‘ปอง อัญชะลี’ รอดนอนคุก ศาลให้ประกัน 2 แสน ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข คดีบุกเอ็นบีที ปี 51

Home » ‘ปอง อัญชะลี’ รอดนอนคุก ศาลให้ประกัน 2 แสน ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข คดีบุกเอ็นบีที ปี 51


‘ปอง อัญชะลี’ รอดนอนคุก ศาลให้ประกัน 2 แสน ไม่ได้กำหนดเงื่อนไข คดีบุกเอ็นบีที ปี 51

‘ปอง อัญชะลี’ รอดนอนคุก ศาลให้ประกัน 2 แสน โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข คดี พธม. บุกเอ็นบีที ปี 51 เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช

วันที่ 10 พ.ค.65 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.1033/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แนวร่วม พธม. และ นายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล น้องชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ กรณีร่วมกันบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในช่วงการชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551

คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ก.พ.63 ว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ให้จำคุกนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุก น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 นายภูวดล จำเลยที่ 3 นายยุทธิยง จำเลยที่ 4 และนายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

โดยนาย สมเกียรติจำเลยที่ 1 ได้เสียชีวิตเมื่อช่วง พ.ย.2564 ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

วันนี้จำเลยเดินทางมาศาล ต่อมาเวลา 10.00 น.เศษ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2-5 จึงเป็นการกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำและเป็นการร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ โดยมีอาวุธ โดยร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ 5 คน

จำเลยที่ 2-5 จึงต้องรับผิดในฐานะตัวการร่วม พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2-5 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 2-5 อ้างว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2-5 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาด้วยการกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ก่อนนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่จำเลยที่ 2-5 กับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น

โดยใช้กำลังประทุษร้ายฯ ลักษณะของการกระทำความผิดเป็นการกระทำโดยอุกอาจ ต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจเป็นการไม่ยำเกรงกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและความสงบสุขของสังคม และส่งผลต่อเศรษฐกิจของชาติโดยส่วนรวม

กรณีนี้จึงไม่มีเหตุรอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-5 และไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ต่อมาเวลา 15.00 น.เศษ ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2-5 ระหว่างฎีกา โดยตีราคาประกันคนละ 2 เเสนบาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไข

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ