัดขึ้นสุด ๆ ในยุคปัจจุบัน เพราะการซื้อขายสโมสรก็เริ่มเป็นเรื่องเป็นราวเป็นข่าวมากขึ้นในทุก ๆ ปี แต่เรื่องที่เราจะกล่าวถึงนี้เกิดขึ้นในยุค 1980s ณ เวลานั้น ยูไนเต็ด กำลังประสบปัญหาขาดแคลนโทรฟี่ ทำให้ความยิ่งใหญ่ลดลง จนสร้างความขุ่นข้องหมองใจให้แฟนบอล … ทว่าสำหรับนักธุรกิจ ของแบบนี้ต้องใช้ภาษาหุ้นด้วยวลีที่ว่า “ต้องรีบช้อน” 

“ช้อน” ในที่นี้กล่าวคือ แมนฯ ยูไนเต็ด กำลังมีอนาคตที่สั่นคลอน เจ้าของทีมอย่าง มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ เริ่มออกอาการมือสั่นกลัวจะขาดทุนไปมากกว่านี้ ขนาดเจ้าของยังหวั่นใจ ไปจนถึงการมองหาลู่ทางขายทิ้ง มันก็ไม่แปลกที่จะไม่มีใคร “กล้าซื้อ” และรับความเสี่ยงนั้นได้ง่าย ๆ 


Photo : telegraph.co.uk

 

ทว่าคนจำนวนหนึ่งกำลังรอสถานการณ์แบบนี้อยู่ พวกเขาเป็นนักธุรกิจที่มีเงินเย็นอยู่ในมือ ดังนั้นการซื้อสินค้าที่ไม่มีใครสนใจ จะต้องได้ราคาถูกลงกว่าเดิมหลายเปอร์เซ็นต์แน่ แผนการช้อนซื้อสโมสร แมนฯ ยููไนเต็ด จึงได้บังเกิดขึ้นจากเศรษฐีสายอสังหาริมทรัพย์ และยังเคยเป็นนักฟุตบอลอาชีพมาก่อนอย่าง ไมเคิล ไนท์ตัน 

ยูไนเต็ด คือของถูกที่จะมีมูลค่าเพิ่มในอนาคต นั่นคือสิ่งที่ ไนท์ตัน รู้ … เพียงแต่มันต้องใช้เวลาสักหน่อยในการสร้างกำไร มูลค่าที่ ไนท์ตัน มองว่า ยูไนเต็ด จะทำได้ในอนาคตคือ “150 ล้านปอนด์” … เยอะแค่ไหนไม่ต้องสืบสำหรับยุค 80s ยุคที่นักเตะยังย้ายตัวกันด้วยราคาแพงสุดแค่หลักแสนปอนด์เท่านั้น 

เอาก็เอา ไม่เอากลับ ! 

ไนท์ตัน มีทรัพย์สินในมือเท่าไหร่ไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่อย่างที่ได้กล่าวไว้ สายตาของเขาแหลมคมไม่ใช่เล่น เขามองมูลค่าของสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด ในอนาคตออก โดยที่ตัวของเขาจะจ่ายเงินแค่ 10 ล้านปอนด์เท่านั้น … ถ้าตอนนั้นไม่เกิดเรื่องพลิกล็อกขึ้น เขาจะเป็นเจ้าของสโมสรที่มีมูลค่า 3,000 ล้านปอนด์ และประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในอังกฤษ  


Photo : manchestereveningnews

 

ไนท์ตัน อ่านขาดด้วยสายข่าว เขารู้ถึงความสั่นไหวในห้องของบอร์ดบริหาร เขารู้ว่า มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ อยากขายทีมแทบจะแย่ แฟนบอลก็ไม่ชอบเขาด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพราะผลงานในสนาม และวิธีบริหารที่แย่มากในสายตาของแฟนบอล 

แมนฯ ยูไนเต็ด เป็นสมบัติของตระกูล เอ็ดเวิร์ดส์ มาตั้งแต่รุ่นพ่อ หลุยส์ เอ็ดเวิร์ดส์ แต่มื่อ มาร์ติน มาสานงานต่อจากพ่อ เขามีการบริหารที่แปลกประหลาด เช่นการชอบปลดโค้ชโดยไม่มีเหตุผลอ้างอิงเพียงพอ นอกจากนี้ยังว่ากันว่า เขายังรับเงินเดือนผู้บริหารเป็นจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้นนี่คือจังหวะดีที่สุดสำหรับการช้อน และพร้อมจะเสนอเงินก้อนที่ไม่มากนัก เพราะเขารู้ดีว่า ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร ตอนนี้ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส จะเอามันไปพิจารณาอย่างแน่นอน 

“เหตุผลที่ผมเข้ามาซื้อทีมนี้มันง่าย ๆ ตอนนั้นทีมงานบอร์ดบริหารมีรอยร้าวเกิดขึ้น มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ไม่เป็นที่นิยมสำหรับทั้งคนภายในและกับแฟนฟุตบอล เขากำลังเหลือทนและอยากจะออกจากสิ่งที่เป็นจะแย่อยู่แล้ว ธุรกิจกำลังมีแต่จม พวกเขามีตัวเลขในบัญชีสีแดง และตัวเลขก็เติบโตไปในทางลบเรื่อย ๆ แม้แต่ตั๋วปีของทีมยังขายได้ไม่ถึง 2 หมื่นใบ (ณ ตอนนั้นความจุ โอลด์ แทรฟฟอร์ด อยู่ที่ 48,000 ที่นั่ง) เลยด้วยซ้ำ” นี่คือสิ่งที่ ไนท์ตัน เล่าย้อนกลับไปสำหรับความคิดจะซื้อ ยูไนเต็ด ของเขา 

ไนท์ตัน ขอคุยกับ เอ็ดเวิร์ดส์ ตรง ๆ แบบไม่อ้อมค้อม เพราะต่างฝ่ายก็รู้ไส้รู้พุงกันดีว่าแต่ละคนต้องการอะไร ไนท์ตัน เองนอกจากจะเห็นผลกำไรในอนาคตแล้ว เขายังมีความเป็นร็อกแอนด์โรลในสายเลือด การที่เขาซื้อทีมนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเขาเป็นแฟนบอลของ ยูไนเต็ด เขาเป็นคนที่ไม่เคยสงวนท่าที คุยโวโอ้อวดถึงความสำเร็จของตัวเอง เขาบอกกับ เอ็ดเวิร์ดส์ ว่าหากปล่อยให้เขาบริหาร สโมสรแห่งนี้จะเติบโตไปได้แค่ไหน 


Photo : manchestereveningnews

 

ขณะที่ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้ได้เห็น “พิมพ์เขียว” ซึ่ง ไนท์ตัน ร่างทุกอย่างที่เขาคิดลงในกระดาษ เอ็ดเวิร์ดส์ รู้สึกเกิดความเชื่อบางประการ เดิมทีเขาจะขายให้ ไนท์ตัน หมดเลยก็ได้สำหรับหุ้นสโมสรที่เขามีอยู่ ทว่าอนาคตนั้นอาจจะดีแบบที่ ไนท์ตัน ว่าไว้จริง ๆ ก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ เอ็ดเวิร์ดส์ เอะใจขึ้นมา ข้อเสนอแบบใหม่จึงกำเนิดขึ้น และต่างฝ่ายต่างยอมจับมือกันเมื่อเห็นข้อเสนอนี้

“10 ล้านปอนด์ เอาก็เอา ไม่เอาก็กลับ” นี่คือบทสรุปคำขาดของ ไนท์ตัน ที่ตั้งตัวเลขในใจมาจากบ้าน เขารู้ว่า เอ็ดเวิร์ดส์ รุ่นที่ 2 เอาแน่ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพียงแต่ มาร์ติน ยังคงอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่ได้ล้มเหลวแบบที่แฟนบอลมองว่าเขาเป็น “ลูกชายที่ไม่ได้เรื่องของพ่อ” … มันอาจจะมีเหตุผลอื่น ๆ เพิ่มเติมแต่ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ ไม่ยอมปล่อยมือจากทีมนี้ง่าย ๆ และอย่างน้อย ๆ เขาก็เก่งเรื่องการต่อรอง สิ่งที่เขาร้องขอมันได้ผล 

เอ็ดเวิร์ดส์ จะได้รับเงินจาก ไนท์ตัน 10 ล้านปอนด์ สำหรับการขายหุ้นส่วนใหญ่ที่คาดการณ์ว่าอาจจะมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เขามี แต่มีข้อแม้ว่าตำแหน่งประธานบริหารของเขาจะยังคงอยู่ ไนท์ตัน จะเป็นได้แค่ผู้ลงทุนเท่านั้น ไม่ใช่ผู้บริหารแบบที่เขาหวัง ซึ่ง ไนท์ตัน คิดว่า เอ็ดเวิร์ดส์ จะพูดอะไรได้ เขายอมเล่นด้วยเพราะเขาไม่อยาก่อสงครามในการเจรจาที่อาจจะพังลงได้ โดยเฉพาะเมื่อปลายทางคือ 150 ล้านปอนด์ ที่เขามองเห็นอยู่ในอนาคตต่างหาก

All Or Nothing ? 

หาก ไมเคิล ไนท์ตัน เป็นนักธุรกิจที่เห็นแก่เงินเป็นเรื่องแรก เขาคงพอใจกับสถานะผู้ถือหุ้นไปแล้ว จะอยู่เบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง เงินก็เข้ากระเป๋าของเขาอยู่ดี หากองค์กรเติบโตขึ้น

 


Photo : manchestereveningnews

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น เขาเป็นอดีตนักฟุตบอลผู้มีไลฟ์สไตล์ที่สุดเหวี่ยง และอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยเป็น การมีส่วนร่วมกับสโมสรทั้งทีก็ต้องประกาศกันหน่อย นอกจากเงินแล้ว หน้าตาบารมีก็เป็นสิ่งที่ ไนท์ตัน อยากได้ไม่แพ้กัน … ดังนั้นก่อนที่จะได้รับตำแหน่งผู้ถือหุ้นใหญ่ เขาก็อยากจะแสดงตัวให้แฟน ๆ ได้รู้ว่า สโมสรแห่งนี้ได้เงินของเขาเข้ามาขับเคลื่อนไปข้างหน้า 

ขณะที่ข่าวลือการขายหุ้นสโมสรของ เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้ล้มเหลวกำลังรั่วไหลออกมา แฟนบอลยูไนเต็ดส่วนใหญ่ยินดีมากกับข่าวลือนี้ เพราะพวกเขาเองก็เบื่อความพ่ายแพ้ซ้ำซากมามากพอแล้ว ขณะที่ชื่อของ ไนท์ตัน ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นเศรษฐีตาแหลมผู้มีวิสัยทัศน์ … มันคงจะดีถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แฟนของ ยูไนเต็ด อาจคิดแบบนั้น 

อย่ากระนั้นเลย บางครั้งการเปิดตัวของว่าที่ผู้ถือหุ้นคนใหม่ ก็ต้องยิ่งใหญ่สมฐานะกันหน่อย ไนท์ตัน เลือกวันเปิดตัวเขาท่ามกลางแฟนบอลเต็มความจุที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด มันเป็นจังหวะที่ดีมาก เพราะฤดูกาล 1989-90 ยูไนเต็ด เริ่มซีซั่นด้วยการเปิดบ้านรับการมาเยือนของ อาร์เซน่อล … มันคือเกมบิ๊กแมตช์ที่มีอิมแพกต์แน่นอน และ ไนท์ตัน ก็เซอร์ไพรส์ทั้งแฟนบอลและผู้บริหารชุดเดิมด้วยการเดินลงสนามก่อนเกมเริ่ม ด้วยการสวมชุดแข่งของ ยูไนเต็ด แบบเต็มยศ เสื้อ เสื้อวอร์ม กางเกง ถุงเท้า ยันรองเท้าสตั๊ด

เขาลงมาทำการ “เชียร์อัพ” หรือปลุกเร้าแฟน ๆ เพื่อต้องการให้รู้ว่ายุคสมัยใหม่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว ความยิ่งใหญ่ที่รออยู่จะมาถึงในเร็ววัน และเขาทำแบบนั้นอีกครั้งในเกม แมนเชสเตอร์ ดาร์บี้ ในวันที่ 30 สิงหาคม … บรรยากาศในวันนั้นเต็มด้วยเสียงโห่ร้องของแฟนบอล พวกเขารู้สึกว่ายุคสมัยใหม่กำลังจะเริ่มต้นด้วยสีสันฉูดฉาดแบบที่ไม่เคยเป็น นี่คือสัญญาณดีอย่างไม่ต้องสงสัย

“ผมต้องทำแบบนี้เพราะอยากแสดงให้แฟน ๆ เห็นว่าผมมีแนวคิดอย่างไร ผมอยากให้เขามองผมเป็นนักฟุตบอล มากกว่าเป็นนักธุรกิจ ดังนั้นผมจะคำนึงถึงผลลัพธ์และความสำเร็จมาก่อนเป็นอันดับแรก ผมจะลดช่องว่างระหว่างบอร์ดบริหารกับแฟนบอลลง เราจะใกล้กันมากขึ้น” 

“ถ้าคุณดูภาพในวันนั้นและรอยยิ้มบนใบหน้าของแฟนบอลในสนาม มันได้ผล” ไนท์ตัน กล่าวต่อ 


Photo : manchestereveningnews

ดูเหมือนทุกคนจะชอบแบบนั้น แต่ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหลังจาก ไนท์ตัน เดินกลับเข้าอุโมงค์ไป กลุ่มผู้บริหารและซีอีโอต่างสบถออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไร้สาระ” (Ridiculous) พวกเขารู้ดีว่า ไนท์ตัน กำลังหิวแสง และดูเหมือนว่าการหิวแสงครั้งนี้จะประสบความสำเร็จเสียด้วย หากแฟนบอลนิยมในตัวเขาขึ้นมาจริง ๆ อำนาจในการบริหารก็จะตกเป็นของ ไนท์ตัน มากขึ้นแน่นอน

ความสั่นคลอนภายในจึงเกิดขึ้น พวกเขาไม่ชอบให้ใครข้ามหน้าข้ามตา และ ไนท์ตัน กำลังทำในสิ่งที่พวกเขาเกลียดมากที่สุด นั่นคือการเรียกคะแนนนิยมด้วยวิธีหิวแสงเช่นนี้ 

ตัวของ ไนท์ตัน เอง ใช่ว่าจะไม่รู้ว่าจะเกิดกระแสลบในกลุ่มผู้บริหาร … เขารู้แต่เขาไม่กลัว เพราะคิดว่าการเจรจาจบแล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเขาย่อมมีเสียงที่ใหญ่กว่าผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ อยู่แล้ว และตัวของ ไนท์ตัน ก็พร้อมจะเลือกข้างอยู่แล้ว เขาอยากจะอยู่ข้างนักเตะและแฟนบอลมากกว่า การไปเข้าข้างพวกใส่สูท … การเลือกข้างแบบนี้จะทำให้เขาได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น นั่นคือสิ่งที่เขาเลือกจะทำ 


Photo : manchestereveningnews

แต่การโอนหุ้นยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ทุกคนแค่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้น แต่การดำเนินการยังไปไม่ถึง 100% มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ โดนคนรอบข้างชี้ให้เห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากปล่อยให้ ไนท์ตัน เข้ามาเป็นหนึ่งในทีมบริหาร ดังนั้นการล็อบบี้กันจึงเกิดขึ้น สำนักข่าว BBC บอกถึงเหตุการณ์ล้มดีลที่แถลงไปแล้วว่า “กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเงินของ ไมเคิล ไนท์ตัน สำหรับการซื้อหุ้นสโมสร แมนฯ ยูไนเต็ด ถอนตัว” 

และเมื่อไม่มีเงินทุน ไนท์ตัน ก็ไปต่อไม่ได้ สุดท้าย “เขาก็แพ้” และถอนตัวในท้ายที่สุด โดยที่ไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปเลย จากการหวังจะครอบครองทุกสิ่ง ตอนนี้เขากลายเป็น 0 สำหรับ ยูไนเต็ด ไปแล้ว 

การล้มเหลวในการซื้อหุ้น ยูไนเต็ด ครั้งนั้นของ ไนท์ตัน เรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดในชีวิตนักธุรกิจของเขา เพราะอย่างที่รู้กันหลังจากนั้น ยูไนเต็ด ก็เรืองรองหลังยุค 1990s และทำเงินได้มากมาย จนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

ขณะที่ตัวของเขาหลังจากพลาดดีลนั้น เขาก็หันไปลงทุนกับทีมฟุตบอลทีมอื่นแทน และมันล้มเหลวอย่างมาก เพราะเขาเลือกที่จะลงทุนกับสโมสร คาร์ไลส์ ยูไนเต็ด ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ตอบแทนเขาด้วยผลกำไรเลยแม้แต่น้อย สุดท้ายเขาก็ต้องปล่อยมือจากการทำทีมฟุตบอลไปด้วยตัวเลขติดลบ และไม่กลับไปข้องเกี่ยวกับสโมสรฟุตบอลอีกเลย 


Photo : getreading

ในมุมมองของ ไนท์ตัน เขามองว่าเขามอบ “พิมพ์เขียว” ที่จะพา ยูไนเต็ด ไปสู่ความสำเร็จให้กับ มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ โดยแท้ สิ่งที่อยู่ในหัวของเขาเป็นเหมือน GPS ที่ทำให้ ยูไนเต็ด รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางไหน อย่างน้อย ๆ ก็เรื่องของการสร้างสนามให้ใหญ่ขึ้น และกล้าทุ่มเงินซื้อนักเตะเพื่อความสำเร็จมากขึ้น จนกระทั่งมาเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในทุกวันนี้ 

“มาร์ติน เอ็ดเวิร์ดส์ อ้างตัวถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอีกทศวรรษให้หลัง เขาได้หน้าไปหมดเลย ทั้ง ๆ ที่มันมาจากส่วนร่วมของผมไม่น้อย ผมปิดปากเงียบและก้มหน้ารับความจริง ชื่อเสียงของผมมัวหมอง และมันยากที่จะกลับมาเปลี่ยนภาพลักษณ์แบบที่เคยทำได้” 

“เขาหลบอยู่หลังความล้มเหลวของ ไมเคิล ไนท์ตัน และอวดอ้างสรรพคุณของตัวเอง หากพวกเขามองเห็นอนาคตเหมือนกับที่ผมเห็นจริง ๆ ทำไมพวกเขาถึงกล้าขายสโมสรให้กับผมในราคาแค่ 10 ล้านปอนด์” ไมเคิล ไนท์ตัน กล่าว 

“นี่คือความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม ผมไปที่นั่นและไม่ได้อยากสร้างภาพลักษณ์และหิวแสงเหมือนกับที่ใครพูดกัน แต่เอาเป็นว่าผมไม่เสียใจแล้วกันที่ทำในสิ่งที่ผมทำลงไปเมื่อปี 1989” 

ผู้สัมภาษณ์จาก BBC ถามต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเขายังมีเงินและอำนาจเหมือนในอดีต เขาจะทำอะไรกับ ยูไนเต็ด ในเวลานี้ ? … คำตอบของ ไนท์ตัน ชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 40 ปีแล้ว แต่ถ้าเขายังอยู่ในบริบทที่กำลังอยากเป็นนักบริหาร คำตอบของเขาคือ “จะซื้อสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ให้ได้” 

“ถ้าตอนนี้ผมมมีเงิน 5 พันล้านปอนด์เพื่อซื้อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันนี้ ผมก็จะทำแบบเดิมอีกครั้ง ผมเอาแน่ เพราะนี่คือสิ่งเติมเต็มความฝันของเด็กทุกคนบนโลกนี้ และเป็นความฝันของผมด้วย” ไนท์ตัน กล่าวทิ้งท้าย 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ