ปลัด สธ.แจงระบบบันทึกข้อมูล รพ.สต. มีหลายระบบ แต่มีความถี่คีย์ข้อมูลต่างกัน ต้องกรอกทุกวันเพียง 2 ระบบ ยกเลิกที่ไม่จำเป็น 14 ระบบ ช่วยลดภาระงาน
วันที่ 11 พ.ย. 65 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการปรับระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพของ รพ.สต. ว่า สธ.มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล” ยกระดับหน่วยบริการเป็น Smart Hospital และ Smart รพ.สต. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนางานบริการต่างๆ โดยเฉพาะการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่าง รพ. และคืนข้อมูลสุขภาพกลับสู่ประชาชน ทำให้ไปรับการรักษาที่ใดก็ได้ สอดคล้องกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่าน การบันทึกข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลอาจไม่ได้ราบรื่น 100% แต่เน้นย้ำว่า ต้องไม่ให้เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลเรื่องภาระงานในการลงบันทึกข้อมูลของ รพ.สต. ข้อเท็จจริงคือ แม้จะมีการบันทึกข้อมูลหลายระบบ แต่จะมีความถี่บันทึกแตกต่างกัน โดยที่ต้องบันทึกแบบรายวันมีเพียง 2 ระบบเท่านั้น คือ ระบบสารสนเทศ รพ. (การรักษารายวัน การดูแลหญิงตั้งครรภ์) และระบบการฉีดวัคซีน ส่วนบันทึกสัปดาห์ละครั้งมี 1 ระบบ คือ ระบบเยี่ยมบ้าน
ขณะที่บันทึกเดือนละครั้ง หรือ 3 เดือนครั้ง มี 10 ระบบ เช่น ระบบรายงานวัณโรค การติดตามโภชนาการเด็ก เป็นต้น ที่เหลืออีก 5 ระบบเป็นการบันทึกปีละครั้ง เช่น การตรวจสุขภาพเด็ก ป.1-6 การคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีอายุ 30-70 ปี เป็นต้น และยังมีการยกเลิกระบบการบันทึกข้อมูลที่ไม่จำเป็นไปแล้วถึง 14 ระบบ
จากการประเมินความพึงพอใจของประชาชนในการรับบริการหลังปรับเป็น Smart รพ.สต. ที่เปลี่ยนการบันทึกข้อมูลจากกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งการดูแลต่อเนื่อง การเยี่ยมบ้าน การให้ความรู้ การนัดรับบริการ การบริการทุกเวลา การติดตามผลการรักษา และภาพลักษณ์ทันสมัย
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 จะกำหนดรายการข้อมูลและจัดทำเป็นมาตรฐานข้อมูลตามระบบสากล เพื่อให้การพัฒนาระบบสารสนเทศของ รพ.ในอนาคตมีความครบถ้วนสมบูรณ์ มีทิศทางเดียวกันและส่งข้อมูลถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น